หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.the101.world/oneonone/101-one-on-one-ep-07-banyong/
วันที่โพสต์ :  20 พ.ย. 2560
       
 “อ่านยุทธศาสตร์ชาติ” กับ บรรยง พงษ์พานิช
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อ “เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว” (มาตรา 65) และในหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ กำหนดให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ เป็นต้น (มาตรา 257 และ 258)


เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 กฎหมายหลักสองฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศได้ถูกประกาศใช้ ได้แก่ 
พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560  กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศภายใต้ระบอบ คสช. จึงเริ่มเดินหน้าอย่างเต็มตัว พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่องจากหลายฝ่าย


บรรยง พงษ์พานิช
 ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้หนึ่งที่เขียนบทความแสดงความคิดเห็นตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างแหลมคม บทความเรื่อง “ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ: มันจะออกมาเป็นคบไฟนำทางหรือโซ่ตรวนล่ามชาติกันแน่?” ถูกกล่าวขวัญถึงจนเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์


101 ชวน บรรยง พงษ์พานิช ในฐานะประชาชนผู้สนใจติดตามประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง มาตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติมีไว้ทำไม จนถึงเรื่องกรอบระยะเวลา 20 ปี, องค์ประกอบของคณะกรรมการ, กระบวนการทำงาน, เนื้อหาสาระเบื้องต้นของแผน, ความยืดหยุ่นในการปรับแผน การติดตามตรวจสอบและบังคับใช้แผน และกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน

เรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีประเด็นไหนที่น่ากังวลบ้าง

สิ่งที่คนกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ คือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของโลก พอเราไปกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ยาวถึง 20 ปี ถ้าโลกมันไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ จะเกิดอะไรขึ้น แม้หลายฝ่ายจะบอกว่าปรับแก้ได้ แต่เมื่อไปดูกฎหมายที่เขียนไว้ จะเห็นว่ามันไม่ได้ปรับง่ายขนาดนั้น และอำนาจในการปรับแก้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ทำแผนเสียส่วนใหญ่

ประเด็นต่อมา คือการกำหนดให้มีผลบังคับใช้และมีบทกำหนดโทษ ถ้าพบว่ามีหน่วยงานของรัฐไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้ ถ้า ปปช.ชี้มูล ก็ต้องหลุดจากตำแหน่งไว้ก่อน ซึ่งการให้ ปปช.มีอำนาจกำกับดูแลก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะ ปปช.ไม่ได้มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์เลย หน้าที่ของปปช. คือควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริต การเอาอำนาจตรงนี้มาชี้ขาดว่าหน่วยงานไหนไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในทางปฏิบัติและใช้ทักษะที่สูงมากในการพิจารณา ก็น่าคิดเหมือนกันว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่


รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาทำงานหลังการเลือกตั้ง จะมีสิทธิ์มีเสียงแค่ไหนในการกำหนดนโยบาย เพราะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบที่ถูกบังคับให้ต้องเดินตามแล้วชั้นหนึ่ง
 


นั่นก็เป็นข้อกังวลเหมือนกัน เพราะต่อไปนี้เวลาพรรคการเมืองจะกำหนดนโยบาย เขาก็ต้องดูยุทธศาสตร์ชาติด้วย แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดว่านโยบายต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ถ้าไม่สอดคล้องขึ้นมา ตอนนำนโยบายไปปฏิบัติจริงก็อาจมีปัญหาอีก


ข้อกังวลอีกอย่างก็คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และมีสัดส่วนของข้าราชการ 7 ตำแหน่ง (ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเลขาธิการสภาพัฒน์) โดย 6 ใน 7 มาจากฝ่ายความมั่นคง มีเลขาธิการสภาพัฒน์คนเดียวที่มาจากฝ่ายเศรษฐกิจ


นอกจากนั้น ตัวแทนของภาคเอกชน ยังประกอบไปด้วยประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ


ทั้งห้าตำแหน่งนี้ อาจเรียกรวมๆ ว่า “สมาคมการค้า” (Trade Associations) ซึ่งแต่ละสมาคมก็มีวัตถุประสงค์ชัดเจน คือตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์แก่สมาชิกของเขา ข้อสังเกตก็คือ โดยหลักการแล้ว สมาคมเหล่านี้คือตัวแทนของเอกชน ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม หน้าที่ของเขาคือการต่อรองผลประโยชน์กับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคประชาชน แต่ในมายาคติของประเทศเรา เรามักจะคิดว่าสมาคมเหล่านี้เป็นหน่วยงานสาธารณะที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสังคม ซึ่งมันไม่ใช่


แล้วหลายต่อหลายครั้ง เราจะเห็นว่าผลประโยชน์ของสมาคมการค้า ก็ขัดกับผลประโยชน์ของสาธารณะ หรือบางครั้งก็ขัดกับผลประโยชน์ของสมาคมการค้าอื่นๆ การที่เราเอาสมาคมเหล่านี้มาวางแผนยุทธศาสตร์ชาติเสียเลย จึงเกิดคำถามว่า พอคนเหล่านี้เข้าไปเป็นกรรมการ จะทำเพื่อประโยชน์ของสมาชิกหรือประโยชน์ของส่วนรวมกันแน่ เพราะหลายครั้งสองเรื่องนี้มันขัดกัน


