4 เรื่องที่ได้เรียนรู้จากการล่มสลายของ “Thomas Cook”

 
แหล่งที่มา : www.brandbuffet.in.th วันที่โพสต์ :  18 ต.ค. 2562
       
4 เรื่องที่ได้เรียนรู้จากการล่มสลายของ “Thomas Cook”

ถือเป็นข่าวใหญ่ของเดือนกันยายน 2019 เลยทีเดียวกับการประกาศล้มละลายของ “Thomas Cook” บริษัทขายแพคเกจทัวร์แบบเบ็ดเสร็จสัญชาติอังกฤษอายุ 178 ปี โดยผลของการล้มละลายของ Thomas Cook ก็เป็นอย่างที่เราทราบกัน นั่นคือ Thomas Cook ต้องยุติการดำเนินงานทันที ทำให้มีนักเดินทางตกค้างอยู่ตามประเทศต่าง ๆ นับแสนคน และกลายเป็นภาระของทางหน่วยงาน British Civil Aviation Authority (CAA) ในการพาลูกทัวร์ของ Thomas Cook กลับบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งพบว่ามีการจัดเครื่องบินมากกว่า 40 ลำ ใน 64 เส้นทางเพื่อรับนักเดินทางเหล่านี้กลับมาเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ดี การล้มละลายครั้งนี้ไม่ควรถูกมองเป็นการล้มละลายธรรมดา เพราะมันกำลังสะท้อนถึงการเพิกเฉยต่อสัญญาณต่าง ๆ รอบตัวที่ส่งออกมาก่อนหน้าแต่ไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังด้วย

1. ภัยธรรมชาติคือความท้าทายของธุรกิจในอนาคต

หนึ่งในลางร้ายของ Thomas Cook เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่สหภาพยุโรปเจอกับคลื่นความร้อนครั้งใหญ่ ภัยธรรมชาติดังกล่าวส่งผลให้นักเดินทางที่เคยจองทัวร์ต่างประเทศของ Thomas Cook เปลี่ยนใจ และหันมาเที่ยวในประเทศบ้านเกิดแทน ผลก็คือ เกิดปัญหา Oversupply เพราะ Thomas Cook มีค่าใช้จ่ายในการเตรียมโรงแรมและสายการบินเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

แต่มันจะไม่เป็นปัญหาเฉพาะปี 2018 เพียงปีเดียว ในอนาคต ภัยธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ มีโอกาสจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการบริโภคทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยังของมนุษย์ ซึ่งทำให้บริษัททัวร์แบบดั้งเดิมต้องเผชิญความเสี่ยงในการบริหารจัดการต้นทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ

2. ธุุรกิจที่ขาดความยืดหยุ่นจะไปต่อได้ยากในการแข่งขันยุคใหม่

จากสถานการณ์ในข้อแรก จะเห็นได้ว่า ภาพของ Thomas Cook ไม่ต่างอะไรกับคนที่แบกน้ำหนักส่วนเกินเอาไว้เต็มไปหมด ทั้งภาระด้านสายการบิน – โรงแรม รวมถึงหน้าร้านที่มีมากมาย ซึ่งเมื่อเทียบกับธุรกิจจองทัวร์ออนไลน์อย่าง Expedia สิ่งที่ถือว่าเป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Expedia มีความ Lean มากกว่าในแง่ของการทำธุรกิจ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงแพกเกจต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น เมื่อลูกค้ารู้สึกว่าได้ดีลที่ตัวเองถูกใจมาครองแล้ว อัตราการแคนเซิลทริปทั้งในและนอกประเทศก็จะน้อยลงตามไปด้วย

