สรุปโดยรวม

มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆที่มีใช้ในต่างประเทศนั้น นอกจากมาตรการด้านภาษีแล้วมาตรการบังคับอีกมาตรการหนึ่งคือ มาตรการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอนุญาตให้มีการซื้อขายสิทธิดังกล่าวได้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Cap-and-Trade System หรือ Emission Trading Scheme โดยภาครัฐมีบทบาทในการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ (หรือระดับสาขาการผลิต) การจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่แหล่งกำเนิดก๊าซฯ และกำหนดบทลงโทษหากแหล่งกำเนิดนั้นปล่อยก๊าซฯ มากกว่าสิทธิที่ได้รับหรือที่ถือครองอยู่

 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทสมัครใจ (voluntary measures) ซึ่งหมายถึง การลดก๊าซเรือนกระจกที่ไม่มีกฎบังคับ หรือกำหนดระยะเวลา เป็นความสมัครใจขององค์กร ที่จะช่วยบรรเทาหรือลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ในการดำเนินการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมัครใจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติและต่อสภาพแวดล้อมหรือต่อสังคม อย่างน้อย 6 ประการ [นิรมล สุธรรมกิจ, 2552] ได้แก่

(ก)    ผู้ดำเนินการจะมีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ในกระแสการรณรงค์เพื่อลดปัญหา

โลกร้อน และภายใต้การตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

() กระตุ้นให้เกิดการร่วมมือกันของประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนต่างๆได้ในวงกว้าง

() สามารถสร้างภาพพจน์ที่ดี (goodwill) ให้แก่ผู้ดำเนินการได้

() กิจกรรม VER บางประเภทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติตามข้อสัญญา (commitment) เรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) ได้ เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกในชั้น บรรยากาศ การสนับสนุนทางการเงินในการปลูกป่าชุมชนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชน และสามารถช่วยลดปัญหาภาวะเรือนกระจกของโลกได้ด้วย เป็นต้น

() กิจกรรม VER บางประเภทสามารถนำไปสู่การดำเนินธุรกิจแบบ carbon neutral 2 และ/หรือขายผลิตภัณฑ์คาร์บอนที่เป็น neutral (carbon neutral products)3 ซึ่งอาจจูงใจให้ผู้บริโภคสินค้าหันมาสนับสนุนกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ และ

() กิจกรรม VER บางประเภทอาจสามารถเป็นมาตรการหนึ่งในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ ถ้ากิจกรiมนั้นได้มีการจดบันทึกกิจกรรมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งนอกจากจะช่วยสังคมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐได้อีกด้วย

 

มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมัครใจมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ [นิรมล สุธรรมกิจ,2552] ได้แก่

(1) การประหยัดพลังงานในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ การดำเนินการดังกล่าวนี้ต้องเกิดจากความสมัครใจของครัวเรือนและหน่วยธุรกิจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงในการใช้ยานพาหนะ ตลอดจนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เน้นประหยัดพลังงานหรือ การเลือกซื้ออาคารที่มีการออกแบบอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน

 

(2) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (energy efficiency) ในภาคการขนส่งและภาคการผลิต เป็นมาตรการนี้ได้รับความสนใจจากภาคขนส่งและภาคการผลิตเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นมาตรการที่สามารถช่วยประหยัดการใช้เชื้อเพลิงหรือลดรายจ่ายด้านพลังงาน (ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง) ได้ในระยะยาวแม้ว่าอาจจะต้องมีการลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรก็ตาม (เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ในเครื่องยนต์เพื่อลดการใช้น้ำมัน หรือเพื่อประหยัดน้ำมันในขณะจอดพักรถ) โดยภาครัฐดำเนินการให้เงินอุดหนุนหรือจัดทำการวิจัยให้ภาคเอกชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันและเครื่องยนต์หรือเทคโนโลยี การสร้างถนนเลี่ยงเมือง(เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด) และ การลดหย่อนภาษีเงินได้ ถ้ามีการดัดแปลงเครื่องยนต์ตามที่รัฐสนับสนุน เป็นต้น

(3) การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน เช่น พลังงานจากลม แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ4 และเชื้อเพลิงชีวมวล และ เป็นมาตรการที่เกิดขึ้นอย่างสมัครใจ แต่ต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ (เช่น ในรูปแบบของ Feed-in Tariff) มิเช่นนั้น กิจกรรมนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนที่สูงกว่าการใช้พลังงานดั้งเดิม (ไฟฟ้าจากถ่านหิน หรือ พลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียม)

