หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.transportjournalnews.com วันที่โพสต์ :  20 ก.พ. 2561
       
 กทท. เผยไตรมาสแรก ปีงบ’61 คาดสิ้นปีตู้พุ่ง 9.8 ล้าน ที.อี.ยู.
เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้า ผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ในช่วงไตรมาสแรกประจำปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม – ธันวาคม 2561) โดยเปรียบเทียบกับปีก่อน สรุปดังนี้

> ทกท. เรือเทียบท่า 774 เที่ยว ลดลง 5.00% สินค้าผ่านท่า 5.904 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.70 %
ตู้สินค้าผ่านท่า 0.376 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 0.50 %

> ทลฉ. เรือเทียบท่า 3,331 เที่ยว ลดลง 1.80 % สินค้าผ่านท่า 21.519 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.40 %
ตู้สินค้าผ่านท่า 2.024 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 5.60 %

> ทชส. เรือเทียบท่า 1,318 เที่ยว เพิ่มขึ้น 126.90 % สินค้าผ่านท่า 92,883 ตัน เพิ่มขึ้น 99.30 %

> ทชข. เรือเทียบท่า 123 เที่ยว ลดลง 35.60 % สินค้าผ่านท่า 20,355 ตัน เพิ่มขึ้น 7.10 %

> ทรน. เรือเทียบท่า 80 เที่ยว เพิ่มขึ้น 50.90 % สินค้าผ่านท่า 22,049 ตัน เพิ่มขึ้น 142.00 %


ภาวะอุตสาหกรรมการค้าตู้สินค้าทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 ในปี 2561 (Drewry Shipping Consultants, Oct 2017) และขยายตัวต่อเนื่องอย่างช้าๆ ไปอีก 5 ปี ซึ่งการเติบโตที่ลดลงบวกกับความท้าทายจากการควบรวมอุตสาหกรรมทำให้อุตสาหกรรมท่าเรือชะลอตัวลงตาม เนื่องจากผู้ประกอบการท่าเทียบเรือระดับโลก ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาท่าเทียบเรือแห่งใหม่

เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชัดเจน

โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้าและในเกือบทุกตลาดส่งออก สอดคล้องกับ ปริมาณสินค้าผ่านท่าของ กทท. ที่มีผลการดำเนินงานด้านตู้สินค้าผ่านท่าทั้งสิ้น 2.400 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 0.106 ล้าน ที.อี.ยู. หรือร้อยละ 4.6 และผลการดำเนินงานด้านสินค้าผ่านท่า 27.423 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.107 ล้านตัน หรือร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อีกทั้งในส่วนการลงทุนภาคเอกชน เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ที่เพิ่มขึ้นตามความชัดเจนของการดำเนินนโยบายภาครัฐ อาทิ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และ การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมถึง ทลฉ. ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับ กทท.

อย่างไรก็ตามปัจจัยต่างๆ อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมทั้ง ภาวะอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเป็นบวก จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผลการดำเนินงานของ กทท. ในระยะถัดไปขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6.0-7.0 หรือมีปริมาณตู้สินค้าผ่าน กทท. ประมาณ 9.7-9.8 ล้าน ที.อี.ยู. เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2561
   
ขอบคุณข่าวจาก : transportjournalnews.com
 
Visitors: 630,549