“สูงวัย”เปลี่ยนไป!! เรื่องที่นักการตลาด 79% ยังเข้าใจผิด ชีวิตวัยเก๋าอยากเริ่มต้นใหม่หลังเกษียณ

 
แหล่งที่มา : www.brandbuffet.in.th วันที่โพสต์ :  23 ต.ค. 2562
       
“สูงวัย”เปลี่ยนไป!! เรื่องที่นักการตลาด 79% ยังเข้าใจผิด
ชีวิตวัยเก๋าอยากเริ่มต้นใหม่หลังเกษียณ

ประชากร “สูงวัย” กำลังสร้างปรากฏการณ์ “ครองเมือง” ทั่วโลก ด้วยอัตราเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” นับจากปัจจุบันไปถึงปี 2050  ที่จะมีจำนวน 2,100 ล้านคน ซึ่งเป็นครั้งแรก ขึ้นมาแซงคนรุ่นใหม่ อายุ 10-24 ปี ที่มีจำนวน 2,000 ล้านคน  และก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มกำลังซื้ออันดับ 2 รองจากวัยทำงาน (อายุ 25-59 ปี) แนวโน้มสังคมสูงวัยนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เป็นเทรนด์ที่นักการตลาดต้องรู้และปรับตัวให้ทัน!

 

ในประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ตั้งแต่ปี 2000 ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วน  10%  คาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในปี 2021  ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุจะมีสัดส่วน 20% จากนั้นในปี 2035  ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super  Aged  Society) โดยมีประชากรสูงอายุถึง 30%

คำว่า แก่” ไม่เท่ากัน รู้สึกเด็กกว่าอายุ 9 ปี

อิปซอสส์  (Ipsos) บริษัทวิจัยระดับโลก ได้จัดทำรายงานวิจัย “Getting Older – Our Aging World” ในกลุ่มคนสูงวัยทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนมุมมองและสร้างความเข้าใจพฤติกรรมคนสูงวัยในยุคนี้

คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล Senior Client Office อิปซอสส์  กล่าวว่าตั้งแต่อดีตมีการกำหนดเกณฑ์คนสูงวัยไว้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันตัวเลข “อายุ” อาจจะทำให้ความเข้าใจต่อผู้สูงวัยคลาดเคลื่อน อย่างที่รู้กันว่าวัยเก๋า  กำลังก้าวมาเป็นกลุ่มกำลังซื้อขนาดใหญ่แซงกลุ่มมิลเลนเนียล

การเข้าใจชาวซิลเวอร์ (Silver Age) จึงมีความสำคัญ และต้องศึกษาลงลึกถึงความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แท้จริง การนิยามคำว่า “แก่” ของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน  ปัจจุบันค่าเฉลี่ยทั่วโลกมองว่า ผู้สูงวัยจะเริ่มต้นที่อายุ 66 ปี  มากที่สุดคือ ประเทศสเปนบอกว่าผู้สูงวัยเริ่มต้นที่อายุ 70  ปี  ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย บอกว่า 49 ปี ก็แก่แล้ว สำหรับประเทศไทย ตั้งเกณฑ์ 60 ปี เป็นอายุเริ่มต้นของกลุ่มสูงวัย

แม้ว่าแต่ละประเทศจะมองอายุกับคำว่าสูงวัยต่างกัน  แต่ผู้สูงอายุทั่วโลกต่างเห็นเหมือนกันว่า โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาจะรู้สึกเด็กกว่าอายุจริงถึง 9 ปี  ดังนั้น “ตัวเลข จึงไม่ใช่มาตรวัดที่แม่นยำอีกต่อไป

เมื่อตัวเลขไม่สะท้อนอายุจริง  วัยเก๋าไทย 64% บอกว่ารู้สึกเด็กกว่าอายุจริง และเกือบ 50%  ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนธุรกิจ  การเดินทางท่องเที่ยว  คนสูงวัยชาวฝรั่งเศส สัดส่วน 1 ใน 3 บอกว่าต้องการสร้างครอบครัวใหม่ หลังจากที่ใช้ชีวิตก่อนหน้านี้ไปกับการทำงาน เลี้ยงดูลูก

“ความต้องการของกลุ่มสูงวัย เรื่องการลงทุนหลังวัยเกษียณ เป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนยังไม่ตอบสนองจุดนี้ เห็นได้ว่าวัยเกษียณเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก”

เรื่องที่นักการตลาด 79% ยังเข้าใจผิด

งานวิจัยพบว่ายังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้สูงวัย โดย 79% ของนักการตลาด ยังใช้เกณฑ์ “อายุ”  คือ 60 ปีขึ้นไป เป็นตัวชี้วัดพฤติกรรมคนสูงวัย ด้วยมุมมองแบบเดิมๆ  คือ คิดว่าผู้สูงวัยไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้ ไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ

“เราไม่สามารถตัดสินพฤติกรรม หรือคาดเดาความต้องการของกลุ่มสูงวัยได้จากตัวเลขอายุอีกต่อไป”

