หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : 
วันที่โพสต์ :  15 ก.พ. 2561
       
บทความเกี่ยวกับขยะในประเทศไทย 
 
วิกฤตขยะยังคงเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง ล่าสุดไทยติด TOP 5 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุด โดยสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศไทยขณะนี้มีกว่า 27 ล้านตัน มีขยะประมาณ 10 ล้านตันที่ตกค้างสะสมอยู่ในสถานที่กำจัดขยะหรือไหลลงสู่แหล่งน้ำ หรือนี่อาจเป็นสัญญาณที่ใกล้จะถึงจุดจบของทะเลไทย!
ไทยติดโผ 5 อันดับโลก ขยะล้นทะเล
ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนักที่ประเทศไทยได้ขยับอันดับปัญหาทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดจากอันดับ 6 ขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของโลก แซงประเทศศรีลังกา

จากผลการสำรวจปริมาณขยะทะเลทั่วโลก โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย พบว่า อันดับ 1 คือ จีน อันดับ 2 อินโดนีเซีย อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ อันดับ 4 เวียดนาม อันดับ 5 ไทย และอันดับ 6 ศรีลังกา

โดยไทยมีประชากรน้อยกว่าอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่กลับมีปริมาณขยะในทะเลมากกว่า 1 ล้านตัน จึงเสี่ยงต่อการถูกกลุ่มประเทศยุโรปกดดันไทยในลักษณะเช่นเดียวกับการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู
ปัญหาขยะทะเลไม่เพียงแต่บดบังทัศนียภาพน่านน้ำไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับชีวิตใต้ท้องทะเล เพราะขยะทะเลไม่สามารถย่อยสลายในลักษณะเดียวกับขยะบก อีกทั้งยังลอยน้ำไปได้ไกลถึงทะเลของประเทศอื่นๆ รวมถึงคร่าชีวิตสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะลูกโลมาและเต่าทะเลไทยที่เสียชีวิตจากพลาสติกไปปีละกว่า 100 ตัว

ขณะที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยผลการศึกษาขยะทะเลโดยจำแนกปริมาณขยะในท้องทะเลเป็นรายประเภท พบว่าอันดับ คือ 1 ถุงพลาสติก 14,977 ชิ้น อันดับที่ 2 หลอดจากเครื่องดื่ม11,579 ชิ้น อันดับที่ 3 ฝาจุก 9,800 ชิ้น อันดับที่ 4 ภาชนะบรรจุอาหาร 9,276 อันดับ 5 เชือก 7,057 ชิ้น อันดับที่ 6 บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ 6,388 ชิ้น อันดับที่ 7 กระป๋อง 6,276 ชิ้น อันดับที่ 8 กระดาษ 5,861 ชิ้น อันดับที่ 9 โฟม 5,614 ชิ้น อันดับที่ 10 ขวดแก้ว 2,404 ชิ้น
ภัยร้ายจากไมโครพลาสติก
องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเรื่องไมโครพลาสติกมาก เพราะไมโครพลาสติกเกิดจากขยะในทะเล มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกที่ลอยในน้ำนานๆ จะเกิดการสลายตัวกลายเป็นเศษพลาสติกขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร จนถึงขนาดที่สายตามองไม่เห็นในระดับ 1 นาโนเมตร หรือไมโครพลาสติก

ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา นักวิจัยทั่วโลกเริ่มพบว่าไมโครพลาสติกเข้าไปอยู่ในแพลงตอนได้ ก็ย่อมเข้าไปอยู่ในปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่กินแพลงตอนได้เช่นกัน และเมื่อเรารับประทานปลาหรือสัตว์ทะเลอื่นๆ ไมโครพลาสติกก็จะเข้าไปอยู่ในร่างกาย อย่างไรก็ตามงานวิจัยก็ยังไม่ระบุว่าจะส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่กระบวนการย่อยสลายก็ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งการสะสมของพลาสติกอาจมีสารเจือปน นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน

ก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามในการห้ามใช้ microbead เม็ดพลาสติกขนาดเล็กซึ่งนิยมใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ครีมขัดผิว และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่รวมถึงยาสีฟัน

นับเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดมาก เพื่อการแก้ปัญหาและเพิ่มความปลอดภัยสำหรับน้ำ เพราะว่าจากสถิติ เฉพาะสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียวเท่านั้นมีปริมาณของเม็ดพลาสติก Microbead ขนาดเล็ก ๆ กว่า 8 ล้านล้านชิ้น ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำในทุกๆ วัน สร้างสารเคมีสะสมแก่ปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ อันเป็นอันตรายสำหรับผู้คนที่อาจบริโภคปลาเหล่านี้เข้าไป นอกจากนั้นยังมีการตรวจพบว่ากว่า 90% ของจำนวนนกทะเลยังมีสารพิษจำพวกนี้ปะปนอยู่ในร่างกายอีกด้วย

แก้ปัญหาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว
ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆ

