“รายงานดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ปี 2561 (International Logistics Performance Index 2018 - LPI) ”

 
แหล่งที่มา : www.facebook.com/NESDCLogis วันที่โพสต์ :  3 ต.ค. 2562
       

รายงานดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ปี 2561
(International Logistics Performance Index 2018 - LPI)


สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Click

ธนาคารโลกได้จัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index : LPI) ตั้งแต่ปี 2550 โดยสำรวจความพึงพอใจในประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของแต่ละประเทศและรายงานผลการจัดอันดับทุก 2 ปี ในช่วงเดือนกรกฎาคม เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศและเป็นข้อมูลอ้างอิงในการขับเคลื่อนนโยบาย

โดยการจัดอันดับใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากแบบสำรวจ LPI ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และการขนส่งด่วน(Express Carrier) ที่มีการดำเนินการในประเทศนั้นๆ
- ผลการประเมินดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย -

ในปี 2561 LPI ของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 45 ในปี 2559 นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีคะแนนอยู่ที่ 3.41 คะแนน เลื่อนขั้นมาอยู่ในกลุ่มแรก (Logistics Friendly) จากกลุ่มที่สอง (Consistent Performers) สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้และความพึงพอใจในประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศที่ดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยเกณฑ์ชี้วัดที่มีพัฒนาการด้านอันดับมากที่สุด คือ ด้านความตรงต่อเวลาของการบริการ (Timeliness) มีอันดับดีขึ้น 24 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 28 จากอันดับที่ 52 ในปี 2559 รองลงมาคือ ด้านสมรรถนะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและธุรกิจ (Logistics Quality and Competence)ดีขึ้น 17 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 32 จากอันดับที่ 49 ในปี 2559 และด้านระบบติดตามและตรวจสอบสินค้า (Tracking & Tracing) ดีขึ้น 17 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 33 จากอันดับที่ 50 ในปี 2559
 
ในปี 2561 คะแนนเฉลี่ยของดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ของภูมิภาคอาเซียนปรับตัวสูงขึ้นเป็น 3.02 จาก 2.98 ในปี 2559 มีสาเหตุหลักจากพัฒนาการในด้านสมรรถนะผู้ให้บริการโลจิสติกส์
ทั้งภาครัฐและธุรกิจ และด้านระบบติดตามและตรวจสอบสินค้าที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 4.7 และ 4.5 ตามลำดับ

ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีพัฒนาการด้านอันดับดีที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีอันดับดีขึ้น 70 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 82 จากอันดับที่ 152 ในปี 2559 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่มีอันดับดีขึ้น 25 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 39 จากอันดับที่ 61 ในปี 2559 และสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่มีอันดับดีขึ้น 17 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 46 จากอันดับที่ 63 ในปี 2559

สำหรับประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น 13 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 32 ของโลกและเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยสหพันธรัฐมาเลเซียตกไปอยู่อันดับที่ 4 ของอาเซียน อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีคะแนนน้อยกว่าสหพันธรัฐมาเลเซียในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและเทคโนโลยีสารสนเทศ
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Click
Visitors: 628,971