ประเทศคู่ค้าเล็งฟ้อง WTO จีนชงภาษีตอบโต้สหรัฐฯ

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  16 มี.ค. 2561
       
ประเทศคู่ค้าเล็งฟ้อง WTO จีนชงภาษีตอบโต้สหรัฐฯ 

แม้จะมีเสียงคัดค้านมากมายทั้งจากในประ เทศและต่างประเทศ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ยังคงเดินหน้าลงนามในคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม 25% และ 10% ตามลำดับไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561


ปฏิกิริยาจากประเทศคู่ค้าที่โดนผลกระทบจากเรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แม้จะมี 2 ประเทศที่ได้รับการยกเว้น (แคนาดา และเม็กซิโก)


แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีข้อเสนอในการเจรจาการค้าแบบต่างตอบแทนผลประโยชน์เอื้อให้กับสหรัฐฯ อยู่ดี คู่ค้าหลายประเทศเตรียมนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและยืดเยื้อ ขณะเดียวกันหลายประเทศก็เตรียมเจรจาเพื่อหาจุดที่ลงตัวกับสหรัฐฯมากที่สุดเพื่อขอให้ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากการขึ้นภาษีที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเวลา 15 วันนับจากที่มีการลงนาม

ผู้ประกอบการอเมริกันในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและรถที่ใช้ในการงานก่อสร้างจะทำราคาเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้ยากขึ้น
++โสมขาวเล็งฟ้อง WTO

บริษัทวิจัยโนมูระ เผยรายงานว่า ภาษีนำเข้าเหล็กกล้าที่สหรัฐฯเรียกเก็บเพิ่มขึ้นนี้ จะทำให้ผู้ผลิตรายย่อยในเอเชียได้รับผลกระทบเชิงลบมากกว่ารายใหญ่ๆ ยกตัวอย่างเช่นผู้ผลิตเหล็กรายย่อยของเกาหลีใต้ เนื่องจากรายใหญ่ๆที่เคยถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาด (AD) และภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ได้เริ่มปรับตัวไปล่วงหน้าแล้วด้วยการลดการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น บริษัท พอสโกฯ (Posco) ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ในระยะไม่กี่ปีมานี้ได้ลดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทำให้ยอดขายจากตลาดสหรัฐฯ เหลือสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดส่งออกทั้งหมดของบริษัท แต่กรณีของบริษัทผู้ผลิตรายย่อยอย่าง บริษัท เซียสตีลฯ (Seah Steel) หูสตีล (Husteel) และเน็กซ์สตีลฯ (Nexteel) นั้นแตกต่างออกไปเพราะส่งออกมายังสหรัฐฯในสัดส่วนที่มากกว่า


ทีมงานวิจัยของโนมูระ ยังชี้ว่า ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่อีกรายหนึ่ง จะได้รับผลกระทบทางตรงอย่างมีขอบเขตจำกัดเพราะญี่ปุ่นเองส่งออกเหล็กกล้าไปยังตลาดสหรัฐฯไม่มาก โดยส่งไปในรูปเหล็กดิบ (crude steel) หรือเหล็กไร้สนิมขั้นต้นเพียง 1.8% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด (ข้อมูล ณ ปี 2560) ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าก็ส่งไปยังสหรัฐฯเพียง 1.5% เท่านั้น
++ญี่ปุ่นขอสิทธิรับข้อยกเว้น

จากสถิติในปี 2560 ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พบว่า เกาหลีใต้และญี่ปุ่นนั้น เป็นผู้ส่งออกเหล็กกล้าไปยังตลาดสหรัฐฯรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 และอันดับที่ 7 ตามลำดับ แต่ก็เป็น 2 ตลาดใหญ่สุดในเอเชียที่สหรัฐฯนำเข้าเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า


แม้ผู้นำสหรัฐฯจะเปิดโอกาสให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งนี้ มาเจรจาต่อรองกันได้เป็นรายประเทศ แต่ถึงกระนั้น หลายฝ่ายมองว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างประเมินค่ามิได้ รัฐบาลเกาหลีใต้ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯตลอดมา ได้แถลงการณ์แสดงท่าทีว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมจากองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯมาโดยตลอด


นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯเป็นเรื่องน่าเสียใจ แต่ญี่ปุ่นก็จะหาทางเจรจาขอให้สหรัฐฯยกเว้นการขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมให้กับญี่ปุ่น เหมือนที่สหรัฐฯยกเว้นให้กับแคนาดาและเม็กซิโกในขณะนี้



++เอกชนจีนหนุนรัฐตอบโต้

จีน ผู้ส่งออกเหล็กกล้ารายใหญ่อันดับที่ 1 และครองส่วนแบ่งตลาด 50% ของเหล็กส่งออกในตลาดโลก ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนยํ้าว่า ภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บสูงขึ้นจะส่งผลปั่นป่วนระเบียบการค้าโลก จีนจะประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน พร้อมยืนยันว่าจะปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของจีนเองอย่างถึงที่สุด


ทั้งนี้การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทวีความตึงเครียดมากขึ้นนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นรับตำแหน่ง แม้ในกรณีเหล็กกล้า จีนจะส่งออกไปยังสหรัฐฯในปริมาณน้อย แต่ปริมาณการผลิตที่ออกมามากจนล้นตลาดของจีน ก็มีผลทำให้ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับลดลงมา สมาคมผู้ประกอบการเหล็กกล้าและโลหะของจีนได้ออกโรงมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการตอกกลับสหรัฐฯ แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน โดยขอให้รัฐบาลจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกล้า ถ่านหิน สินค้าเกษตร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์


ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) แม้ก่อนหน้านี้ได้ออกมาแถลงการณ์ว่าจะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์ดังของสหรัฐฯ แต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อรับทราบถึงท่าทีที่มีการเปิดช่องให้เจรจาเป็นรายๆไป อียูได้ออกมาแสดงท่าทีว่าจะเจรจาขอให้สหรัฐฯยกเว้นการขึ้นภาษีให้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เหมือนกับบราซิลและอาร์เจนตินา ที่ต้องการขอผ่อนผันให้ตัวเองได้รับข้อยกเว้นการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯด้วย


++มะกันเองก็เสียหาย

หน่วยงานวิจัยของวาณิชธนกิจโกลด์แมน ซากส์ ออกมาติงเตือนรัฐบาลสหรัฐฯว่า มาตรการที่ออกมานี้จะทำให้เอกชนอเมริกันหลายราย มีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นและการทำผลกำไรจะลดลง เนื่องจากเหล็กเป็นวัตถุดิบตั้งแต่ของสินค้าหลากหลายประเภท คาดว่าเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น ต้นทุนนำเข้าเหล็กที่สูงขึ้นจะทำให้ผลกำไรของผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ฟอร์ด และจีเอ็ม ลดลงได้ถึงรายละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


นอกจากต้นทุนนำเข้าเหล็กที่สูงขึ้นจะทำให้บริษัทอเมริกันมีผลกำไรน้อยลงแล้ว นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ยังมีผลกระทบอีก 2 ประการที่จะย้อนศรมาทำร้ายอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเอง นั่นก็คือ

   -  บางอุตสาหกรรมเช่น เครื่องจักรกลและรถที่ใช้ในการงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการรายย่อยเช่น ทีเร็กซ์ (Terex) และโอชโคช (Oshkosh) จะทำราคาเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้ยากขึ้นและมีความยืดหยุ่นสู้รายใหญ่ๆ อย่าง แคทเตอร์พิลลาร์(Caterpillar) และเดียร์ (Deere) ไม่ได้

  - นอกจากนี้ หากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯประกาศมาตรการตอบโต้ทางการค้า บริษัทอเมริกันที่พึ่งพายอดขายและรายได้จากตลาดต่างประเทศจะได้รับแรงกดดันอย่างมาก


ปีเตอร์ ออพเพ็นไฮเมอร์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดโลกของโกลด์แมน ซากส์ ให้คำแนะนำต่อนักลงทุนซึ่งสะท้อนความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวว่า ในสภาวะที่มีสงครามการค้าเกิดขึ้น นักลงทุนควรเน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจภายในประเทศ หรือธุรกิจที่ทำรายได้ส่วนใหญ่จากตลาดสหรัฐฯเอง จะปลอดภัยกว่าการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศแล้วอาจได้รับแรงกดดันจากมาตรการตอบโต้สินค้าอเมริกันที่ประเทศคู่ค้านำมาใช้
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 618,330