ผมยกประเด็นนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง แม้เขาจะเลือกคุณมาจากตำแหน่งที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก แต่เวลาคุณทำหน้าที่คุณจะต้องวางหมวกเรื่องผลประโยชน์ของสมาชิกลง ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องเฝ้าจับตา อย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘กุมรัฐ’ (state capture) ซึ่งทางทฤษฎีแล้วคือการคอร์รัปชันขั้นสูงสุดเลย เป็นการออกนโยบายเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มคนที่กำหนดนโยบาย แต่ไม่เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ เหมือนกับที่เราเคยกล่าวหารัฐบาลสมัยหนึ่งว่าคอรัปชั่นเชิงนโยบาย

  

การกุมรัฐในแบบที่ว่ามา ก็คือการที่เอกชนเข้าไปกุมอำนาจรัฐ และสามารถกำหนดโอกาสหรือนโยบายให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ตั้งแต่ต้น โดยไม่จำเป็นต้องไปคอร์รัปชันเป็นครั้งๆ อีกต่อไป


ใช่ครับ ยกตัวอย่างเช่น รัฐวิสาหกิจไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ดูไม่เป็นประโยชน์ แต่เพราะมันมีคนอยากขาย คนนั้นสามารถไปกำหนดนโยบายที่เอื้อให้เกิดความอยากซื้อได้ จากการ “จัดซื้อจัดจ้าง” ก็กลายเป็น “จะซื้อจะจ้าง” แต่อันนี้ยังเป็นการกุมรัฐแบบเด็กๆ นะครับ ยังมีแบบเหนือชั้นอีกหลายรูปแบบ เป็นเรื่องโครงสร้างที่เราต้องเฝ้าจับตามอง และแก้ไขอะไรไม่ได้นอกจากจะแก้กฎหมายในเรื่องนี้

นอกจากตำแหน่งต่างๆ ที่ว่ามา ยังมีคนที่ได้รับการแต่งตั้งในนามบุคคลอีกจำนวนหนึ่งในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  6 คนในนั้นคือรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่พ้นจากตำแหน่งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแม้มีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ตาม นี่คือการสืบทอดอำนาจระยะยาวของรัฐบาล คสช. หรือไม่

นายกฯ พูดหลายครั้งว่านี่ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการสืบทอดภารกิจ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป ผมเชื่อว่าภาวะผันผวนของโลกปัจจุบันรุนแรงมาก และยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าย้อนไปแค่สามปี เรายังไม่มีการ Live บน Facebook แบบนี้เลย โลกเปลี่ยนเร็วมาก และยิ่งเราไปกำหนดว่าแผนบางอย่างต้องแก้ผ่านกฎหมายเท่านั้น มันก็น่ากังวลเป็นเรื่องธรรมดา

ผมอยากชวนทำความเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมหลายคนถึงอยากให้มีแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาว

ถ้าดูจากอดีต เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าสู่ฉบับที่ 12 ถ้าย้อนดูพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย การพัฒนาตามแผนตั้งแต่ฉบับแรกเมื่อปี 2504 เรื่อยมาถึงฉบับที่ 6 ในปี 2534 ช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก ระดับความยากจนจากร้อยละ 60 เหลือเพียงร้อยละ 20 หลังจบแผน 6 ส่วนรายได้ประชาชาติต่อหัวก็เพิ่มจากระดับร้อยเหรียญสหรัฐขึ้นมาเป็นสองพันกว่าเหรียญสหรัฐ

เศรษฐกิจไทยดีขึ้นเพราะมีแผน หรือเพราะเหตุปัจจัยอื่น

นี่แหละคือประเด็น หลายคนคิดว่าที่เราดีขึ้นช่วงนั้น เพราะเรามีแผน กับมีเทคโนแครต คือข้าราชการที่เป็นผู้นำและมีความสามารถ ที่จะทำตามแผนได้ กับอีกปัจจัยก็คือการใช้รัฐนำ คนรุ่นผมจะคุ้นเคยกับคำขวัญที่ว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” นี่คือการใช้รัฐนำ ผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

จากปัจจัยทั้งหลายที่ว่ามา ซึ่งสามารถทำให้เราพัฒนาจากประเทศยากจนมาสู่ประเทศรายได้ปานกลางในช่วงนั้น น่าจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดที่ว่า การมีแผนแบบนั้นในปัจจุบัน น่าจะเป็นเรื่องดี

แต่ประเด็นก็คือ การพัฒนาในยุคนี้ไม่เหมือนยุคนั้นแล้ว โลกผ่านการพิสูจน์แล้วว่าต้องใช้ตลาดนำ การกลับไปใช้รัฐนำโดยมีแผนบางอย่างเป็นศูนย์กลาง มันไม่เวิร์คแล้ว อย่างจีน สหภาพโซเวียต เขมรแดง ก็ผ่านประสบการณ์มาแล้วว่ามันไม่เคยนำประเทศไปสู่ความมั่งคั่งได้

การทำแผนระยะยาวในโลกปัจจุบัน มีเรื่องอะไรที่ต้องคำนึงถึงบ้าง

ถ้าแผนเขียนได้ดี ทำได้ตามที่วางไว้ มันก็จะเป็นคบไฟนำทาง แต่ถ้าทำไม่ดี หรือทำแบบผิดทิศทาง มันอาจกลายเป็นโซ่ตรวนของประเทศได้เหมือนกัน

รัฐในโลกสมัยใหม่ค่อนข้างชัดเจนว่าบทบาทและหน้าที่ของรัฐควรมีจำกัด มีบทบาทเท่าที่ควรจะมี ในแผนฉบับร่างก็เขียนไว้แบบนี้ แต่พอไปดูรายละเอียดกลับบอกว่ารัฐต้องทำอะไรเต็มไปหมด ซึ่งต่างจากแผนของหลายประเทศในปัจจุบัน ที่เน้นการพัฒนาเชิงสถาบัน กำหนดว่ารัฐควรมีหน้าที่อะไร ไม่ควรทำอะไร รวมไปถึงเรื่องกลไกที่ใช้ในการปกครองประเทศว่าจะต้องมีรูปแบบกฎหมาย หรือรูปแบบกระบวนการยุติธรรมอย่างไร

