หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  2 มี.ค. 2561
       
 ซุ่มโมเดล”แบงกิ้งเอเย่นต์” ตอบโจทย์ธนาคารยุบสาขา

ธนาคารพาณิชย์สบช่อง ธปท.เปิดทางตั้ง “ร้านสะดวกซื้อ-ปั๊มน้ำมัน” ทำหน้าที่ “ฝาก-ถอน” แทน ตอบโจทย์นโยบาย “ลดต้นทุน-ยุบสาขา” ของแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งเอื้อแบงก์เล็กสามารถแข่งขันได้มากขึ้น “ทีเอ็มบี” ซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันความเสี่ยงการทำงานกับแบงกิ้งเอเย่นต์ ฟาก “ออมสิน” อ้าแขนรับจ้าง “แบงกิ้งเอเย่นต์” ให้ธนาคารกินค่าฟีนิ่ม ๆ


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเปิดให้มีการตั้งตัวแทนการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ หรือ “แบงกิ้งเอเย่นต์” เพื่อตอบโจทย์การให้บริการทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ให้สถาบันการเงินมีรูปแบบการให้บริการทางการเงินที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายและตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้บริการของแบงก์มีความยืดหยุ่นโดยนโยบายของ ธปท.ต้องการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย เพราะตระหนักดีว่าประชาชนมีความหลากหลาย และในช่วงที่สถาบันการเงินมีการปรับตัว

แบงกิ้งเอเย่นต์ของแต่ละธนาคารไม่ต้องทำหน้าที่เหมือนกัน บางแบงกิ้งเอเย่นต์อาจทำเรื่องรับชำระเงินเท่านั้น บางแบงกิ้งเอเย่นต์อาจถอนเงินเท่านั้น ทั้งหมดนี้ต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคาร และแต่ละธนาคารต้องวางกลไกการบริหารความเสี่ยงให้ดี

“ออมสิน” รับบทแบงกิ้งเอเย่นต์

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินถือเป็นหนึ่งทางเลือกของธนาคารพาณิชย์ที่จะทำหน้าที่เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ ซึ่งปัจจุบันธนาคารทหารไทยก็ได้มอบหมาย

ให้สาขาธนาคารออมสินในพื้นที่ห่างไกลที่สาขาธนาคารเข้าไม่ถึง โดยธนาคารออมสินเข้าไปเป็นตัวแทนให้บริการทางการเงิน เช่น ฝาก ถอน โอน ชำระเงินเหล่านี้อยู่แล้ว โดยคิดค่าธรรมเนียมที่ 10-20 บาทต่อธุรกรรม ซึ่งค่าธรรมเนียมส่วนนี้ออมสินในฐานะแบงกิ้งเอเย่นต์ก็รับไป และไม่ได้ปิดกั้นหากจะมีธนาคารอื่น ๆ มาให้ออมสินเข้าไปให้บริการทางการเงินแทนด้วย

“แบงกิ้งเอเย่นต์ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะทำให้แบงก์พาณิชย์สามารถบริหารจัดการต้นทุนเรื่องสาขาได้ง่ายขึ้น เพราะบางพื้นที่ธนาคารพาณิชย์อาจไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาใหม่ หรือบางพื้นที่ที่มีผู้ใช้บริการทางการเงินน้อยก็อาจเลือกปิดสาขา และให้แบงกิ้งเอเย่นต์เข้าไปให้บริการแทน เหล่านี้ก็อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจด้านสาขาได้ง่ายขึ้น” นายชาติชาย กล่าว


ขณะเดียวกันภายใต้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เปลี่ยนธุรกิจธนาคารค่อนข้างมาก ทำให้ค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินที่แบงก์เคยได้ลดลง หากผู้ใช้บริการเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ดิจิทัลทั้งหมด แบงก์ก็จะไม่มีรายได้ค่าธรรมเนียม ทำให้ธนาคารทั้งระบบต้องกลับมาทบทวนการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ เพราะการมีสาขา เป็นต้นทุนและรายจ่ายกับแบงก์

ยุบสาขา-ลดต้นทุนแบงก์

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารยังไม่มีการตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ เพราะสาขาปัจจุบันสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ แต่หากอนาคตภาพ จำนวนสาขาลดลง ตามที่ธนาคารวางนโยบายไว้ ก็อาจต้องปรับกลยุทธ์โดยแต่งตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ได้ เพื่อปิดช่องว่างให้กับธนาคารได้

