ถอดบทเรียนจาก “เอสโตเนีย” ประเทศที่หน่วยงานรัฐคิดแบบ e-government ใช้ AI พิพากษาคดี

 
แหล่งที่มา : www.brandbuffet.in.th วันที่โพสต์ :  1 เม.ย. 2562
       
ถอดบทเรียนจาก “เอสโตเนีย” ประเทศที่หน่วยงานรัฐคิดแบบ
e-government ใช้ AI พิพากษาคดี

เมื่อเอ่ยถึงการเป็น “รัฐบาล” ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม น้อยครั้งที่จะมีภาพของการปรับใช้นวัตกรรม หรือการนำเทคโนโลยีสุดล้ำเข้ามาใช้งาน แต่ไม่ใช่สำหรับเอสโตเนีย ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน และกำลังนำ AI เข้ามาช่วยงานรัฐบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ตำแหน่ง Chief Data Officer ดูแลจริงจัง

โดยผู้ที่นำ AI เข้ามาช่วยงานรัฐบาลเอสโตเนียคือ Ott Velsberg ว่าที่ ดร. วัย 28 ปี จากมหาวิทยาลัย Umeå University ในสวีเดน เขาคนนี้คือคนที่นำ IoT และดาต้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานบริการของภาครัฐ โดยรัฐบาลเอสโตเนียจ้างเขาเข้าทำงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในตำแหน่ง Chief Data Officer เพื่อสร้างโปรเจ็ค AI ให้กับกระทรวงต่าง ๆ นำไปให้บริการกับประชาชน

ปัจจุบัน Velsberg ได้นำ AI มาให้บริการกับชาวเอสโตเนียแล้ว 13 โปรเจ็ค โดยที่รัฐบาลไม่ต้องจ้างข้าราชการเพิ่ม

AI ทำอะไรได้บ้าง?

ยกตัวอย่างโปรเจ็ค AI ของเอสโตเนีย เช่น มีการนำภาพถ่ายดาวเทียมของหน่วยงานทางอากาศของสหภาพยุโรปที่ส่งเข้ามาเป็นประจำทุกสัปดาห์ มาจับคู่กับภาพถ่ายเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรในประเทศ และใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อตรวจสอบว่า ไร่นาของใครที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในการตัดหญ้าแห้งไปแล้วแต่ไม่ยอมทำตาม เพียงแค่นี้ ก็สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว และไม่ต้องใช้คนจำนวนมากไปเดินตรวจสอบไร่นาด้วยตัวเองแต่อย่างใด

โปรเจ็ค AI นี้ช่วยให้รัฐบาลเอสโตเนียประหยัดเงินไปได้ 665,000 ยูโรในปีแรกที่นำมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เจ้าหน้าที่ต้องไปเดินสำรวจด้วยตัวเอง ทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับเกษตรกรที่ไม่ปฏิบัติตามได้มากขึ้น

อีกหนึ่งตัวอย่างคือการใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งช่วยจับคู่คนที่ตกงานกับบริษัทที่กำลังหาพนักงานอยู่ โดยอิงจากทักษะที่พวกเขาระบุไว้ในเรซูเม่ โปรเจ็คนี้พบว่า AI สามารถช่วยให้ชาวเอสโตเนียหางานใหม่ได้หลังจากตกงานเพียง 6 เดือน หรือมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบเดิมที่ใช้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการถึง 58%

ตัวอย่างที่สามคือการใช้ระบบอัตโนมัติ กับการสมัครเข้าโรงเรียน ซึ่งทำให้เด็กชาวเอสโตเนียถูกส่งชื่อเข้าโรงเรียนในย่านที่เด็กอาศัยอยู่ให้โดยอัตโนมัติ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลและพาลูกตัวเองไปสมัครแต่อย่างใด เหตุที่ทำได้ เพราะทางเอสโตเนียมีการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาล และแชร์ข้อมูลนี้กับโรงเรียนในท้องถิ่น ซึ่งในจุดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ AI แต่เป็นการทำงานของระบบอัตโนมัติเท่านั้น

แต่ตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้สูงสุดในการนำ AI มาใช้งานก็คือการที่กระทรวงยุติธรรมของเอสโตเนียขอร้องให้ Velsberg และทีมงานออกแบบผู้พิพากษาโดยใช้ AI เพื่อตัดสินในคดีที่มีความเสียหายไม่เกิน 7,000 ยูโรให้ ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นพัฒนาแล้ว และเป็นไปได้ว่าจะเริ่มใช้งานจริงภายในปีนี้

หลักการทำงานคือจะให้ทั้งโจทก์และจำเลยอัปโหลดเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเข้ามาในระบบ เพื่อให้ AI ตัดสิน อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลก็เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายทั้งสองฝ่าย หากไม่พอใจผลการตัดสินก็สามารถอุทธรณ์กับผู้พิพากษามนุษย์ได้เช่นกัน

แน่นอนว่ากระทรวงยุติธรรมของเอสโตเนียค่อนข้างพอใจกับระบบดังกล่าว เนื่องจากทำให้ผู้พิพากษา และทนายความมีเวลาไปพิจารณาคดีที่ยากกว่าได้

ประชาชนว่าไง? 

เมื่อถามถึงการยอมรับ ต้องบอกว่า ชาวเอสโตเนีย 1.3 ล้านคนนั้นมีความคุ้นเคยกับบริการออนไลน์พอสมควร โดยปัจจุบันพวกเขามีฐานข้อมูลประชาชนอยู่ในส่วนกลาง ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถใช้ National ID Card เข้าถึงบริการของรัฐบาลเอสโตเนียได้แบบ 100% และ 99% ของบริการจากภาครัฐสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง

ฐานข้อมูลของภาครัฐยังเชื่อมต่อกับส่วนงานต่าง ๆ ผ่านอินฟราสตรักเจอร์ที่เรียกว่า X-Road ที่ทำให้ระบบสามารถแชร์ดาต้าระหว่างกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชาวเอสโตเนียสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่ามีใครเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาบ้าง โดยการล็อกอินเข้าไปในพอร์ทัลของรัฐบาล

เทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นมากขึ้น ในประเทศที่มีกำลังคนไม่มากนัก โดยปัจจุบัน 22% ของชาวเอสโตเนียที่รับราชการ ซึ่งแม้จะดูเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ประเทศมีแล้ว ก็ถือว่าน้อยพอสมควรหากจะบริการในเรื่องต่าง ๆ  ให้ดีพอ

Source

Source

Visitors: 629,876