ส่วน Thomas Cook การมีต้นทุนด้านหน้าร้าน สายการบินและโรงแรมถ่วงอยู่ทำให้พวกเขาขยับตัวได้ยาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อเจอปัญหาใหญ่ ๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับเป้านิ่ง เห็นได้จากกรณีการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit ที่คาราคาซังมาจนทุกวันนี้ สำหรับ Thomas Cook แล้ว Brexit เปรียบได้กับกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงเข้ามา (ซีอีโอของ Thomas Cook ยอมรับว่า Brexit คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บริษัทล้มละลาย) ทว่าพวกเขาก็ลืมมองตัวเองว่าปล่อยให้ตัวหนักเกินกว่าจะหลบได้ทัน จึงต้องสิ้นชีพไปในที่สุด

3. ผู้บริโภคเมินธุรกิจที่แจกแจง “ค่าใช้จ่าย” ไม่ได้

ต้องบอกว่าความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคเกิดขึ้นนานมากแล้ว ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกบ้านทุกครอบครัว ดังนั้นจึงไม่แปลกหากผู้บริโภคยุคใหม่จะเข้าถึงข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างรวดเร็ว และสามารถคำนวณได้ด้วยตัวเองว่า ในการเดินทางแต่ละทริปควรจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไร

ขณะที่บริษัททัวร์แบบออฟไลน์ไม่มีการชี้แจงในจุดนี้ เพราะพวกเขาจะรวมทุกอย่างเอาไว้ในแพกเกจแล้วตั้งราคา ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ได้เห็นค่าใช้จ่ายที่แท้จริงว่าพวกเขาจ่ายเงินให้กับอะไรไปบ้าง ดังนั้น เมื่อมีบริการอื่นที่ชัดเจนกว่า แจกแจงได้มากกว่า พวกเขาก็พร้อมจะเลือกในสิ่งที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

4. นักลงทุน (ก็) เมินธุรกิจที่แจกแจง “รายได้” ไม่ได้เช่นกัน

ก่อนล้มละลาย สิ่งที่ทีมบริหารของ Thomas Cook ทำก็คือการปิดหน้าร้านของตัวเองลงราว 20 กว่าแห่งเพื่อลดค่าใช้จ่าย (แต่ก็ยังเหลืออยู่อีกนับ 500 แห่ง) รวมถึงการวิ่งหาเงินทุนก้อนใหม่ โดยบริษัทสามารถหาเงินมาได้ 900 ล้านปอนด์จากบริษัทจีนอย่าง Fosun เมื่อเดือนสิงหาคม และกำลังวิ่งหาเงินอีกก้อนมูลค่า 200 ล้านปอนด์จากนักลงทุนเพื่อมาพยุงกิจการ แต่ผลก็คือไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ จากนักลงทุนเหล่านั้น


สาเหตุที่ไม่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอาจมาจากผลประกอบการที่ปรากฏ โดยมีรายงานว่า บริษัทที่รับหน้าที่ตรวจสอบบัญชีอย่าง Ernst & Young ได้มีการเตือน Thomas Cook ถึงแนวทางการทำบัญชีแล้วว่าเป็นการทำเพื่อให้ดูว่ามีตัวเลขกำไรมากขึ้น แต่ Ernst & Young ก็ถูกสื่ออังกฤษขุดเช่นกันว่าถึงจะพบข้อสงสัยระดับนี้แล้วแต่ก็ยังเซนต์ให้ Thomas Cook รวมถึงขุดไปพบว่า Ernst & Young ได้รับเงินค่าเป็นที่ปรึกษาจาก Thomas Cook มา 1 ล้านปอนด์ด้วยเช่นกัน


ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่า ธุรกิจที่เดินหน้าเข้าสู่ปัญหา จะมีสัญญาณต่าง ๆ หลุดรอดออกมาเตือนกันมากมาย ซึ่งหากพิจารณาดี ๆ สัญญาณทุกข้อเป็นสิ่งที่ Thomas Cook สามารถแก้ไขได้ แต่บริษัทก็เลือกที่จะปล่อยผ่าน และทำให้เกิดผลอย่างที่เราทราบกันดี นั่นคือการปิดตำนานด้วยการ “ล้มละลาย”
Visitors: 626,885