ยกตัวอย่างแผนของสิงคโปร์ เขาจะไม่บอกว่าต้องทำอุตสาหกรรมอะไร แต่จะเน้นว่าทำอย่างไรให้กลไกตลาดดำเนินไปอย่างราบรื่น สิ่งที่เราควรคิดคือ จะทำอย่างไรให้เกิดระบบนิเวศที่ทำให้การค้าและการลงทุนสะดวก สามารถดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาทำงานในประเทศ ที่สำคัญคือต้องเป็นแผนที่ยืดหยุ่นมาก

 เคยได้ยินคำว่า VUCA ไหมครับ V (Volatility) คือความผันผวน, U (Uncertainty) คือความไม่แน่นอน, C (Complexity) คือความซับซ้อน และ A (Ambiguity) คือความคลุมเคลือ สี่คำนี้เป็นสิ่งที่มีความรุนแรงมากขึ้นในโลกยุคใหม่ แนวคิดนี้มาจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หลังจากเขาพบว่ายุทธศาสตร์เดิมที่เคยใช้ มันใช้ไม่ได้อีกแล้ว จากเดิมที่เขามีแผนยุทธศาสตร์มากมาย ก็เปลี่ยนเป็นการสร้างโครงสร้างของกองทัพที่ยืดหยุ่นและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าทหารไทยได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้หรือยัง

ประเทศอื่นเขายังทำแผนยาวๆ เป็นสิบปีแบบบ้านเราอยู่ไหม กระบวนการทำแผนของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เท่าที่ผมทราบ ไม่มีประเทศพัฒนาแล้วประเทศไหนวางแผนยุทธศาสตร์ชาติยาวๆ แบบเราเลย เราอาจมีข้อโต้แย้งได้ว่าเพราะเขาพัฒนาแล้ว ถึงไม่จำเป็นต้องมี แต่ในอีกมุมหนึ่ง อาจบอกได้ว่าการที่เขาพัฒนาขึ้นมาได้ ก็เพราะเขาไม่ได้ทำแผนแบบนั้น มาเลเซียก็เคยมีแผน 20 ปีแบบเรา เขากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดและมีกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบปรับเปลี่ยนได้ยากแบบเรา

แล้วบริษัทคุณบรรยงเอง มีการวางแผนระยะยาวเป็นสิบปีแบบนี้ไหม

เราก็เคยทำแผน 5 ปี แต่พบว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราต้องปรับตัวเร็วกว่านั้น ก็เลยต้องปรับเป็นแผน 3 ปี ตอนนี้ก็เหลือแผน 2 ปี ที่มีการปรับทุก 6 เดือน

ทีนี้เมื่อกลับมาดูที่แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อนำแผนไปยึดโยงกับเรื่องกฎหมาย ที่มีการกล่าวโทษ การปลดคนจากตำแหน่ง มันจะทำให้กระบวนการสร้างความยืดหยุ่นของแผนยากขึ้น และทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมืองได้ง่าย อย่างการรัฐประหารครั้งล่าสุด ก็เกิดขึ้นเพราะภาวะสุญญากาศที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ถ้ายังจำได้ รัฐบาลยุคนั้นก็เจอกฎหมายข้อนั้นข้อนี้เต็มไปหมด ทำให้แทบจะบริหารประเทศไม่ได้

มีหลายคนวิจารณ์ว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการออกแบบกระบวนการตรวจสอบและประเมินผลแบบที่เขียนไว้ในกฎหมาย มันทำให้การเลือกตั้งไม่มีความหมาย ทำให้ประชาธิปไตยไม่มีความหมาย ตรงนี้มีประเด็นอะไรที่น่าหยิบมาชวนคุยกันบ้าง

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก เพราะไม่ได้วัดกันแค่ว่ามีเลือกตั้งหรือไม่แล้วจบ มันมีองค์ประกอบหลายเรื่องที่ต้องพัฒนา โดยเฉพาะองค์ประกอบเชิงสถาบัน ประเทศไทยยังต้องพัฒนาอีกเยอะ เช่น การพัฒนา 3 ขา คือ รัฐ เอกชน และประชาสังคม แต่พอเราไปดูรายละเอียด ก็จะพบว่าทั้ง 3 ขาของเราไม่แข็งแรง ซึ่งต้องถามย้อนไปอีกว่าทำไมเป็นแบบนั้น

ในส่วนของรัฐ ผมมองว่าในปัจจุบันนี้ รัฐที่แข็งแรงแทบไม่มีเหลือในโลกแล้ว พอเราไปใช้รัฐนำ ให้รัฐเป็นคนกุมทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศไว้ ก็ทำให้ภาคส่วนอื่นต้องมาโหนรัฐ พอคนไม่แข็งแรงไปโหนคนไม่แข็งแรง มันก็ยิ่งไม่แข็งแรงเข้าไปใหญ่

