หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  14 ก.พ. 2561
       
'บอร์ด BOI' ไฟเขียว! มาตรการลดผลกระทบแรงงาน-ส่งเสริมภาคเกษตร คลอดประเภทกิจการเป้าหมายใน EEC
'บอร์ดบีโอไอ' เห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดผลกระทบด้านแรงงาน ด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ กระตุ้นการลงทุนเพื่อสนับสนุนการเกษตรครบวงจรโดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและชุมชนท้องถิ่น พร้อมประกาศกำหนดประเภทกิจการเป้าหมายสำหรับเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น

โดยให้ปรับปรุงเพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงการนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้ โดยกิจการจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิม เป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงินร้อยละ 50 ของมูลค่าเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และให้ปรับปรุงมาตรการเพื่อความสามารถในการแข่งขันโดยการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เช่น ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ชั้นสูง (Big Data Analysis, Internet of Things) เป็นต้น

โดยจะให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม ร้อยละ 200 ของเงินลงทุน หรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง จูงใจผู้ประกอบการร่วมมือท้องถิ่น เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเกษตรอย่างครบวงจร

เพื่อสนับสนุนให้ท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอย่างครบวงจร และช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรในประเทศให้สูงขึ้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านการเกษตรเป็นกรณีพิเศษ หากยื่นขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปี 2561

โดยผ่อนปรนเงื่อนไขด้านการผลิตให้ง่ายขึ้นและปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน และสารป้องกันการกำจัดศัตรูพืชชีวภัณฑ์ กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการคัดคุณภาพบรรจุและเก็บรักษาพืชผักผลไม้ หรือดอกไม้ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้ทางการเกษตร การผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร การผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ การผลิตหรือถนอมอาหารและเครื่องดื่ม กิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น กิจการศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร  เป็นต้น และกำหนดแนวทางการส่งเสริมออกเป็น 2 กรณี ได้แก่


กรณีที่ 1 หากเป็นผู้ประกอบการไทยขนาดย่อมที่ลงทุนในกิจการด้านการเกษตรตามที่กำหนด จะผ่อนปรนเงินลงทุนขั้นต่ำของโครงการจาก 1 ล้านบาท เหลือ 5 แสนบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และผ่อนปรนให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้บางส่วน โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5-8 ปี ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 200 ของมูลค่าเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

กรณีที่ 2 หากเป็นผู้ประกอบการที่สนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับท้องถิ่นลงทุนในกิจการด้านการเกษตรตามที่กำหนด จะต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา  3 ปีจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน
ประกาศกลุ่มประเภทกิจการเป้าหมายใน “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ในพื้นที่ อีอีซี
หลังจากที่บอร์ดได้อนุมัติมาตรการอีอีซี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา และได้ประกาศกำหนดประเภทกิจการเป้าหมายสำหรับ “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ” และ “นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมทั่วไป” แล้ว

ในครั้งนี้ บอร์ดยังได้อนุมัติให้กำหนดกลุ่มประเภทกิจการเป้าหมาย เพื่อรองรับการประกาศ “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ของคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ซึ่งจะทำให้ประเภทกิจการเป้าหมายสำหรับแต่ละเขตมีผลใช้บังคับทันทีที่คณะกรรมการนโยบายอีอีซีออกประกาศกำหนด “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วยอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ (s-Surve) และกิจการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



ส่งเสริมการผลิตเอทานอลเพื่อเป็นเชื้อเพลิง
ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตเอทานอล 99.5% ของบริษัท อิมเพรส เอทานอล จำกัด (หุ้นไทย และมาเลเซีย) เงินลงทุน 2,970 ล้านบาท เพื่อผลิตเอทานอลปีละประมาณ 109,500,000 ลิตร ซึ่งจะใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ มันสำปะหลัง ปีละ 700,000 ตัน ตั้งอยู่ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 630,938