ล่าสุด ททท. ร่วมกับ พีทีที โกลบอล เคมิคอล และ มูลนิธิอีโคอัลฟ์ ประเทศสเปน จัดตั้งโครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND ซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการดำเนินโครงการนี้ เพื่อลดปริมาณขยะในทะเลและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ด้วยการรณรงค์ให้ช่วยกันเก็บขยะขวดพลาสติกใส หรือขวด PET และขยะจากพลาสติกโพลิเอทิลินในทะเลตลอดจนพื้นที่ชายฝั่ง มาแปรรูปในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ด้วยนวัตกรรมการผลิตเป็นใยสังเคราะห์ และออกแบบเป็นเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่า โดยมีพื้นที่เป้าหมายคือ เกาะเสม็ด เกาะเต่า และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะเป็นการลดปริมาณขยะ และสามารถฟื้นฟูทะเลไทยได้อย่างยั่งยืน

อีกทั้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็กำลังพิจารณาว่าจะจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมหรือไม่เพื่อลดปริมาณขยะย่อยสลายยากเหล่านี้ เพราะปัญหาเหล่านี้คงไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดเพียงองค์กรเดียวที่จะฟื้นฟูให้ทะเลไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุด เพราะปัญหาขยะไม่ได้เกิดจากใครคนเดียว ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ซึ่งหากสถานการณ์ยังเลวร้ายลงเรื่อยๆ อีกไม่นานทะเลไทยคงถึงจุดจบเป็นแน่!
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
"ขยะในไทยที่ไม่ได้รับการกำจัดมีมากเกือบ 7 ล้านตันต่อปี ซึ่งในจำนวน 700,000 – 1,000,000 ตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล ทำให้เกิดเป็นแพขยะขนาดมหึมา หากเราต้องการจะหลุดจากลิสต์ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเล เราต้องลดการทิ้งขยะให้ได้ 1 หมื่น 1 พันล้านชิ้นต่อปี โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา สามารถรณรงค์จนลดลงได้เพียง 160 ล้านชิ้น ซึ่งวิธีรณรงค์นี้ทำอย่างไรก็ลดลงได้เพียง 10% เท่านั้น"

นายยุทธศักดิ์ สุภสร  ผู้ว่าการ ททท.
“จากการประเมินของ World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นความท้าทายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว และในแหล่งท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง ยังคงประสบปัญหาความเสื่อมโทรม และเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ น้ำเสีย โดยขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ”

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี
“ทุกวันนี้ปัญหาขยะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ในการลด ละ และป้องกันไม่ให้ขยะไหลจากลำคลองลงสู่ทะเล ก่อนหน้านี้เราพยายามรีไซเคิล ซึ่งก็ทำได้เพียงแค่เก้าอี้ และกรวยบนถนน แต่ถ้านำมาพัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และสามารถทำเป็นธุรกิจได้ ขยะที่ทุกคนทิ้งจะกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่า”

นายฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์
“ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการดำเนินโครงการ UPCYCLING THE OCEANS ดำเนินการจัดเก็บขยะในทะเลไทยอย่างเป็นระบบ โดยตลอดกระบวนการการจัดเก็บ แปรรูป และพัฒนาเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นจะดำเนินการในไทย รวมทั้งการสร้างความตระหนักของปัญหาและผลกระทบของขยะในทะเลซึ่งมีขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลกถึง 269,000 ตันหรือ 2.25 ล้านล้านชิ้น”

[English]
Rubbish that Matters

Among the many problems Thailand has to deal with, rubbish is one of them. The excessive amount of rubbish we produce has made Thailand one of the top five countries that releases rubbish into the oceans. On land, out of the 27 million tons of rubbish countrywide, 10 million tons is accumulated in the rubbish tips or being thrown into waterways. The situation puts Thailand at risk of being sanctioned by the EU in a similar manner as illegal fishing does. The plastic rubbish that litters Thailand’s sea and beaches not only spoils their beauty but also harms marine lives, especially more than one hundred dolphin calves and turtles that are killed by the plastic rubbish every year.

After floating in the oceans long enough the plastic rubbish finally breaks down into microplastic. Many researchers worldwide have found microplastic in the plankton that marine animals feed on. Therefore, it can also get inside our body since many species of our seafood also feed on the plankton. Although there has not been any confirmation of the danger of consuming the microplastic yet, it is certain that our body cannot digest it. 

The problem of the rubbish in marine tourist destinations in Thailand has prompted many organisations to take action. It is too big a problem to solve single-handedly. The Tourism Authority of Thailand, PTT Global Chemicals and ECOALF (Spain) have organised a project called ‘Upcycling the Oceans, Thailand’ with the aim of reducing the amount of rubbish in the sea and the environmental pollution by running a campaign to collect PET bottles and polyethylene plastic in the sea and along the beaches and process them into fashion items. Thailand is the first country in Asia to run this project. The Ministry of Natural Resources and Environment is also considering the imposition of an environmental tax to help reduce non-degradable rubbish.
Visitors: 630,671