ถ้าคุณไปดูประเทศไทยในยุคเริ่มพัฒนา ข้าราชการจะมีรายได้สูงกว่าอาชีพอื่นๆ แต่พอพัฒนามาเรื่อยๆ เอกชนก็เริ่มมีรายได้สูงกว่า พอที่ไหนมีรายได้มาก ก็จะดึงทรัพยากรดีๆ ไป นี่คือสัจธรรมของโลก ยิ่งพอโลกพัฒนาไปด้วยโลกาภิวัตน์ ภาคส่วนอื่นๆ ก็ยิ่งสามารถพัฒนาไปได้ไกล เพราะมีข้อจำกัดน้อยกว่าภาคราชการ ซึ่งยังมีข้อจำกัดอยู่เยอะ ทั้งเชิงระบบและทรัพยากร

ผมค่อนข้างเห็นด้วยว่าระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แบบที่เราพยายามใช้กันมา แม้จะยังทำได้ไม่เต็มที่หรือเต็มใบ แต่วิธีแก้ในมุมของผม ไม่ใช่การกำจัดนักการเมือง เราต้องพัฒนาคุณภาพของนักการเมืองต่างหาก ไม่ใช่ไปเว้นวรรคหรือ set zero กันใหม่

นอกเหนือจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เรายังมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ อีก 11+2 ด้าน ซึ่งมีบุคลากรรวมแล้วหลายร้อยคน ยังไม่นับเรื่องเงื่อนเวลาที่ต้องทำงานให้เสร็จตามรัฐธรรมนูญอีก การทำงานก็อาจเหลื่อมซ้อนกันด้วย กลไกการทำงานจะเดินหน้าไปได้อย่างไร 

ถ้าให้ผมมอง ผมมองว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้แผนที่มีการบูรณาการหลายส่วนภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ อย่างผมเป็นนักธุรกิจ เป้าหมายของการทำธุรกิจมันง่ายมาก คือทำอย่างไรให้กำไรสูงสุด แต่เป้าหมายของชาติมันซับซ้อนกว่าธุรกิจมาก มีหลายมิติที่ขัดแย้งกัน เช่น มิติของการพัฒนาเศรษฐกิจให้รุ่งเรือง กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นต้นทุนซึ่งกันและกันอยู่แล้ว เวลาที่เราต้องทำแผน โดยที่แต่ละฝ่ายมีเป้าหมายไม่สอดคล้องกัน มันยากโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ยิ่งเป็นการวางแผนที่ประกอบไปด้วยกรรมการชุดย่อยๆ 20 กว่าคณะ รวม 300 กว่าคน ผมนึกภาพไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร

นอกจากนั้น กฎหมายบอกว่าจะต้องทำให้เสร็จภายใน 120 วัน นับจากวันที่แต่งตั้งกรรมการ ซึ่งก็จะไปสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนมกราคมปีหน้า ขณะเดียวกันแผนอีกฉบับ คือแผนปฏิรูปประเทศ ต้องออกมาก่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ คือภายใน 90 วัน และกฎหมายยังกำหนดอีกว่า แผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติต้องสอดคล้องกัน หลายคนเห็นเงื่อนไขแบบนี้ก็คงงง ว่าทำไมถึงไปสร้างเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้ขึ้นมา ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าทั้งสองแผนออกมาแล้วไม่สอดคล้องกัน ใครจะเป็นคนแก้

บางคนก็บอกว่าประสานงานกันไม่ยากหรอก เพราะคนเหล่านี้คือเครือข่ายเดียวกัน แต่งตั้งโดย คสช.ทั้งนั้น

ถ้างั้นก็วางแผนคนเดียวเลยก็ได้ (หัวเราะ) แต่มันเป็นไปไม่ได้ไงครับ ตอนนี้เราควรจำกัดบทบาทของรัฐ ให้เหลือเท่าที่จำเป็น แต่การทำแผนลักษณะนี้ มันจะนำไปสู่การขยายตัวของรัฐอย่างมโหฬาร มันจะกลายเป็นกองของความต้องการของคนจำนวนมาก หมายความว่าใครอยากได้อะไรก็ใส่เข้ามา ถ้าคุณลองไปอ่าน “ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” ที่จะใช้เป็นฐานในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อไป จะเห็นว่ามันเป็นภาพฝันที่สวยงาม ตั้งความหวังไว้สูงส่งในทุกๆ ด้าน เรียกว่าเป็น super wishlist ก็ว่าได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากก็คือเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร

ในแผนฉบับร่างนี้ ไม่มีการพูดถึงการจัดสรรทรัพยากรว่าจะจัดสรรไปสู่แต่ละภาคส่วนอย่างไร เพราะทรัพยากรที่ใช้ก็หนีไม่พ้นเงิน ซึ่งส่วนหนึ่งต้องมาจากภาษี ถ้าไม่ใช้ภาษี ก็ต้องเอาทรัพยากรของลูกหลานมาทำ นั่นคือการกู้เงิน เผลอๆ หนี้สาธารณะจะพุ่งสูงขึ้นมาก จากตอนนี้ที่เรามีนโยบายการคลังที่ดีพอสมควร ตัวเลขของหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับ 40 กว่าๆ ของรายได้ประชาชาติ แต่ถ้าทำตามแผนนี้เราน่าจะติดเพดานทันที

เหมือนว่าสิ่งที่เขียนมาในแผน เป็นภาพฝันภายใต้สมมติฐานว่าเรามีทรัพยากรไม่จำกัด

ใช่ครับ ผมคิดว่ายังมีรายละเอียดที่ต้องลงไปดูกันอีกเยอะ แต่เรื่องการจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างกังวลมาก เพราะการทำแผนในแต่ละด้านต้องใช้ทรัพยากรทั้งนั้น รวมถึงหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของรัฐอย่างที่บอกไป ในงานวิจัยหลายชิ้นก็ระบุว่าภาครัฐไทยขยายตัวมากเกินไป เช่น งานวิจัยของทีดีอาร์ไอก็เคยเสนอว่าเราจะต้องหดทั้งขนาด บทบาท และอำนาจรัฐลงมา แต่แผนนี้จะทำในสิ่งตรงข้าม ลองนึกว่าคุณเป็นหน่วยงานรัฐแล้วเขาให้คุณทำแผนยุทธศาสตร์ คุณจะยอมเสนอให้ลดบทบาทและอำนาจตัวเองลงหรือไม่

