หน้าใหม่
|
|||
แหล่งที่มา : www.prachachat.net |
วันที่โพสต์ : 30 พ.ย. 2560 | ||
ลุ้น พ.ร.บ. EEC ยิ่งช้า ! ไทยเสียโอกาส |
|||
![]() |
|||
ถูกตั้งคำถามและจับตามองตลอดถึง “พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ที่รัฐบาลไทยยกขึ้นมา “การันตี” ให้ความมั่นใจกับนักลงทุนว่า “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ EEC อภิมหาโปรเจ็กต์ระดับชาติจะเดินหน้าไปได้ แม้จะเปลี่ยนอีกกี่รัฐบาลก็ตาม โดยเฉพาะการเกิดโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างสนามบิน ท่าเรือ รถไฟ ซึ่งใช้กลไกการลงทุนจากนักลงทุนเข้ามาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้ GDP โตปีละกว่า 5% ต่อยอดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเริ่มนับหนึ่งทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล เมื่อ “พ.ร.บ. EEC” คือ “หัวใจ” สำคัญ ที่กำหนดรายละเอียดขอบเขตการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องอำนาจการบริหาร สิทธิประโยชน์ ผังเมือง หลักเกณฑ์การลงทุน การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ภาคการเกษตร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นสาระสำคัญจะถูกบัญญัติไว้ในตัวกฎหมาย ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า กฎกติกาที่แน่ชัดจะเป็นอย่างไร จึงเป็นเหตุผลว่า นักลงทุนต้องร้องเพลงรอ “กฎหมายเพียงฉบับเดียว” แทบทุกเวทีการสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับ EEC จะเกิดคำถามจากนักลงทุนทั้งไทยและเทศว่า พ.ร.บ. EEC จะประกาศใช้เมื่อไรแน่ ! แม้รัฐบาลจะพูดให้นักลงทุนอุ่นใจว่า “โครงการ EEC ไม่มีวันล้ม” เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ “รัฐบาลชุดใดไม่มีสิทธิ์ทำผิดกฎหมาย” ! หากย้อนกลับไปดูครั้งแรก “กระทรวงอุตสาหกรรม” ในฐานะเจ้าภาพ เตรียมจะคลอดกฎหมายตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60 แต่ก็ต้อง “กินแห้ว” เลื่อนมาเดือน ต.ค. และต่อมาเดือน พ.ย. แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะรับร่างหลักการวาระ 1 ไปเรียบร้อยระหว่างช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาได้มีการหยิบเอาวาระ 2 ขึ้นมาพิจารณา แต่แล้วการพิจารณาเสร็จไม่ทัน จึงต้องยืดออกไปอีก… ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ออกมายอมรับความล่าช้า โดยบอกว่าบางมาตรามีความซับซ้อน รายละเอียดค่อนข้างมาก ไปคาบเกี่ยวกับบางหน่วยงาน จึงต้องหาแนวทางตกลงร่วมกันให้ได้ จนในที่สุด คณะกรรมาธิการ สนช.ต้องขยับการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน สกรศ.ได้แต่หวังว่า คณะกรรมาธิการจะเร่งประชุมให้ถี่ขึ้น เพื่อให้กรอบกำหนดที่จะประกาศใช้กฎหมายได้ทันภายในไตรมาส 1/2561 “ความล่าช้า” ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของ “นักลงทุน” เพราะหากผลีผลามลงมือทำไปก่อน อาจกลายเป็นการ “ทำผิดกฎหมาย” ความเสียหายย่อมตามมา ในอดีตโครงการไม่น้อยที่ถูกล้มไปอย่างน่าเสียดาย เพราะนโยบายที่เข้ามาบริหารประเทศในแต่ละยุคมีแนวทาง กลไก และมุมมองแตกต่างกัน ดังนั้น นักลงทุนจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า EEC จะไม่เป็นหมันซ้ำรอยประวัติศาสตร์
|
|||
ขอบคุณข่าวจาก : prachachat.net |