(4) การจัดทำกิจกรรมประเภท Carbon Offset ซึ่งหมายถึงกิจกรรมลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายนอกโรงงานหรือบริษัท ในขณะที่กิจกรรมภายในโรงงานหรือบริษัทยังคงดำเนินการเหมือนเดิม (หรือ ไม่สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้) โดยส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือการให้เงินอุดหนุนแก่หน่วยงานขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือของรัฐในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือในพื้นที่ที่เคยเป็นป่ามาก่อนแต่ถูกทำลายไป หรือที่เรียกว่าการฟื้นฟูป่า หรือ Reforestation (forestation of  cleared land which was previously forested) การปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่ามาก่อน หรือที่เรียกว่า Afforestation เป็นต้น

(5) การติดฉลากคาร์บอน (carbon label)5 เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่รัฐให้การส่งเสริม เพื่อให้เกิดความตระหนักรับรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับตัวเลขปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต (เช่น Carbon Footprint Label) หรือปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างกระบวนการผลิต (เช่น Carbon Reduction Label ) มาตรการฉลากคาร์บอนนี้6 เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศยุโรป แม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประเทศเหล่านั้นยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการติดฉลากคาร์บอน แต่ก็เริ่มมีบางประเทศที่มีแนวโน้มจะบังคับใช้กับบางผลิตภัณฑ์ เช่น ฝรั่งเศส มีแนวโน้มจะบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด


 

ประเด็นที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ได้ดำริและเริ่มใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ แม้ว่าจะไม่มีพันธกรณีระหว่างประเทศ (ตามกรอบของ พิธีสารเกียวโต) และได้พยายามขยายบทบาทของกลไกภายในประเทศให้มีความเชื่อมโยงกับกลไกของ ประเทศอื่นๆมากขึ้น เช่น การจัดตั้งตลาดคาร์บอนของภาครัฐ ในประเทศอินเดีย และการได้รับทุนสนับสนุนการปลูกป่าจากแหล่งทุนภายนอกประเทศของเวียดนาม เป็นต้น

 

สำหรับมาตรการด้านภาษีคาร์บอน นั้น แม้ว่าจะเป็นมาตรการเก่าแก่ ที่เกิดขึ้นมาบนพื้นฐานของการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้พลังงานเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน แต่ปรากฏว่า มาตรการด้านภาษีคาร์บอน ก็ยังไม่มีการใช้แพร่หลายเท่าใดนัก จนกระทั่งกระแสความตื่นตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งมีแนวคิดที่จะดำเนินมาตรการด้านภาษีคาร์บอนอย่างจริงจัง เพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้หันไปในทิศทางที่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยใช้หลัก Polluter Pay Principle ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา บางประเทศกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบภาษีคาร์บอนภายในประเทศ


*******************************************************************************************





2 ธุรกิจแบบ Carbon Neutral หมายถึง ธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแหล่งอื่นๆ แทนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ทั้งนี้ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกในแห่งอื่นต้องเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจตน ซึ่งเปรียบเสมือนว่า ธุรกิจของตนนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ ศูนย์นั่นเอง

 

3 ผลิตภัณฑ์ประเภท carbon neutral product หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่ผู้ผลิตมีความสมัครใจที่จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้านั้น เช่น การปลูกป่า หรือการลดระยะทางการขนส่งสินค้า ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีลักษณะเป็น carbon neutral นั่นคือปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมอื่นมีค่าเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กระบวนการผลิตปลดปล่อยออกมา

 

4 การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (bio-fuel) เป็นการทำให้เกิด carbon neutral ได้ เนื่องจากว่า วัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรคาร์บอน กล่าวคือ เมื่อนำพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เป็นพลังงานนั้นก็สามารถถูกดูดกลับเข้าไปไว้ในต้นพืชได้อีก โดยเฉพาะต้นพืชที่ปลูกทดแทนต้นที่เก็บเกี่ยวไปเป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ดังนั้น การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ จึงเป็นการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน (renewable resources)

 

5 การติด ฉลากคาร์บอนเป็นการบ่งบอก ตัวเลขให้ผู้บริโภคทราบว่า กระบวนการผลิตสินค้านั้นมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเท่าใด ในปัจจุบันนี้ การระบุ ตัวเลขที่ระบุในฉลากคาร์บอนมีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน เช่น เกณฑ์แรก ฉลากคาร์บอนเป็นแบบ Carbon Footprint หรือ ฉลากตามรอยคาร์บอนนั้น ซึ่งเป็นการบ่งบอกปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งวัฏจักรชีวิตสินค้าเกณฑ์ที่สอง ฉลากคาร์บอนที่บ่งบอกระดับปริมาณลดลงของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงนั้นอาจจะมาจาก ฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน) เกณฑ์ที่สาม ฉลากคาร์บอนจะบ่งบอกอัตราการลด (ร้อยละ) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

Visitors: 635,077