เห็นได้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มสูงวัยทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่สัดส่วนคนสูงวัยใช้อินเทอร์เน็ต ขยับจาก 1% ในปี 2008  เพิ่มเป็น 10%  ในปี 2018  เป็นการใช้ผ่านมือถือเป็นหลัก เรียกว่าข้ามพีซี อุปกรณ์เริ่มต้นใช้อินเทอร์เน็ตของฝั่งสหรัฐ ยุโรป  กว่า 75%  ของผู้สูงวัยไทย มีความสนใจและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

“ความเชื่อที่ว่าผู้สูงวัยไม่ยอมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป”

เศรษฐกิจสูงวัยใหญ่สุด

ประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้มูลค่าการจับจ่ายของกลุ่มนี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในประเทศอังกฤษคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 3.2 แสนล้านปอนด์ ซึ่งนับเป็น 47%  ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ  เพิ่มขึ้นจาก 41% ในปี 2003   ขณะที่ ผู้สูงวัยในฝรั่งเศส เตรียมเงินไว้ท่องเที่ยว 2.2 หมื่นล้านยูโร  ในญี่ปุ่น กลุ่มสูงวัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 1.4 พันล้านล้านเยน  หรือ  80% ของตลาดการเงินทั้งหมด

ประเมินกันว่าในปี 2032 ในสหรัฐ เศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity Economy) หรือมูลค่าตลาดที่รวมทั้งสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยจะมีสัดส่วน 52% ใหญ่กว่าทุกตลาดหรือวัยอื่นๆ รวมกัน

สำหรับเศรษฐกิจสูงวัยในไทย  

 - สัดส่วนสูงสุด  95% ของผู้สูงอายุพร้อมใช้จ่ายสำหรับอาหารเพื่อดูแลตัวเอง 
 - รองลงมาจ่ายเพื่อรับประทานมื้อพิเศษนอกบ้าน 76% ,
 - ซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  76%,
 - ช้อปปิ้งเสื้อผ้าสำหรับตัวเอง  73% ,
 - จับจ่ายด้านสุขภาพและพักผ่อน 73%

คนไทยเมื่อก้าวเข้าสู่สูงวัย สิ่งที่ต้องการทำ อันดับแรก คือ ต้องการใช้ชีวิตสงบ 41%  ,ใช้เวลากับงานอดิเรกและพักผ่อน 37% , ใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว 30% , หาประสบการณ์ใหม่ๆในการใช้ชีวิต 24%, ใช้เวลาวันหยุดเพื่อท่องเที่ยว 24%

จากพฤติกรรมของกลุ่มสูงวัยดังกล่าว ถือเป็นโอกาสของธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (Healthcare ) การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์สูงวัย  โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เน้นการถ่ายรูป เพื่อโพสต์ลงโซเชียล มีเดีย เป็นสิ่งที่กลุ่มนี้ชื่นชอบ  กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับสูงวัย  รวมทั้งบริการทางการเงินหลังวัยเกษียณ

สูงวัยไทย 79% จะทำงานหลังเกษียณ

แม้ตลาดผู้สูงอายุจะสร้างโอกาสใหม่ๆ  ขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นก็ก่อให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงเช่นกัน  กลุ่มสูงวัยมีความกังวล 2 เรื่องหลัก คือ สุขภาพและสุขภาพ

กลุ่มสูงวัยโลก มีความกังวลมากที่สุด คือ การไม่มีเงินเพียงพอในการใช้ชีวิต 30%  รองลงมา  สูญเสียการเคลื่อนไหว 26% , สูญเสียความทรงจำ 24% , ไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ 22% , สูญเสียคนในครอบครัวและเพื่อน 20%

สิ่งที่กลุ่มสูงวัยไทยกังวล คือ การไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ 51% , การเจ็บป่วย 41% ,สูญเสียการเคลื่อนไหว 34% , มีเงินไม่พอในการใช้ชีวิต 32% ,สูญเสียความทรงจำ 27%  

ปัจจุบันกลุ่มสูงวัยไทยมี 11 ล้านคน  พบว่า 50%  มีประกันสุขภาพ และ 18%  มีประกันชีวิตแบบบำนาญ  จะเห็นได้ว่ายังมีกกลุ่มสูงวัยอีกกว่าครึ่งที่รัฐต้องดูแลสุขภาพ ขณะที่การวางแผนสำหรับใช้เงินหลังเกษียณยังมีไม่มาก

ดังนั้นกลุ่มสูงวัยไทย  79%  วางแผนที่จะทำงานต่อหลังเกษียณ เพราะกลัวว่าจะมีเงินไม่พอในช่วงวัยชรา  อีกทั้ง 1 ใน 5  ไม่มั่นใจว่าจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอหลังเกษียณ

ในประเทศไทยด้านหนึ่งผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่มีเงินและกำลังซื้อสูงกว่าในหลายกลุ่มอายุ  แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้สูงวัยจำนวนมากที่เข้าข่าย ยิ่งแก่ ยิ่งจน  ซึ่งสังคมผู้สูงวัยของไทย จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ดังนั้น “สังคมสูงวัย”  จึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับมือ!

Visitors: 627,551