แนะจัดระเบียบขนส่งอีอีซี ‘แกร็บ’หนุนรัฐใช้เทคโนฯเชื่อม 3 เมืองรับ 10 ล้านคน

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  22 มี.ค. 2561
       
 แนะจัดระเบียบขนส่งอีอีซี ‘แกร็บ’หนุนรัฐใช้เทคโนโลยี
เชื่อม 3 เมืองรับ 10 ล้านคน

แกร็บ ลั่นพร้อมนำเทคโนโลยีหนุนรัฐ วางแผนจัดการระบบขนส่ง 3 เมืองอีอีซี ที่คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน ใน 10 ปีข้างหน้า แต่มีแท็กซี่จดทะเบียนให้บริการเพียง 700 คัน ชูโมเดลดึงคนมีรถท้องถิ่น 500,000 คัน ให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม หวังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างบิ๊กดาต้าแก้ปัญหาจราจร

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแกร็บ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “Go Thailand ลงทุนเพื่ออนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ภายใต้หัวข้อ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการคมนาคมขนส่งในอนาคต:การเชื่อมต่อไร้รอยต่อว่าแกร็บ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ในการแก้ปัญหาการเดินทางและการขนส่งภายในกลุ่ม 3 จังหวัด เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และพัฒนาเมืองไปสู่สมาร์ทซิตี
  

ธรินทร์ ธนียวัน
วันนี้ถ้ามองไปถึงจำนวนประชากรที่มีการจดทะเบียนใน 3 จังหวัดพื้นที่อีอีซี จะมีจำนวน 2.5 ล้านคนหากเป็นไปตามแผนพัฒนาอีอีซีของรัฐบาล ในอีก 10 ปี ประชากรที่เพิ่มขึ้นอีก 5-6 เท่า หรือมากกว่า 10 ล้านคน ขณะที่ธุรกิจที่เคยทำอยู่ในยุค 2.0 ในอนาคตจะมุ่งไปสู่ S-Curve เปลี่ยนไปเป็นหุ่นยนต์ ดิจิตอล ดาต้า คลาวด์ ธุรกิจที่เข้าไปอยู่ในอีอีซี จะเป็นธุรกิจเทคโนโลยี หรือ เทคโนโลยี สมาร์ทซิตีทาวน์


และเมื่อพูดถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมกะอินฟราสตรักเจอร์ ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทั้งโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะเปลี่ยนจากคอมเมอร์เชียลแอร์พอร์ตไปเหมือนสุวรรณภูมิ ท่าเรือก็จะมีความไฮเทคขึ้น และรถไฟทางคู่ก็จะเกิดขึ้น นำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลจะเห็นภาพใน 5-10 ปีข้างหน้า ถ้ามีคนเข้ามาเพิ่มใน 3 จังหวัด อีอีซีพร้อมกัน 10 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีแท็กซี่ที่มีการจดทะเบียนเพียง 700 คัน จะเกิดปัญหาระดับโลกด้านการเดินทางภายใน 3 จังหวัดและระบบโลจิสติกส์ขึ้นมาทันที โดยที่ขณะนี้ปัญหาเหล่านี้ยังไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูด


“เมกะโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้น เช่น รถไฟทางคู่มีการกำหนดจุดรับส่งคนในแต่ละจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง คำถาม คือใครไปรับจากสถานีรถไฟ ไปส่งตามสถานที่ต่างๆ ขณะที่คำถามนักลงทุน หรือภาคธุรกิจถ้าต้องการใช้คนจำนวนมาก ภาคธุรกิจต้องการจัดซื้อรถ หรือจัดตาราง ไปรับพนักงานที่สถานีรถไฟ สนามบิน หรือมาบตาพุดหรือไม่ ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมากสำหรับองค์กร”


นายธรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในมุมมองของแกร็บ จะเข้าไปมีส่วนช่วยในอีอีซีได้อย่างไรนั้นวันนี้แกร็บมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การเชื่อมต่อการโดยสารของผู้โดยสารไปสู่ปลายทาง สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดนั้นวันนี้มีรถที่จดทะเบียนใน 3 จังหวัด 500,000 คัน ซึ่งภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่น ถ้าเราสามารถทำให้รถ 500,000 คัน ที่จดทะเบียนซึ่งเชื่อว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้ทำประโยชน์อะไร มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,000-60,000 บาท โดยที่จอดรอผู้โดยสาร แต่สามารถไปรับผู้โดยสารได้ทันทีผ่านสมาร์ทโฟน รับงานตอนไหนก็ได้ วันนี้เทคโนโลยีมีแล้ว


และยังสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการวางแผนจัดการจราจร โดยคนขับรถสามารถส่งข้อมูลการจราจรในแต่ละพื้นที่เข้ามาเพื่อเก็บรวบรวมเป็นบิ๊กดาต้า เพื่อใช้วิเคราะห์วางแผนการจราจร ที่สำคัญยังเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง โดยเมื่อมีการเรียกใช้บริการผ่านแอพพลิเคชัน คนในครอบครัว หรือเพื่อน สามารถติดตามหรือรู้ว่าอยู่จุดใด ซึ่งมองว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เชื่อว่าหากแกร็บสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้ จะช่วยแก้ปัญหา และสร้างโอกาสการเติบโต ตลอดจนการพัฒนาเมืองไปสู่สมาร์ทซิตี

   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 626,018