ไทยพร้อมมี ‘พ.ร.บ.โลกร้อน’ ผุดปลายปี ’63 บังคับใช้เป็นประเทศต้นๆ

 
แหล่งที่มา : https://greennews.agency/
วันที่โพสต์ :  24 มิ.ย. 2562
       
ไทยพร้อมมี ‘พ.ร.บ.โลกร้อน’ ผุดปลายปี ’63 บังคับใช้เป็นประเทศต้นๆ

ย้อนกลับไปราว 4 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้จัดส่ง “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” หรือ “NDC” ที่กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยระบุไว้ว่าภายในปี 2573 ประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20% จากกรณีปกติ หรือเพิ่มเป็น 25% หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ

แม้ตามเป้าหมายแล้วจะยังคงเหลือเวลาอีกนับทศวรรษ แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็เริ่มที่จะโล่งใจได้มากขึ้น เมื่อตัวเลขข้อมูลล่าสุดจากผลการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2560 พบว่าประเทศไทยสามารถลดไปได้แล้วราว 13-14% ซึ่งก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 ที่ลดได้ราว 12% และด้วยอัตรานี้จะทำให้ในปี 2573 ไทยจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 28.2%

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่าหนึ่งในสาเหตุที่ตัวเลขของการลดก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ เป็นเพราะศักยภาพของแต่ละภาคส่วนที่สามารถทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ จนทำให้ภาระของการเดินหน้าตามเป้าหมาย NDC นั้นดูจะไม่ลำบากมากนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) หรือแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ต่างมีการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลในสัดส่วนที่สูงกว่าคาดการณ์ไว้ครั้งแรก ช่วยยกระดับตัวเลขก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้จาก 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็น 157 ล้านตันฯ ในปี 2573

ขณะเดียวกัน ยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น กองทุน NAMA Facility ที่ริเริ่มโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในไทย ทั้งในอุตสาหกรรมทำความเย็น (Thai RAC NAMA) หรือในเกษตรกรรมนาข้าว (Thai Rice NAMA) ด้วยงบประมาณสนับสนุนราวโครงการละ 15 ล้านยูโร (600 ล้านบาท) ยังไม่นับรวมกองทุนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการนำเสนอ ซึ่งทั้งหมดจะเข้ามาช่วยเสริมในสัดส่วน 5% เพิ่มเติมจากที่ประเทศทำได้

สำหรับความคืบหน้าปัจจุบัน สผ.ได้จัดส่งร่างแผนปฏิบัติการฯ ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานตามโรดแมป NDC ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอ ก่อนที่จะถูกนำมาใช้กับหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดคล้องกับแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ชาติ

ในระหว่างเดียวกันนี้ สผ.ยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ (MRV) ซึ่งจะถูกใช้ในกระบวนการเก็บตัวเลขการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละภาคส่วน รองรับมาตรการที่จะถูกกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเครื่องมือที่กำลังจะถูกนำมาใช้เพื่อให้การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศมีความเข้มข้นมากขึ้น คือ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.โลกร้อน ที่ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับแรกใกล้เสร็จสมบูรณ์ และคาดว่าคนไทยจะได้เห็นภายในปลายปี 2563 กลายเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่จะมีกฎหมายโลกร้อนเป็นกฎหมายเฉพาะ

ดร.พิรุณ ขยายความถึงจุดเริ่มต้นของแนวความคิดในการจัดทำ พ.ร.บ.โลกร้อน เมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า เกิดขึ้นหลังจากที่มีการมองกลไกการขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะ เพราะแม้แต่ในกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ก็มิได้มีการกำหนดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้เป็นหนึ่งในสาระของคำว่าสิ่งแวดล้อม

“ในเมื่อบริบทของ climate change นั้นกว้างและหลากหลาย และเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนมาก แล้วการขับเคลื่อนให้เกิดการบรรลุเป้าหมายทำด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงมีแนวคิดเรื่องของการพัฒนากฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” เขากล่าวเสริม

ขณะเดียวกัน ประเด็นดังกล่าวยังถูกระบุไว้แล้วในแผนการปฏิรูปประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่กำหนดไว้ว่าภายในปี 2563 ประเทศไทยจะต้องมีร่างแรกของ พ.ร.บ.โลกร้อน รวมถึงการมีอนุบัญญัติต่างๆ ฉะนั้น สผ.จึงอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกร่าง

เขายังอธิบายถึงรายละเอียดเนื้อหาภายใต้กฎหมาย ซึ่งจะมี 7-8 หมวด บรรจุตั้งแต่เรื่องของคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ แผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลดก๊าซเรือนกระจก ที่อาจมีผลผูกพันกับทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเรื่องของการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะให้หน่วยงานต่างๆ นำปัจจัยความเสี่ยงของ climate change เข้าไปผนวกในการทำแผนหรือโครงการ

พร้อมกันนี้ ภายในร่างแรกยังจะมีเรื่องของกลไกกองทุน หรือกลไกทางการเงินอื่นๆ เช่น ภาษี หรือตลาดคาร์บอน ที่จะถูกนำขึ้นมาใช้ พร้อมกับอนุบัญญัติต่างๆ ที่เสริมรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละหมวด ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ประชาชนคนไทยจะได้เห็นภายในปลายปี 2563

ดร.พิรุณ มองว่าการมีกฎหมายเข้ามานั้น จะทำให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนมีอำนาจเชิงการบริหารที่เชื่อมโยงได้ทุกภาคส่วน ต่างจากคำสั่งในปัจจุบันที่สามารถบังคับใช้ได้กับหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว ไม่มีผลผูกพันกับภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งในอนาคตการบังคับใช้กฎหมายโลกร้อนก็จะมีผลผูกพันกับภาคเอกชน และประชาชน เช่นเดียวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้

“แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดีคือน้ำหนักของการบังคับใช้กับภาคเอกชนและประชาชน เพราะ climate change ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเฉียบพลัน แต่เป็นสิ่งที่ต้องการการแก้ไขในระยะยาว ฉะนั้นรูปแบบวิธีการภายใต้กฎหมายต้องคิดให้ดี ซึ่งนี่จะถือเป็นเครื่องมือสำคัญ และทำให้เราเป็นประเทศต้นๆ ที่จะมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน” รองเลขาธิการ สผ. ระบุ

Visitors: 626,552