“ในอดีตเราไม่มีเรื่องช่องว่างการให้บริการทางการเงิน เพราะมีสาขาเยอะ แต่อนาคตที่ทิศทางสาขาลดลง แบงกิ้งเอเย่นต์ก็อาจเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้” นางกิตติยา กล่าว

TMB พัฒนาโมเดลป้องกันเสี่ยง

ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพิสูจน์ตัวตน เพื่อรองรับการให้บริการผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ในอนาคต ปัจจุบันธนาคารได้มอบหมายให้ไปรษณีย์ไทยและธนาคารออมสินทำหน้าที่เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ในบางพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้เพียงฝากเงินเท่านั้น ยังไม่สามารถถอนเงินได้

ดังนั้น การขยายบทบาทแบงกิ้งเอเย่นต์ให้ถอนเงิน จึงเป็นโจทย์ที่ธนาคารต้องผลักดันให้ทำได้ เพราะหากธนาคารเปิดให้ร้านสะดวกซื้อ โชห่วย หรือปั๊มน้ำมัน เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ การวางระบบต้องทำให้รองรับการทำธุรกรรมได้โดยดูแลความเสี่ยงที่รัดกุมด้วย

“เป็นไปได้ที่ทีเอ็มบีอาจจ้างแบงกิ้งเอเย่นต์รายใหม่ ๆ เพราะสาขาลดลง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 430 สาขา มุมหนึ่งก็พยายามผลักดันให้ลูกค้าไปใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แต่อีกกลุ่มที่ยังคงใช้เงินสดอยู่ ขณะที่แบงก์ไม่จำเป็นต้องขยายสาขาเอง แบงกิ้งเอเย่นต์ก็ตอบโจทย์” นายปิติ กล่าว

เอื้อแบงก์เล็กแข่งขันได้

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การเกิดขึ้นของแบงกิ้งเอเย่นต์ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารขนาดเล็กที่มีจำนวนตู้เอทีเอ็มและสาขาไม่มาก สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายและแข่งขันกับธนาคารขนาดใหญ่ได้มากขึ้น

นอกจากนี้การเพิ่มบริการฝาก ถอนเงินสดของแบงกิ้งเอเย่นต์จะช่วยลดต้นทุนบางส่วนของธนาคาร อย่างกรณีธนาคารตั้งร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ห่างไกลเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์จะสามารถลดต้นทุนการให้บริการ การซ่อมบำรุงเครื่องเอทีเอ็ม หรือสาขาที่อยู่ในที่ห่างไกลได้

อย่างไรก็ตาม การตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์จะมีข้อกำหนดจำนวนมากโดยที่สำคัญที่สุดคือ ธนาคารต้องตรวจสอบระบบความปลอดภัยตั้งแต่การเก็บข้อมูล ส่งข้อมูล ฯลฯ เพราะตัวแทนของธนาคารจะต้องรู้ข้อมูล เช่น เลขบัญชีของผู้ฝาก รวมถึงต้องครอบคลุมถึงระบบการเชื่อมโยงแบบเรียลไทม์ จากปัจจุบันร้านสะดวกซื้อบางส่วนให้บริการชำระบิลแต่ระบบยังไม่เรียลไทม์

“ระบบการเชื่อมต่อระหว่างธนาคารกับแบงกิ้งเอเย่นต์ถือว่าสำคัญมาก เช่น ฝากเงินต้องเรียลไทม์ เพราะคนอีกฝั่งจะรอใช้เงินอยู่ ที่สำคัญต้องปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีเทคโนโลยี API เกิดขึ้น ซึ่งจะมีระบบรักษาความปลอดภัยครอบเพิ่มอีกชั้นน่าจะทำให้การเชื่อมต่อง่ายขึ้น” นายฐากร กล่าว

“บุญเติม” ร่วมวง

นายสมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้ให้บริการตู้เติมเงิน “บุญเติม” กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเป็นตัวแทนโอนเงินให้แก่ธนาคาร 2 แห่ง คือธนาาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกรไทย และปีนี้บริษัทเตรียมขยายความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้บริการโอนเงินผ่านตู้บุญเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีฯ

“หากบริษัทสามารถเพิ่มบริการผ่าน 5 ธนาคารใหญ่นี้ได้ ตู้บุญเติมจะเป็นตัวแทนธนาคารคิดเป็นสัดส่วน 90% ของธนาคารทั้งหมด ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และฐานลูกค้าให้รู้จักตู้บุญเติมมากขึ้น” นายสมชัยกล่าว

   
ขอบคุณข่าวจาก : prachachat.net
 
Visitors: 630,452