คุณบรรยงบอกว่าสิ่งที่เขียนในแผนส่วนใหญ่ยังเป็นความฝันอยู่ แล้วเขาได้บอกถึงวิธีการทำความฝันนั้นให้เป็นจริงหรือไม่

ในแผนเขาจะแบ่งเป็น 6 ภาค ไล่ไปว่าแต่ละภาคจะทำเรื่องอะไร ซึ่งถ้าดูตั้งแต่หน้าแรก ผมก็เห็นปัญหาแล้วครับ ในบทนำเป็นส่วนที่พูดถึงการคาดการณ์อนาคต ทั้งในระดับโลก และระดับประเทศ ซึ่งเขาเขียนไว้เลยว่า การคาดการณ์ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะให้ทุกภาคส่วนมองภาพเป็นภาพเดียวกัน ก่อนสรุปว่า ทุกภาคส่วนจะได้วางแผนไปในทิศทางเดียวกัน

ปัญหาก็คือ ถ้าเรามองอนาคตเป็นภาพเดียวกันทั้งหมด เราตายเลยนะครับ ภาพมันต้องหลากหลาย โลกถึงจะเดินไปได้ ถ้าคุณบอกว่าจะทำให้ทุกคนมองเห็นภาพเดียวกันจากภาพอนาคตที่คุณคาดการณ์ไว้ ผมขอยืนยันว่ายังไงมันก็ผิด ไม่ว่าใครคาดการณ์ก็ผิด แต่เรากลับขอให้ทุกคนผิดไปในทางเดียวกันหมด (หัวเราะ) แค่บทนำผมก็สะดุ้งสุดตัวแล้ว

ในร่างแผนร้อยกว่าหน้า มีอะไรสำคัญที่ไม่ได้ถูกเอ่ยถึงบ้าง

 ผมกังวลเรื่องการกำหนดบทบาทและอำนาจรัฐ กับการเพิ่มอำนาจตลาด ในโลกปัจจุบัน หน้าที่ของรัฐต้องจำกัดมาก รัฐจะเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ก็ต่อเมื่อตลาดล้มเหลว เช่น เข้าไปผลิตสินค้าหรือบริการสาธารณะ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันโดยสมบูรณ์ หรือจัดการเรื่องปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ นี่คือกลไกของรัฐเสรีนิยมที่ทุกประเทศยอมรับ แต่มันมีแนวคิดแบบนี้น้อยมากในแผน กลายเป็นว่ารัฐจะต้องนำในทุกเรื่อง

บทบาทภาครัฐคือดูแลในสิ่งที่ควรทำเท่านั้น เช่น การดูแลความสงบเรียบร้อย การจัดให้มีกระบวนการยุติธรรม การจัดให้มีสวัสดิการและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถ้าเป็นด้านสวัสดิการ ก็คือการเอาทรัพยากรจากคนที่มีมากๆ ไปกระจายสู่คนที่มีน้อยตามที่เห็นสมควร แต่สิ่งที่ภาครัฐไม่ควรทำคือการไปประกอบธุรกิจ ยกเว้นว่าไม่มีใครทำหรือตลาดยังไม่พร้อม แต่เมื่อตลาดพร้อม ก็ควรจะปล่อยคนอื่นให้ทำ

 

ผมเป็นคนที่เชื่อในพลังของประชาชน ถ้าจะทำให้รัฐเล็กลง ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ต้องลุกขึ้นมาเตือนเรื่องนี้บ่อยๆ และเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราไม่ค่อยรู้ตัว ผมขอเชิญชวนให้เข้าไปอ่านงานวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษาที่พูดถึงการขยายตัวของรัฐไทยโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้านับรัฐวิสาหกิจด้วยก็น่ากังวลมาก เพราะรัฐกินพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่รัฐไม่ควรจะกุมทรัพยากรส่วนใหญ่แบบนี้

ถ้าคุณบรรยงได้เป็นนายกรัฐมนตรี คุณบรรยงจะทำอะไรบ้าง (อธิคม ถาม)

 เรื่องที่ต้องทำในฐานะนายกรัฐมนตรี มันเยอะมาก ผมคงตอบไม่ได้ เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะมีความสามารถขนาดนั้น และไม่เคยคิดจะเล่นการเมือง แต่เรื่องที่ผมพยายามเข้าไปทำจากสองปีที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม มีอยู่ 3 เรื่องซึ่งเป็นการส่งเสริมสมรรถภาพในระยะยาวมากกว่าแก้ปัญหาในระยะสั้น

 เรื่องแรกคือการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่ในสังคม เพราะกฎหมายที่ร่างกันในสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มีการต่อต้านกันพอสมควร ปัญหาอยู่ตรงที่ขนาดของรัฐวิสาหกิจมีการขยายตัวอย่างน่ากลัวมาก จากที่เคยมีทรัพย์สิน 4 ล้านล้านบาท เมื่อสิบสองปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 16 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน หลักง่ายๆ คือทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่อยู่ในมือรัฐวิสาหกิจถูกบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ

 เรื่องที่สอง ทุกคนคงรู้ว่าภัยที่ใหญ่ที่สุดของเราคือการคอร์รัปชัน แต่การคอร์รัปชันซับซ้อนมากกว่าแค่การมีคนใช้อำนาจรัฐไปหาผลประโยชน์ ผมก็พยายามเสนอว่าเราจะสร้างระบบนิเวศอย่างไรให้กระบวนการต่อต้านคอรัปชันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่แค่การเพิ่มงบหรือเพิ่มอำนาจให้ ปปช. แต่เป็นการทำอย่างไรให้องค์กรที่เป็นภาคประชาสังคมมาช่วยตรวจสอบได้มากขึ้น ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการต่อต้านคอรัปชันแห่งชาติในตอนนี้ ต้องใช้คำว่า มีความคืบหน้าแต่ช้ากว่าที่หวัง

 เรื่องที่สาม คือการปฏิรูปกฎหมาย โดยยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นก่อน เรามักพูดว่าต้องปฏิรูปภาครัฐ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไรและจะเริ่มอย่างไร เพราะกลไกรัฐทั้งหมดคือสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อห่อหุ้มกฎหมาย และกลไกสถาบันต่างๆ เริ่มมาจากกฎหมายทั้งนั้น

 ประเทศไทยเรามีกฎหมายและข้อบังคับรวมแล้วแสนกว่าฉบับ ข้ออนุญาตต่างๆ รวมแล้วกว่าสามพันชนิด ทั้งๆ ที่ในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ควรจะมีเกิน 300 ฉบับ ตามที่ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) บอกไว้ เรามีตัวอย่างมากมายของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสังฆายนากฎหมาย เช่น เกาหลีใต้ เวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศด้อยพัฒนาอย่าง เคนยา ก็ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้

ประเทศไทยและสังคมไทยในฝันของคุณบรรยงเป็นอย่างไร ถ้าให้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นแบบไหน (พัฒนกิจ ถาม)

ผมคงตอบเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเป้าหมายของเศรษฐกิจมีอยู่ 3 ข้อ คือ

1. ความมั่งคั่ง มาตรวัดในปัจจุบันคือรายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) เป้าหมายของการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คือ 12,500 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ปัจจุบันเราอยู่ที่ประมาณ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งมาได้เพียงครึ่งทาง โจทย์คือทำอย่างไรที่จะยกระดับตรงนี้ได้

2. การกระจายความเท่าเทียม นอกจากความมั่งคั่งแล้วเราต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ต้องทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ซึ่งที่ผ่านมาเราค่อนข้างล้มเหลวในเรื่องนี้ การกระจายรายได้ของเราแย่มาก ซึ่งวิเคราะห์ได้เยอะมาก โดยเฉพาะการกระจายโอกาสที่สร้างความได้เปรียบอันไม่บังควรให้แก่คนบางกลุ่ม

3. ความยั่งยืน ผมพบว่าถ้าเอาความมั่นคงนำก่อน ความมั่งคั่งจะไม่มา คนที่มั่นคงที่สุดคนหนึ่งในโลกก็คือคิม จอง อึน แต่เกาหลีเหนือกลับจนกว่าเกาหลีใต้ 20 กว่าเท่า หรือประเทศจีนสมัยเหมาเจ๋อตง ก็มั่นคงมาก แต่เศรษฐกิจกลับย่ำแย่มาก ประเทศสเปนในสมัยจอมพลฟรังโกก็เช่นกัน

ผู้ชมแสดงความเห็นว่ายอมจำนนไปเถอะ เขากุมอำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว บ่นไปคิดไปก็เท่านั้น

ตรงนี้ผมเห็นแย้ง แน่นอนว่าเราไม่ได้เลือกคนที่เข้ามาปกครองเราในปัจจุบันก็จริง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องยกประเทศชาติทั้งประเทศให้กับเขา ยังไงเราก็ควรจะมีส่วนร่วมเท่าที่จะทำได้

SMEs เราต้องปรับตัวอย่างไร และประเทศไทยจะออกจากกับดับรายได้ปานกลางได้อย่างไร (คุณ Petch ถาม)

ในแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนไว้ในร่างแรก ก็พูดเหมือนกันว่าอยากจะสร้างสังคมที่เป็นผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็น SMEs

ทั้งนี้ SMEs เป็นเรื่องที่จะต้องคุยกันโดยละเอียดนะครับ เพราะข้อพิสูจน์ของโลกไม่ได้บอกว่า SMEs ทุกชนิดควรจะมีอยู่และมีตลอดไป มันต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าประเภทไหนที่ควรส่งเสริม และเมื่อส่งเสริมแล้วก็ยังมีอีกหลายมุมมาก แต่ถ้าจะถามเรื่อง SMEs ในแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าดีหรือไม่ ผมคงตอบยาก ต้องรอดูตัวแผนที่จะออกมาอีกที

ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตย แล้วมีนักการเมืองที่ ‘กุมอำนาจรัฐ’ แล้วบิดเบือนตลาดแบบที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้ว่าประเทศจะล่มสลายทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จไหม (คุณ Tayawat ถาม)

คำว่าล่มสลายนี่ไม่มีหรอกครับ เวลาคนถามว่าเราจะไปรอดไหม คือมันไปรอดแน่ๆ แต่ขึ้นกับว่าไปรอดแบบรุ่งเรืองหรือแบบยุ่งยาก ผมอยากจะยกตัวอย่างในอดีตช่วงที่ประเทศไทยพัฒนาแบบกระท่อนกระแท่น มีประเทศเพื่อนบ้านที่เคยร่ำรวยกว่าเราแล้วกลายเป็นจนกว่าเรามาก นั่นคือ พม่า

