ทิศทางนวัตกรรม ปี 2015

 ทิศทางนวัตกรรมประหยัดพลังงาน ปี 2015
แหล่งที่มา : www.EnergySavingMedia.com  วันที่โพสต์ : 23 มกราคม 2558 
       
     จากสภาวะโลกร้อน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างได้พัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่ช่วยประหยัดพลังงานออกมาหลากหลายรูปแบบให้ได้เลือกใช้ตามลักษณะงานแต่ละประเภท เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการบ้านจัดสรร ที่พักที่อยู่อาศัย หรือสถาปนิกผู้ออกแบบ ตลอดจนผู้ที่ต้องการบ้านประหยัดพลังงาน
 
     สำหรับเทรนด์วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างประหยัดพลังงาน นั้น ยังคงเป็นฉนวนกันความร้อนอิฐมวลเบา วัสดุทดแทนไม้  กระเบื้องหลังคา  สีทาพื้นผนังอาคาร กระจกประหยัดพลังงานต่าง ๆ โดยจะถูกพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีวัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงานในแบบสำเร็จรูปที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับการก่อสร้างให้เกิดประสิทธิภาพทั้งด้านความแข็งแรง ประหยัดพลังงาน และช่วยลดเวลา ลดแรงงานในการก่อสร้างลง เช่น ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังสำเร็จรูป พื้นอาคารสำเร็จรูป เป็นต้น
 
     อย่างไรก็ตาม วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้ที่พักอาศัยประหยัดพลังงานนั้น มีนวัตกรรมที่นำระบบโซลาร์เซลล์ มาประยุกต์ใช้อีกด้วย อย่างเช่น หลังคากระเบื้องโซลาร์เซลล์ กระจกโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่อยู่ในระหว่างการวิจัยตลาดและความเป็นได้ถึงประสิทธิภาพการใช้งาน ทั้งนี้ ในมุมมองเรื่องของเทรนด์วัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงานและการเติบโตของวัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงานเป็นอย่างไรนั้น
 
     คุณสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดีเฮ้าส์ จำกัดในฐานะนายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เล่าให้ฟังว่า เทรนด์วัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง บ้านประหยัดพลังงาน ถ้าพูดถึงเฉพาะในแวดวงธุรกิจรับสร้างบ้านในเรื่องทิศทางการสร้างบ้านประหยัดพลังงานหรือว่าการเลือกใช้วัสดุที่ประหยัดพลังงานต้องยอมรับว่าตัวผู้ประกอบการโครงการบ้านจัดสรร หรือที่พักที่อยู่อาศัยยังมีอุปสรรคสำคัญ ในการที่จะตอบรับวัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงาน เนื่องจากผู้ประกอบการจะมองเรื่องของต้นทุนวัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นวัสดุที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น ราคาจึงสูงกว่าวัสดุก่อสร้างธรรมดาและไม่ได้ความนิยมจากผู้ประกอบการมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่เลือกใช้วัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
     ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอย่างมาก คือ เรื่องการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในเรื่องคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงาน  ถ้าอาศัยผู้รับเหมาก่อสร้างเพียงอย่างเดียวยังน้อยไป ผู้ผลิตเองต้องทำการบ้านต้องลงทุนสร้างแบรนด์ให้กับกลุ่มผู้บริโภคได้รู้จักและจดจำ ซึ่งในปี 2558 มองว่าระบบการก่อสร้างจะเติบโตขึ้น จะไม่ใช่ระบบการก่อสร้างแบบเดิม ๆ ที่เป็นงานผูกเหล็กตีไม้แบบเทคอนกรีต แต่จะเป็นการใช้คอนกรีตสำเร็จโครงสร้างเหล็ก แล้วมีวัสดุที่เป็นฉนวนหุ้ม ซึ่งจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็กรายใหญ่หันมาให้ความสำคัญทำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมากขึ้นโดยระบบก่อสร้างนั้นจะตอบโจทย์เรื่องของการประหยัดพลังงานมากขึ้น
 
     ตัวอย่างเช่น การใช้ฉนวนเข้าไปอยู่ตรงกลางผนังอาจเป็นแผ่นปูนสำเร็จไฟเบอร์ซีเมนต์ ไฟเบอร์บอร์ด ที่ระบบการก่อสร้างเอื้อให้ฉนวนเข้ามาอยู่ในการสร้างบ้านมากขึ้น  ปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ประกอบการคนไทยหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์กันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ตั้งแต่บ้านเล็ก ๆ ขนาด 40 ตารางเมตร  ไปจนถึงบ้านขนาด 100 ตารางเมตร สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว และมีคุณภาพ ซึ่งต้นทุนการก่อสร้างบ้านจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5- 15%ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ลูกค้าเลือก แต่ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพใช้คนงานน้อยลง มีประสิทธิภาพประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ ฉนวนกันความร้อน  กระจกเขียวตัดแสง วัสดุทดแทนไม้ ยังคงเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
 
     อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 คาดว่า ตลาดวัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงานจะเติบโตขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากวัสดุก่อสร้างจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีการนำไปใช้งานเยอะขึ้น ราคาก็จะปรับลดลงตลาดก็จะมีการแข่งขันสูงขึ้น ประกอบกับจะมีการเปิด ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ Asean Economics Community : AECที่จะมีการไหลเข้ามาของภาคธุรกิจวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ทั้งจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนเองหรือประเทศอาเซียนบวก 2 อย่างจีนที่เข้ามาแข่งขันจำนวนมากก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวแข่งขันในตลาดมากขึ้นส่วนผู้ประกอบการที่ปรับตัวและทำตลาดมาก่อนหน้านั้น ก็จะได้เปรียบคู่แข่งหน้าใหม่ในตลาด สำหรับภาคการขนส่งกับการขับเคลื่อนในปี 2558 ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการเปิดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อผู้ประกอบการในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายภาคส่วนแนะให้ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์เร่งยกระดับการบริการรับมือเปิด AEC ที่สำคัญภาครัฐเองก็ต้องเอาจริงเอาจังเรื่องการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ พร้อมแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น
 
     หน่วยงานภาครัฐต้องหันกลับมาให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ แก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกให้สามารถดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการให้ความรู้ ให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้ประกอบการ ให้ตื่นตัวรับมือการเปิดการค้าเสรี เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ออกกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ ลดขั้นตอนและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทย และต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มากกว่าที่ผ่านมา 
 
     ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยเองก็ไม่ควรที่จะนิ่งดูดาย ควรสานต่อการทำงานของภาครัฐด้วยการเร่งยกระดับการประกอบธุรกิจของตน ท่ามกลางแข่งขันที่จะเกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมเช่นกันพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพบริการให้มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง พัฒนาความรู้การบริหารจัดการให้กับบุคลากร และที่สำคัญคือให้ความรู้ด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจ กับตลาดที่ขยายมากขึ้นในแถบเอเชีย 
 
     ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ซึ่งผู้ให้บริการไทยมีความชำนาญด้านบริการขนส่งทางถนน เนื่องจากเป็นระบบการขนส่งสำคัญและมีเครือข่ายทั่วประเทศ นอกจากนี้คนไทยยังมีจุดเด่นในเรื่องการมีใจรักในการบริการมากกว่า แต่ก็มีจุดอ่อนที่ผู้ประกอบการในประเทศส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ดำเนินธุรกิจแบบไม่ครบวงจร ขาดการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ขาดการสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ เพราะไม่มีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงขาดศักยภาพในการแข่งขันและการให้บริการที่หลากหลายและเชื่อมโยงการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ที่สำคัญบุคลากรส่วนใหญ่ยังขาดทักษะและความรู้ด้านภาษา เทคโนโลยี การจัดการและไม่คุ้นเคยกับการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศนั่นเอง  
 
     เช่นเดียวกับสินค้าและบริการ ซึ่งจากคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปีที่ผ่านมาทุกภาคส่วนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวกมากขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการก็ได้รับอานิสงค์ไปด้วย เพราะการเข้าสู่ AEC สินค้าโมเดิร์นเทรนด์และร้านค้าปลีกตามแนวชายแดน จะเกิดการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการเพื่อรับกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของความเป็นเมืองและการค้าชายแดนที่ขยายตัว ที่มาพร้อมกับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะจุดยุทธศาสตร์ตามหัวเมืองใหญ่และ พื้นที่ที่มีศักยภาพตามแนวชายแดนธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจด้านสุขภาพ ก็จะเริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติจากสถานการณ์ในประเทศที่สงบเรียบร้อยและมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ผลักดันให้สินค้าและบริการด้านสุขภาพเติบโตเช่นกัน และสินค้าวัสดุก่อสร้างก็จะเติบโตตามไปด้วย เพราะเกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด การสื่อสารโทรคมนาคมก็เช่นกัน จากการผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลที่จำเป็นจะต้องมีการลงทุนในระบบโครงข่ายโทรคมนาคมตลอดจนในปี 2558 มีความเป็นไปได้สูงในการเปิดประมูลใบอนุญาตลงทุน 4G และสินค้าไอทีจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น
 
     ประเทศไทยกับเรื่องของการผลิตและส่งออกสินค้าก็จะเติบโตตามเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะไทยถือเป็นประเทศฐานการผลิตสินค้าต่าง ๆ เพื่อส่งออก ส่วนนี้จะเป็นภาคส่วนที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ด้วยเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบโซนยุโรปหรือประเทศแถบอาเซียนด้วยกันยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีความต้องการสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทย เช่น สินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่น อาหารแปรรูป และรถยนต์ รวมถึงการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการไทย เชื่อมโยงสายการผลิตข้ามประเทศและเป็นการเตรียมพร้อมการเปิดประตูสู่ AEC ทำให้สินค้าประเภท “Commercial” ที่ผลิตในประเทศเติบโตมากยิ่งขึ้นนั่นเอง 
 
     ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. ได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตของโรงงานควบคุม ประเภทผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พลังงานได้กำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไว้ โดยในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะมุ่งลดการใช้พลังงานลง 20% ภายในปี 2558 (ใช้ปี 2548 เป็นปีฐาน) และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ได้อย่างถูกต้อง และเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว พพ. จึงได้กำหนดเป้าหมายของการอนุรักษ์พลังงานขึ้น
 
     โดยในภาคุตสาหกรรมและธุรกิจ จะพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูงให้มีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานลงได้ ซึ่งจากการดำเนินการโครงการศึกษาเกณฑ์การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมและอาคารต่าง ๆ (SEC) และโครงการศึกษาเกณฑ์การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเหล็กมีเกณฑ์การใช้พลังงานโดยรวมอยู่ที่ 1.184 ktoe คาดว่า จะมีศักยภาพในการประหยัดพลังงานประมาณ 10% ดังนั้น พพ. จึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตของโรงงานควบคุม โดยมุ่งเน้นไปที่มาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต (Process Improvement)และการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือที่เรียกว่า ระบบ Major Change Equipment เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งจะทำให้ค่าการใช้พลังงานต่อหน่วยผลผลิตลดลง โดยในปีงบประมาณนี้ ส่วนโรงงานควบคุมประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการพลังงาน ในการฝึกอบรมตามแนวทางการปฏิบัติของพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550) ตามกิจกรรมและขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เช่น
 
     การจัดการพลังงาน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และมุ่งเน้นแนวทางวิธีปฏิบัติด้านการอนุรักษ์พลังงานในกระบวนการผลิตให้เหมาะสมกับประเภทอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตสูงสุดให้แก่โรงงานควบคุมประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์พร้อมทั้งการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปต่าง ๆ (ที่มีศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์) เพื่อวิเคราะห์หาผลประหยัดพลังงานให้โรงงานควบคุมนำไปเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ได้ด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง รวดเร็ว อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
 
     โดย คุณรุ่งเรือง สายพวรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้กล่าวถึงทิศทางการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมว่า ในปีนี้และในปีถัดไป  ทิศทางการประหยัดพลังงานไม่แตกต่างจากทุกปี  เพียงแต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ  เข้ามาเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอุปกรณ์โรงงานอุตสาหกรรม  อุตสาหกรรมแสงสว่าง เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน LED  กำลังได้รับความนิยมมาก หากใครไม่ใช้ LED ถือว่าล้าสมัย  หลอดไฟ LED  มีความสามารถสูงขึ้น  และมีการใช้งานมากขึ้น มีอุปกรณ์หลาย ๆ ตัวในภาคอุตสาหกรรมเน้นเรื่องของการประหยัดพลังงานมากขึ้น  เช่น  ระบบไฟฟ้า  หม้อต้มไอน้ำ  เตาเผา  ระบบอัดอากาศ  ชิลเลอร์ถ้าเทียบเคียงกับธุรกิจของ ESCO ที่เข้าไปให้คำแนะนำก็มีอยู่หลายตัว  และที่จะมีเพิ่มเข้ามา คือ  ESD หรือ บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานที่เข้ามาช่วยเสริมการทำงานของ ESCO ในอนาคต ก็จะมีการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น  
 
     นอกจากนั้น เรื่องของระบบควบคุม  BUILDING  AUTO  BEM  ที่ทำหน้าที่เหมือนกับตัวควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ หากพูดถึงการใช้พลังงานจะมีการติดตั้งตัวอุปกรณ์ และมีตัวควบคุมการทำงานคาดว่าในปีหน้าจะมีการใช้งานในลักษณะนี้มากขึ้น  เพราะจากการเดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมานั้น ก็มีหลาย ๆ องค์กรเข้ามาคุย พร้อมให้ข้อเสนอในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยในส่วนของซอฟต์แวร์ก็เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จะเป็นตัวควบคุมในการบริหารจัดการในตัวอุปกรณ์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนหรือติดตั้งอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานเข้าไป เช่น ติดตั้งชิลเลอร์ประสิทธิภาพสูง และในปัจจุบันได้มีการเพิ่มมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงหรือเพิ่มอุปกรณ์อื่น ๆ เข้าไปในระบบด้วย ซึ่งมีหลายตัวแต่ถ้าแต่ละตัวหากแยกกันควบคุมก็จะไม่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ดังกล่าวเพื่อเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการทำงาน พร้อมทั้งตรวจสอบและรายงานผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำอีกด้วย   
Visitors: 1,164,720