กฎหมายสิ่งแวดล้อมน่ารู้

กฎหมายสิ่งแวดล้อมน่ารู้

Credit : http://www.learners.in.th/blogs/posts/257768

 

กฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมประมาณช่วง พ.ศ. 2503 อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่านานาประเทศในโลกจะได้ตรากฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้น แต่กลไกแห่งกฎหมายดังกล่าวก็มักไม่ประสบผล และในปัจจุบัน กฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการโฆษณาและส่งเสริมกลไกการพัฒนาอย่างยั่งยืนการปฏิรูปกฎหมายสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ เป็นไปเพื่อพัฒนามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมที่ใช้มาตรการบังคับและควบคุม (command and control) ซึ่งผู้คนมักไม่พึงใจนัก ผลส่วนหนึ่งที่ได้จากการปฏิรูปดังกล่าว เป็นต้นว่า

- การจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม

- การวางมาตรฐานบางอย่าง เช่น ISO 14000  ซึ่งประกอบด้วย

ISO 1400 : หลักเกณฑ์ทั่วไปของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ISO 14001, 14004 : ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
ISO 14010, 14012 : การตรวจสอบสิ่งแวดล้อม
ISO 14031 : การตรวจสอบพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ควรรู้

1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535  บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ดินเสีย น้ำเน่า อากาศเป็นพิษ ป่าไม้ ต้นน้ำลำธารถูกทำลาย อันเนื่องมาจากการขยายตัวของประชากร การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ถูกต้อง และอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมประชาชน และองค์กรเอกชน ให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และราชการส่วนท้องถิ่นและกำหนดแนวทางปฏิบัติในส่วนที่ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษด้วยการจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดของเสีย และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมลพิษ และหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดมลพิษตลอดจนให้มีกองทุนสิ่งแวดล้อม  

การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการวางกรอบนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม การวางแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม การประกาศเขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม การกำหนดให้โครงการขนาดใหญ่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมหรือการรีไซเคิลเศษเหลือทิ้งของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ใด ๆ

2. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535  เป็นกฎหมายที่ออกใช้เพื่อควบคุมดูแลการประกอบกิจการโรงงานให้เหมาะสม โดยกำหนดให้แบ่งโรงงานตามประเภทชนิดหรือขนาดโรงงาน  แบ่งออกเป็น 3 ประเภท   คือ โรงงานจำพวกที่ 1 โรงงานจำพวกที่ 2 หรือโรงงานจำพวกที่ 3 แล้วแต่กรณี    กฎหมายกำหนดให้โรงงานจำพวกใดจำพวกหนึ่งหรือทุกจำพวกต้องปฏิบัติตามในเรื่องที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ลักษณะอาคารและลักษณะภายในของโรงงาน ลักษณะและชนิดของเครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ คนงานที่ต้องมีความรู้ตามประเภทชนิดหรือขนาดของโรงงาน หลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ กรรมวิธีการผลิต เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตราย ความเสียหาย ความเดือดร้อนที่อาจเกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์สินในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียง มาตรฐานและวิธีควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม การจัดให้มีเอกสารเพื่อการควบคุมหรือตรวจสอบ ข้อมูลที่จำเป็นที่ผู้ประกอบกิจการจะต้องแจ้งตามระยะเวลาที่กำหนด และการอื่นใดที่คุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน เช่น ในมาตรา 8 (4) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ กรรมวิธีการผลิตและการจัดให้มีอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใด เพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตรายความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่อาจเกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน ซึ่งอาจใช้อำนาจดังกล่าวในการกำหนดให้โรงงานปฏิบัติเกี่ยวกับการรีไซเคิลวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และการห้ามไม่ให้ใช้สารอันตรายบางอย่างในกระบวนการผลิต
3. พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522  เป็นกฎหมายจัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดหาพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม แล้วจัดให้เช่า เช่าซื้อ หรือขาย และให้บริการแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม และผู้ประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์หรือต่อเนื่องกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม  กฎหมายยังได้กำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เป็นต้นว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาจได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมตามจำนวนเนื้อที่ที่คณะกรรมการเห็นสมควรแม้จะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ คู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะเข้ามาในราชอาณาจักร ได้ตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร  แม้จะเกินจำนวนหรือระยะเวลาตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  อนุญาตให้นำหรือส่งเงินทุน เงินกู้ต่างประเทศ หรือเงินตามข้อผูกพันออกนอกราชอาณาจักรเป็นเงินตราต่างประเทศได้ การกำหนดเงื่อนไขบางอย่างให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการของเสียในกระบวนการผลิต คงเป็นไปในทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่สามารถกำหนดเลยไปถึงขั้นตอนหลังการขายที่ได้จำหน่ายให้กับผู้บริโภคแล้ว

4. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535  เป็นกฎหมายที่ขยายขอบเขตการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขในด้านต่าง ๆ ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อสามารถนำมาปรับใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที  กำหนดมาตรการกำกับดูแลและป้องกันเกี่ยวกับการอนามัยสิ่งแวดล้อมไว้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมให้มีลักษณะการกำกับดูแลและติดตาม และปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และบทกำหนดโทษตามกฎหมายปัจจุบันให้สามารถบังคับให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของสังคมปัจจุบัน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการกำกับดูแลและป้องกันเกี่ยวกับการอนามัยสิ่งแวดล้อม   

กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุขในการควบคุมดูแลและอนุญาตกิจการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และกำหนดการเก็บ ขน และกำจัดขยะมูลฝอย ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น จึงมีอำนาจจำกัดเฉพาะเรื่อง ไม่อาจที่จะกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการในการเรียกคืนเศษเหลือทิ้งของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคแล้ว คงทำได้แต่เพียงการเก็บขนขยะดังกล่าวและนำไปกำจัดตามหน้าที่โดยใช้งบประมาณของตนเอง

5. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  เป็นกฎหมายที่ออกมายกเลิก พระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516  เนื่องจากปรากฏว่ามีการนำวัตถุอันตรายมาใช้ในกิจการประเภทต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และวัตถุอันตรายบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ และสิ่งแวดล้อมได้ แม้ว่าในขณะนี้จะมีกฎหมายที่ใช้ควบคุมวัตถุที่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่ก็มีอยู่หลายฉบับและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหลายกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นได้ออกมาต่างยุคต่างสมัยกัน ทำให้มีบทบัญญัติที่แตกต่างกันและยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวัตถุมีพิษโดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมวัตถุอันตรายต่าง ๆ ทุกชนิด และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมวัตถุอันตรายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมกับจัดระบบบริหารให้มีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันกับการควบคุมดูแลวัตถุอันตรายดังกล่าวด้วย 

กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับกับบุคคลใดที่ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย แต่มิได้มีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ผลิตต้องเรียกคืนเศษเหลือทิ้งวัตถุที่ใช้แล้วมาบำบัดหรือรีไซเคิล

6. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจของประเทศ กฎหมายมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งเกี่ยวกับ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม องค์ประกอบคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่มเติมบทบัญญัติยอมให้ทำหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของต่างประเทศหรือมาตรฐานระหว่างประเทศ เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการส่งออกหรือเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว ปรับปรุงอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่และของคณะกรรมการและเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานและอัตราโทษสำหรับการกระทำผิด ตลอดจนบทบัญญัติลงโทษผู้แทนนิติบุคคลกรณีที่นิติบุคคลกระทำผิดกับบทบัญญัติเปรียบเทียบคดีด้วย การเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต การกำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้รับโอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสามารถประกอบกิจการผลิตสินค้าได้ทันทีและมีความต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม  

กฎหมายฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการควบคุมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานและอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้น อาจใช้ในการคัดเลือกสินค้าที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยเท่านั้นที่จะอนุญาตให้นำเข้าหรือจำหน่ายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้ผู้ผลิตต้องเรียกคืนเศษเหลือทิ้งของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์นำไปบำบัดหรือรีไซเคิล ยังอยู่นอกกรอบของกฎหมาย

7. กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะของไทย  กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทยมี 2 ลักษณะ คือ

7.1  กฎหมายการรักษาความสะอาด ห้ามทิ้งขยะมูลฝอยในที่ห้ามและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ 

- พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 

- พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

7.2 กฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของผู้รับผิดชอบในการกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งจะให้อำนาจกับท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ในการเก็บ ขน กำจัดขยะมูลฝอยในเขตที่ตนมีอำนาจหน้าที่ ได้แก่

- พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

- พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495

- พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เป็นต้นส่วน

ขยะอันตรายจะมีกฎหมายเฉพาะ เช่น ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมใช้กฎหมายโรงงาน กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม หรือกฎหมายวัตถุอันตราย กำกับดูแลแล้วแต่กรณี แต่ก็เป็นการกำหนดภาระหน้าที่ของทางโรงงานที่ต้องจัดการขยะของตนที่เกิดจากกระบวนการผลิตมิให้ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือปล่อยออกภายใต้การควบคุม โดยกำหนดค่ามาตรฐานมลพิษตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายสาธารณสุข ผู้กำจัดขยะประเภทนี้จะต้องเป็นผู้ชำนาญการโดยเฉพาะที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เช่น เจนโก้แต่ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวกับวัตถุอันตรายในการควบคุมนั้น เมื่อผู้ผลิตขายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคแล้ว หน้าที่ของผู้ผลิตก็หมดไป

ภาระหน้าที่ในการเก็บรวบรวมนำไปกำจัดจะตกกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่จะกำจัดขยะทุกประเภทโดยไม่มีการแยกกำจัดขยะมูลฝอยทั่วไปและขยะอันตราย ขยะที่เป็นเศษเหลือทิ้งของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ในประเทศไทยนั้นได้รับการดูแลเหมือนขยะทั่วไป บางส่วนอาจถูกแยกนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลโดยผู้ค้าของเก่า ส่วนที่ใช้ไม่ได้แล้วก็จะถูกทิ้งรวมไปในขยะมูลฝอยทั่วไป ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการการดูแลเป็นพิเศษ

ดังนั้น กฎหมายของไทยจึงขาดความเชื่อมโยงของการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า และไม่เป็นไปตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” ซึ่งเป็นหลักสากลที่นานาชาติใช้บังคับในประเทศของตน โดยเฉพาะกับสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้น เพิ่มภาระต้นทุนให้กับสินค้าส่งออกของไทย แต่ในทางกลับกันในการนำเข้าสินค้ามายังประเทศไทย ผู้ผลิตต่างชาติหรือผู้นำเข้าไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของตนเพราะไม่มีกฎหมายเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ทำให้ต้นทุนการนำสินค้าเข้ามาขายต่ำ

ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งที่หลายประเทศระบายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์คุณภาพต่ำ หรือสินค้าใช้แล้วเข้ามาขายได้ง่าย ราคาถูก ภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะดังกล่าวตกอยู่กับประชาชนคนไทยทุกคน เพราะในแต่ละปีรัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินงบประมาณจำนวนมากให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะ จึงควรต้องหาทางพัฒนากฎหมายของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เพื่อจะได้มีมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการกับเศษเหลือทิ้งของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ต่อไป

     

 

 

Visitors: 620,493