ในปี 2503 พม่ารวยกว่าเรามหาศาล แต่ต่อมามีการปฏิวัติ ทหารครองอำนาจ และวางแผนยุทธศาสตร์ชาติกันยกใหญ่ นายพลเนวินก็วางแผน ‘Road to Burmese Socialism’ เป็นสังคมนิยมและชาตินิยมด้วย คือปิดประเทศหมดเลย แล้วก็กุมอำนาจอยู่หลายสิบปี รัฐบาลทหารก็อ้างว่าใช้ศาสนา ชาตินิยม กับสังคมนิยมเป็นตัวนำ แต่พม่าในวันนี้ก็อย่างที่เห็น มีรายได้เพียง 1 ใน 5 ของไทย

ผมอยากจะบอกว่าประเทศที่ฉิบหาย มันฉิบหายจากเผด็จการทั้งนั้น เวียดนามเคยร่ำรวยกว่าเราสองเท่ากว่าๆ แต่พอกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เขาเหลือแค่ 1 ใน 3 ของเรา ฟิลิปปินส์เคยรวยกว่าเรา 2.5 เท่า แต่พอมาร์กอสเข้ามากุมอำนาจ ฟิลิปปินส์ก็ตกต่ำลง

สิ่งที่เราต้องแก้ คือการแก้ประชาธิปไตยแบบที่ผู้ถามอาจจะเกลียด ให้เป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมากขึ้น หลักการเรียบง่ายมาก คือต้องบังคับให้เปิดเผย และทำให้ภาคประชาสังคมทำงานได้ ซึ่งต้องหาทางพัฒนากันต่อไป

ถ้าเราไม่มีแผน หรือแผนทำงานไม่ได้ เราควรทำอะไรแทนแผน (คุณ Prin ถาม)

แผนนี้ถูกกำหนดให้มีโดยรัฐธรรมนูญ แต่รายละเอียดถูกกำหนดในกฎหมายลูก ถ้ามันยากเย็นเกินไป ก็ไปแก้ให้มันเบาลง จาก 20 ปีก็ลดลงมา จากที่แก้ไขปรับปรุงแผนยากก็ลดลงให้มันคล่องตัวมากขึ้น

จริงๆ เราก็มีแผนจากสภาพัฒน์ทุกปี แต่หลังจากแผน 6 ก็มีการเปลี่ยนรูปแบบ แผน 7-8 มาในลักษณะของเมนู เป็นแผนที่มีลิสต์ของมาตรการต่างๆ ไม่ได้ระบุว่าอันไหนต้องทำก่อนทำหลัง แล้วก็ให้รัฐบาลในแต่ละยุคเลือกไปทำ แต่หลายคนก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นแผนที่ไม่ชัดเจนเหมือนสมัยก่อน

ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมใดบ้างที่น่าจะมีความยั่งยืนในระยะยาว 

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า เมื่อใดที่รัฐบาลประกาศสนับสนุนอุตสาหกรรมไหน อุตสาหกรรมนั้นจะเจ๊งแน่นอน เพราะเวลารัฐบาลให้การสนับสนุนมากเกินไป จะทำให้เกิดการบิดเบือนและทำสิ่งที่ไม่ควรทำ

เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่เราเริ่มมีฟองสบู่ รัฐบาลไทยก็ประกาศอุดหนุนอุตสาหกรรม 5-6 อย่างและให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้เลยโดยไม่ต้องมีผลประกอบการ หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมเหล็ก ผลก็คือเจ๊งทุกราย

มีความเห็นอย่างไรกับการตรวจสอบและการประเมินผลของภาครัฐบ้าง (คุณ Chaiyut ถาม)

กลไกการตรวจสอบมีหลายมุมมาก รัฐธรรมนูญที่เน้นกลไกการตรวจสอบมากที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นฉบับที่ผมชอบมาก ประการแรกคือการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง พรรคเดียวสามารถจัดทีมบริหารได้และทำให้นโยบายมาสู่การปฏิบัติได้จริง

ประการที่สอง คือการสร้างกลไกตรวจสอบและคานอำนาจ กลไกและองค์กรอิสระทั้งหลายทุกวันนี้ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งนั้น

ประการที่สาม รัฐธรรมนูญนั้นบังคับให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น การตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ก็เกิดในรัฐธรรมนูญนั้น แต่พอนานเข้ามันก็ถูกทำให้บิดเบี้ยว กลไกการตรวจสอบค่อยๆ ถูกรวบอำนาจกลับสู่ส่วนกลางมากขึ้น

รัฐบาลท้องถิ่นควรจะมีทิศทางแบบไหน (นิพนธ์ ถาม)

รัฐบาลปัจจุบันพยายามรวบอำนาจกลับสู่ส่วนกลาง ซึ่งความจริงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าคุณเน้นความมั่นคง ก็ต้องทำแบบนั้น ซึ่งส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยเลย การที่เรามี อบต. อบจ. มันทำให้เราเห็นจุดบกพร่องเยอะ แต่ขณะเดียวกันเราก็เห็น อบต. อบจ. ที่ดี ซึ่งเราควรไปพัฒนาและปรับปรุงระบบเหล่านั้นให้ดีมากขึ้น แทนที่จะไปรวบกลับมาสู่ส่วนกลาง

ถึงที่สุดแล้วการกระจายอำนาจและทรัพยากร จะส่งผลไปถึงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันด้วย เพราะเมื่อประชาชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมมากขึ้น มันจะช่วยได้เยอะมาก เรามักจะบ่นว่าคนไทยไม่ฉลาด ไม่รู้เท่าทันนักการเมือง แต่ถ้าคุณกระจายอำนาจไปสู่พวกเขา มันจะเป็นแรงจูงใจให้เขาลุกมาทำเรื่องพวกนี้

