หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.eeco.or.th วันที่โพสต์ :  31 ม.ค. 2561
       

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 

 

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุน เป็นการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ที่ตั้งโครงการ

ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,229 เมตร

สภาพแวดล้อมที่ตั้งโครงการปัจจุบัน

ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ดำเนินการตามมาตรฐานสากลและเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด ในปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 43 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนสินค้าประเภทน้ำมันและก๊าซประมาณร้อยละ 57 ถ่านหินประมาณร้อยละ 18 เคมีภัณฑ์ประมาณร้อยละ 16 และอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 9 มูลค่าสินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้งสิ้นประมาณ 430 ล้านบาท

โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย จำนวนท่าเทียบเรือให้บริการ 32 ท่า ซึ่งเป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย โดยในปัจจุบันมีการใช้งานเต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

เพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (สินค้าด้านปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มอีก 19 ล้านตันต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

องค์ประกอบโครงการ

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุน ประกอบด้วย 

  • งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และ พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน 
  • งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือความลึก 16 เมตร                         
  • งานระบบสาธารณูโภค 
  • งานอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3

สำหรับการพัฒนาเพื่อรองรับสินค้าเหลว สินค้าเทกองและสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ
(1) ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร
(2) ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร 
(3) ท่าเทียบเรือบริการ
(4) คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ 150 ไร่ 
(5) บ่อเก็บกักตะกอน 450 ไร่ และ
(6) เขื่อนกันคลื่น 2 ช่วง ความยาวรวม 1,627 เมตร

 
มูลค่าการลงทุนโครงการให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ  
มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นในงานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เท่ากับ 10,154 ล้านบาท
     

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ (ก่อสร้างและให้บริการ) ให้เอกชนร่วมทุนฯ
 
ประมาณ 30 - 50 ปี ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา
     

ผลตอบแทนโครงการ (Project Return)  
อยู่ระหว่างการศึกษา
     

รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน
 
ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) รายละเอียดอยู่ระหว่างการศึกษา
 

แผนการปฎิบัติงานเบื้องต้น (Preliminary Timeline)
   
1. ประกาศเชิญชวนนักลงทุน              มิถุนายน 2561
2. ให้เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอ            กรกฎาคม 2561
3. ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือก        ตุลาคม 2561
4. ลงนามในสัญญา                          กุมภาพันธ์ 2561
5. เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ                พ.ศ. 2567 
   
ขอบคุณข่าวจาก : eeco.or.th
 

 

Visitors: 630,168