ส่องหลักสูตรวิทยาลัยเทคนิคญี่ปุ่น-ลาดกระบัง ปูทางสร้าง”นวัตกรหัวกะทิ” ป้อนอุตสาหกรรม 4.0

 
แหล่งที่มา : www.eeco.or.th/pr/news วันที่โพสต์ :  13 มิ.ย. 2562
       
ส่องหลักสูตรวิทยาลัยเทคนิคญี่ปุ่น-ลาดกระบัง
ปูทางสร้าง”นวัตกรหัวกะทิ” ป้อนอุตสาหกรรม 4.0

นับจากนี้ประเทศไทยจะมีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ต้องเร่งผลิตบุคลากรโดยเฉพาะด้านวิศวกรรมเพื่อมาช่วยสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเริ่มสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ด้วยระบบการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานสากล และสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ก็คือ วิทยาลัยเทคนิคของประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่าโคเซ็น (KOSEN) ขณะนี้มีการเปิดตัวการเรียนการสอนสถาบัน “KOSEN – KMITL” (ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 5 ปี พร้อมรับทุนรัฐบาลเต็มจำนวน  โดยเริ่มสอนรุ่นแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เพื่อสร้างนักนวัตกรหัวกะทิ 24 คน



นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นชาติอันดับต้นๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เห็นได้จากสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด จำนวน 55 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 26,845 ล้านบาท ยังคงรั้งแชมป์เหนือนักลงทุนจากจีนและสิงค์โปร์ เนื่องจากกิจการของญี่ปุ่นได้ขยายออกนอกประเทศมากขึ้นตามยุทธศาสตร์ Thailand Plus One โดยต้องการยกไทยเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนสำคัญ (Production Cluster) และย้ายฐานอุตสาหกรรมที่เป็นการใช้แรงงานแบบเข้มข้น (Labour Intensive) ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (กัมพูชา,ลาว, เมียนมา และเวียดนาม)

      การดำเนินยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นเช่นนี้ จะเป็นก้าวสำคัญให้ไทยยกระดับจากฐานการผลิตไปสู่ฐานการวิจัยและพัฒนา (R&D) ช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากไทยยังไม่สามารถผลิตวิศวกรนักปฏิบัติที่มีความสามารถในการวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ ก็อาจทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นขาดความเชื่อมั่น กลายเป็นจุดเสี่ยงให้กลุ่มอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นย้ายฐานการลงทุน ด้วยเหตุนี้จึงต้องเร่งสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยก่อตั้งสถาบันไทยโคเซ็น (Thai KOSEN) ขึ้นมารองรับ

       กระทั่งเปิดการเรียนการสอนสถาบัน KOSEN-KMITL อย่างเป็นทางการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สถาบันโคเซ็นจัดตั้งนอกประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันสร้างวิศวกรปฏิบัติการมาตรฐานสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภาคการศึกษา 2562 มีนักเรียนหัวกะทิกลุ่มแรก จำนวน 24 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว เป็นหลักสูตร 5 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์จาก สจล.

       ส่วนหลักสูตรการเรียนนั้นเข้มข้นไม่ต่างจากต้นแบบที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กับการเรียนรู้ในทักษะด้านสังคมและอารมณ์ เพื่อสร้างวิศวกรปฏิบัติการที่มีความสามารถสมบูรณ์แบบ ผู้เรียนจะได้ทำโปรเจคท์และฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมพันธมิตรขนาดใหญ่ ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอนจากทั้งสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับอาจารย์ของไทย เป็นที่ปรึกษาควบคู่กัน และจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น


       ภายใต้หลักสูตร 5 ปีนี้ จะแบ่งเป็นปีที่ 1 และปีที่ 2 จัดการเรียนรู้ชีวิตนักศึกษาโคเซ็นจากประสบการณ์ของรุ่นพี่โคเซ็น (KOSEN Alumni) และทัศนศึกษาการทำงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง, ปีที่ 3 ฝึกงานระยะสั้นในภาคอุตสาหกรรม 1-2 สัปดาห์, ปีที่ 4 ฝึกงานระยะยาวในภาคอุตสาหกรรมในประเทศหรือต่างประเทศ และปีที่ 5 ทำปริญญานิพนธ์โดยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม


รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการสถาบัน KOSEN – KMITL กล่าวว่า การให้ทุนเพื่อศึกษาสถาบัน KOSEN – KMITL เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี  ภายใต้การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 13 ปี งบประมาณทั้งหมด 4,700 ล้านบาท เป็นงบของรัฐบาลไทยประมาณ 1,200 ล้านบาท และเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น (Yen Loan) ประมาณ 2,700 ล้านบาท และอีก 800 ล้านบาท เป็นงบก่อสร้างอาคารเรียนของสถาบัน KOSEN – KMITL ใน สจล. เพื่อร่วมกันผลิตนักนวัตกรรุ่นใหม่มารองรับการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC จำนวน 1,000 คน และมีเงื่อนไขว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องทำงานในบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นและในประเทศไทยเป็นหลัก
    

         สำหรับการเปิดสอนจะมีทั้งหมด 6 สาขา แบ่งเป็น สจล. เปิดสอน 3 สาขา รับนักเรียน จำนวน 500 คน ได้แก่
         1.สาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) ศึกษาด้านการออกแบบ วิเคราะห์ สร้าง และบำรุงรักษาเครื่องจักรกลสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์ และกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ

         2.สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) ศึกษาด้านการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เพื่อประดิษฐ์ ผลิต และดูแลรักษาระบบเชิงกล

         3.สาขาวิศวกรรมโยธาอัจฉริยะ (Smart Civil Engineering) หรือการเรียนด้านวิศวกรโยธา แ
         ส่วนอีก 3 สาขาจำนวน 500 คน เป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

        โดย สจล. นับเป็นสาขาแห่งที่ 52 ของสถาบันโคเซ็นที่จัดตั้งนอกประเทศญี่ปุ่น ส่วนแห่งที่ 53 จะตั้งที่ มจธ.ในปี 2563 ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้ยังคงขาดแคลนบุคลากรเป็นจำนวนมาก

        “เงินทั้งหมดเป็นเงินของรัฐบาลไทย แต่ที่ญี่ปุ่นไม่สามารถให้เงินให้เปล่ากับไทยได้อีกแล้ว เพราะไทยเป็นประเทศทีี่มีรายได้ปานกลาง จึงให้การช่วยเหลือเป็นเงิน Yen Loan ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก และยังเป็นความร่วมมือว่าอาจารย์ของสถาบันโคเซ็นที่ญี่ปุ่นทางด้านวิศวกรรมจะเข้ามาถ่ายทอดความรู้ในประเทศไทย และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษาได้รับองค์ความรู้ตามต้นแบบ เสมือนได้ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะสถาบันโคเซ็นญี่ปุ่นไม่เคยรับนักศึกษาจากต่างชาติ ซึ่งปีนี้ญี่ปุ่นส่งอาจารย์เข้ามาสอนแล้ว 8 คน ร่วมกับอาจารย์ของประเทศไทยอีกประมาณ 10 คน เพราะปีแรกเรียนภาษาอังกฤษ ส่วนปีที่ 2 จะได้รับสปิริตของญี่ปุ่นแท้จริงจากการเรียนภาษาญี่ปุ่น ดังนั้นนักศึกษาทั้ง 24 คน จะได้รับการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อให้เป็นตัวตั้งต้นของการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ และเชื่อมั่นว่าโปรเจกต์นี้จะช่วยเพิ่มการลงทุนในพื้นที่ EEC มากขึ้น“

        “คอนเซปต์การสอนของสถาบันโคเซ็นจะมุ่งเน้นการคำนวณเป็นหลักและมีมาตรฐานเทียบเท่าหลักสูตรมหาวิทยาลัย หากประสบความสำเร็จจะเป็นโมเดลสำหรับการยกระดับการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับวิทยาลัยอาชีวะของไทยที่ยังเป็นระบบเดิม ๆ มุ่งเน้นด้านวินัย แต่จะต้องปั้นนักศึกษา ปวส. หรืออาชีวะที่มีทักษะและมีศักยภาพให้เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ ดังนั้นการเรียนการสอนแบบโคเซ็นจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีความพร้อมในการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น”  

หนุนสร้าง Social Doctor พัฒนาสังคมเพื่ออนาคต

        ด้าน ดร.อิซาโอะ ทานิกุชิ ประธานสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ (NIT) ของญี่ปุ่น กล่าวว่า สถาบันโคเซ็นญี่ปุ่น มุ่งสร้างกำลังคนที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศและสังคมโลก การศึกษาระบบนี้จึงไม่ได้ให้แค่ทักษะด้านวิชาการ แต่จะผลิตบุคลากรเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เปรียบเสมือนการสร้างหมอของสังคม (Social Doctor) เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้า นักศึกษาจึงต้องมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียน เพื่อเป็นนักนวัตกรที่ดีและเป็นกำลังของสังคมต่อไป


        ขณะเดียวกันเชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดไอเดียและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยแรงงานวิศวกรระดับสูง โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมาก เนื่องจากไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตของเอเชียแต่ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่ญี่ปุ่นเองมีวิศวกรเหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาอัตราการเกิดลดลงและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือกับชาติเอเชียครั้งนี้จะทำให้เกิดแรงงานคนกลุ่มสาวจำนวนมาก และญี่ปุ่นก็ยินดีที่จะรับนักศึกษากลุ่มนี้เข้าไปฝึกงานและทำงานในบริษัทญี่ปุ่น โดยมั่นใจว่าจะมีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งในหลายประเทศ ยื่นข้อเสนอในการทำงานอย่างแน่นอน

 

คัดหัวกะทิสายวิทย์-คณิต ปั้น ”นวัตกรรุ่นใหม่” ป้อนอุตสาหกรรม EEC

       สำหรับนักเรียนหัวกะทิรุ่นแรก จำนวน 24 คน จะเป็นสารตั้งต้นชั้นดีในการสร้างนักนวัตกรรุ่นใหม่ให้กับประเทศไทย โดยคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และสนใจศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อมาบ่มเพาะทักษะความรู้เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต


เด็กชายปรเมษฐ เขียวทาสี นักเรียนรุ่นแรก สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ของสถาบัน KOSEN – KMITL นักเรียนหัวกะทิสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เกรดเฉลี่ย 3.98 จากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดพิษณุโลก มีความสนใจเรื่องการประดิษฐ์คิดค้น การประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ อยู่แล้ว ทำให้เมื่อทราบว่ามีทุนการศึกษาของสถาบัน KOSEN – KMITL ซึ่งจัดการเรียนการสอนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ จึงสมัครขอทุนดังกล่าวทันที และคาดหวังว่าการเรียนการสอนแบบโคเซ็นตลอดระยะเวลา 5 ปีจากนี้ จะทำให้ตนเองได้รับความรู้และทักษะด้านวิศวกรรม, ความคิด, ทัศนคติ, วัฒนธรรม และภาษา ทำให้เกิดความเข้าใจและประสบการณ์ที่ตรงจุดมากขึ้น เพราะเป็นการเรียนทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎี เน้นการถามตอบ การแสดงความคิดเห็น การเขียนโปรแกรม ทำให้สามารถใช้อุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง ส่วนครอบครัวก็ให้การสนับสนุนให้ทดลองทำและเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบไปเรื่อย ๆ เพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง  

ด้าน เด็กหญิงณิชาภัทร ธิติธนากร นักเรียนรุ่นแรก สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ของสถาบัน KOSEN – KMITL นักเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เกรดเฉลี่ย 3.89 จากโรงเรียนศึกษานารี ชื่นชอบการต่อหุ่นยนต์และเขียนโปรแกรมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงสนใจการศึกษาต่อด้านวิศวกรรม และคาดหวังว่าสถาบัน KOSEN – KMITL จะทำให้ได้รับทั้งทักษะความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่น การเขียนโปรแกรม การพัฒนาหุ่นยนต์ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการทำงานของตนเองในอนาคต โดยวางแผนว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศที่กำลังมุ่งสู่ Thailand 4.0 เปลี่ยนประเทศจากการทำนา ทำไร่ ไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่มากขึ้น    

       ทั้งนี้ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 1,700 บริษัท ทำให้ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นรวมมากกว่า 8,000 บริษัท เข้ามาตั้งฐานการผลิตและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตก้าวหน้า แต่หากต้องการให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในระยะยาว สามารถรับมือกับความผันผวนภายนอกประเทศได้อย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเติบโตบนฐานของนวัตกรรมและเทคโนโลยี หาพันธมิตรเพื่อมาช่วยสร้างสังคมยุคใหม่ และสร้างนักนวัตกรรุ่นใหม่เข้ามาตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

ข้อมูลและภาพประกอบจาก www.kosen.kmitl.ac.th/?page_id=379

Visitors: 621,119