บทบาทของเยาวชนกับบทบาทในการปฏิรูปประเทศในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ศุภวิทย์ ถาม)

ผมพบว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพสูงมาก เมื่อเทียบกับตัวเองสมัยเป็นนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ความคิด ความอ่าน ผมรู้สึกว่าสมัยนี้ดีกว่าเยอะ แต่เหมือนว่าคนรุ่นเก่าๆ เขาไม่ยอมลุกออกไปแล้วเปิดให้คนรุ่นใหม่ได้มีเวทีมากขึ้น ซึ่งในมุมของผม เราจะรอให้เขาปล่อยอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันด้วย

ประเทศไทยต้องปฏิรูปหลายด้านมากเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วเราจะทำให้มันเป็นจริงได้หรือไม่ (ผู้อ่านคนหนึ่ง ถาม)

คำว่าปฏิรูปที่เราพูดกัน ส่วนมากก็มาจากคำว่า reform ซึ่งคำนี้หมายถึงการ ‘จัดใหม่’ ซึ่งเวลาที่เราจัดใหม่ มันจะมีการ ‘แบ่งใหม่’ อยู่เสมอ แต่เมื่อมาดูในด้านผลประโยชน์ การปฏิรูปแบบนี้มันยากที่จะทำให้เกิดการวิน-วินกับทุกฝ่าย หลายคนอาจรู้สึกว่าเสียมากกว่าได้

การปฏิรูปที่ดีคือการเอาผลประโยชน์ที่เคยกระจุกตัวไปกระจายไปให้ประชาชนทั้งหมด ซึ่งมันยาก แล้วพอแบ่งให้คนละเล็กน้อย คนที่ได้อาจไม่รู้สึกว่าได้เท่าไหร่ แต่คนที่เสียเขาจะเห็นชัด

ยกตัวอย่างการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ก็ทำให้หลายคนรู้สึกว่าสูญเสีย พนักงานรัฐวิสาหกิจเดิมก็ถูกเร่งรัดเรื่องประสิทธิภาพมาก พ่อค้าที่เคยค้าขายกับรัฐวิสาหกิจอย่างสะดวก ก็มักไม่ชอบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว นี่คือเหตุผลใหญ่ที่ทำให้การปฏิรูปไม่ค่อยสำเร็จ ยิ่งเป็นการปฏิรูปใหญ่ ยิ่งเกิดยาก นี่เป็นสัจธรรม ฉะนั้นเวลาจะทำเรื่องพวกนี้ เราต้องมองให้ลึกซึ้งและใช้เวลาทำความเข้าใจกับสังคมให้ได้ ไม่เช่นนั้นการต่อต้านจะรุนแรงเสมอ

สิ่งที่ผมได้บทเรียนจากการทำงานคือ การปฏิรูปจะเกิดมากที่สุดก็ต่อเมื่อมีวิกฤต เพราะแรงผลักดันจะสูง แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากให้มีวิกฤต ถึงแม้ในวิกฤตจะมีโอกาสก็ตาม แต่เท่าที่ดูในตอนนี้ เราก็มีวิกฤตไม่เบาเหมือนกัน

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับรัฐบาลทหารมาระยะหนึ่ง คุณบรรยงเห็นวิธีคิดวิธีการทำงานของทหารอย่างไรบ้าง 

ถึงแม้ทหารอาจจะตั้งใจ แต่ก็มีลักษณะบางประการที่ผมตั้งคำถามว่า มันเหมาะกับบริบทของโลกปัจจุบันหรือเปล่า ผมจะเล่าเรื่องจากหนังสือ Outliers ของ Malcolm Gladwell ให้ฟัง เขาพูดถึงวัฒนธรรมทหารที่ทำให้เครื่องบินตก เขาบอกว่าเครื่องบินเกาหลีที่ตกบ่อยๆ มีงานวิจัยออกมาว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมทหาร คือการที่นักบินผู้ช่วยเชื่อคำสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่เถียง ไม่โต้แย้ง นี่เป็นสาเหตุหลัก

จากประสบการณ์ของผม ความเด็ดขาดก็มีประโยชน์ แต่ลักษณะสายการบังคับบัญชาแบบทางเดียวของทหารทำให้ข้อมูลและกระบวนการคิดต่างๆ ไม่ครบถ้วน และขาดการวิเคราะห์วิจารณ์ วัฒนธรรมทหารอีกอย่างที่ผมสังเกต คือยุทธวิธีทางทหารจะเน้นความแน่นอน ความถูกต้อง (Accuracy) มากกว่าความซับซ้อน (Complexity) แต่ในโลกปัจจุบันมันไม่เหมือนยุคเก่า การบริหารประเทศมันซับซ้อนมโหฬาร การไปตัดสินใจโดยมองทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายๆ มันใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ทั้งหมดที่ผมพูดมาในวันนี้ ไม่ได้บอกว่ายุทธศาสตร์ชาติไม่ดีนะครับ เพียงแต่เป็นการทำหน้าที่เท่าที่เราจะทำได้ ถึงแม้เราจะยังไม่เห็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับเต็ม แต่ผมก็ขอเชิญให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ เพราะกฎหมายอนุญาตให้เรามีส่วนร่วมได้อยู่ อย่าไปยกประเทศชาติให้ใครง่ายๆ

   
ขอบคุณข่าวจาก : www.the101.world
 
Visitors: 618,238