‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ระเบิดเวลาในรุ่นลูกรุ่นหลาน

 
แหล่งที่มา : https://greennews.agency
วันที่โพสต์ :  21 มี.ค. 2562
       
‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ระเบิดเวลาในรุ่นลูกรุ่นหลาน

ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นำเสนอในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 54 ระบุว่า ตัวอย่างข้าวทั้งหมด 54 ตัวอย่าง จากการวิจัยพบการปนเปื้อนแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานสูงสุด 4 ตัวอย่าง ปนเปื้อนโครเมียมเกินค่ามาตรฐานสูงสุดพบในข้าวขาว 33.33% ข้าวกล้อง 23.81% และข้าวสีนิล 50% โดยข้าวสีนิลมีการปนเปื้อนตะกั่วเกินค่ามาตรฐานสูงสุดคิดเป็น 83.33%

ขณะที่ข้าวขาวและข้าวกล้องมีการปนเปื้อนของตะกั่วเกินค่ามาตรฐานสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 40.74% และ 2.81% [วิภาดา ศิริอนุสรณ์ศักดิ์ และคณะ, การวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก (แคดเมียม โครเมียม และตะกั่ว) ในข้าวไทย (2559)]

นอกจากนี้ยังมีอีกตัวอย่างที่ชาวบ้านลำห้วยคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ต้องป่วยล้มตายจากสารพิษที่โรงงานของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยลงสู่ลำน้ำ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขไปตรวจสอบก็พบว่าผู้ป่วยมีสารตะกั่วในเลือดเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นที่มาของการยื่นฟ้องศาลของชาวบ้าน 150 คน ซึ่งกว่าจะได้ชัยชนะต้องใช้เวลานานร่วม 20 ปี

อันตรายของสารแคดเมี่ยม เมื่อสะสมในร่างกายปริมาณมากจะไปทำลายไต รวมทั้งระบบประสาทและสมอง ในกรณีสตรีมีครรภ์อาจมีผลให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้ เมื่อสะสมในกระดูกจะทำให้กระดูกผุ และยังเป็นสารก่อมะเร็งที่ไต ต่อมลูกหมาก และอาการเลือดจางอีกด้วย ที่ผ่านมาทำให้หลายประเทศแบนสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่มีการปนเปื้อนแคดเมียม

ผู้ที่ได้รับสารแคดเมี่ยมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจนถึงขั้นป่วยจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรงแสนสาหัส ซึ่งแคดเมี่ยมสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าทางน้ำ อาหาร หรืออากาศที่หายใจเข้าไป ด้วยแคดเมียมเป็นธาตุที่ละลายน้ำได้ จึงสามารถสะสมในพืช อาหารในระดับที่เป็นพิษต่อคนและสัตว์ได้ [ธนภัทร ปลื้มพวก และคณะ,ปริมาณแคดเมียมในข้าวที่ปลูกในดินนาปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่ ลุ่มน้ำแม่ดาว จ.ตาก ประเทศไทย (2557)]

โรคนี้เคยเกิดขึ้นรุนแรงมากในญี่ปุ่นเมื่อราว 30-40 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับโรคมินามาตะและโรคคาวาซากิ เพราะยุคนั้นญี่ปุ่นมีการทิ้งสิ่งของต่างๆ ที่มีส่วนผสมของแคดเมี่ยม ตะกั่ว และปรอท เป็นองค์ประกอบกันอย่างเรี่ยราดทั้งบนบกและในทะเล แคดเมี่ยม ตะกั่ว และปรอทจึงปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายของคนและสัตว์ โดยเฉพาะปลา ยิ่งชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคปลาทำให้มีผู้ป่วยจากการรับสารพิษเหล่านี้กันมาก

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยพบว่า ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electronic Equipment : WEEE) ในบ้านเรานั้นนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกที และชิ้นส่วนต่างๆ ของซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท และอื่นๆ อีกหลายอย่าง

ทั้งนี้ หากนำไปกำจัดโดยวิธีการเหมือนการจัดการขยะทั่วไปทั้งวิธีการเผาหรือฝังกลบ ก็จะเกิดการรั่วไหลของสารต่างๆ ไปสู่ดินและแหล่งน้ำ ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน รวมทั้งลงสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาขน  

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการแก้ปัญหาหลัก จึงได้เสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง “ถูกวิธี” เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลของสารพิษและโลหะหนักที่จะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

สาระสำคัญของกฎหมายที่ว่านี้ไม่กระทบต่อกิจการค้าของเก่าและซาเล้งที่ทำมาหากิน แต่ใช้ความร่วมมือจากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในการรับคืนซากผลิตภัณฑ์เหล่านั้น โดยการนำหลัก Polluter Pays Principle หรือหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่ายมาใช้ เพราะปัจจุบันผู้ผลิตไม่ได้คิดต้นทุนในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นรวมไว้ ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการ ปล่อยให้เป็นภาระของภาครัฐและประชาชน ซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล

กฎหมายที่ว่านี้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …” ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรีและเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และ สนช.มีมติรับหลักการไป เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา ซึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวได้มีการนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับและกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยได้พิจารณาเสร็จและส่งให้ประธาน สนช. เพื่อพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562

อย่างไรก็ดี ด้วย สนช.มีกฎหมายสำคัญที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก หากไม่สามารถหยิบยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นพิจารณาได้ทัน ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องตกไป ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิดต่อไปในรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะหากมีการปนเปื้อนสู่ดินและแหล่งน้ำต้องใช้เวลานานซึ่งกรณีเกิดปัญหาสารพิษขึ้นในญี่ปุ่นเขาต้องใช้เวลาจัดการนานถึง 30-40 ปีทีเดียว

ก่อนหน้านี้ ปีเตอร์ บักเคอร์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด และมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ขณะที่รายงานของสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2018 ทั่วโลกมีการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 48.5 ล้านตัน โดยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 20% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งหากแต่ละประเทศยังไม่ลงมือแก้ปัญหาดังกล่าวนี้อย่างจริง สหประชาชาติคาดการณ์ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มเป็น 120 ล้านตัน ภายในปี 2050

ดังนั้น กล่าวสำหรับประเทศไทย หากร่างกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถูกผลักดันออกมาใช้บังคับในเร็ววัน อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงกับผลกระทบจากซากอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาล แม้รัฐบาลจะห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วก็ตาม


อ้างอิง: “กฎหมายซากอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายดีแต่ไม่ผ่าน สนช.” โดย จิรวัฒน์ จงสงวนดี นักกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, BBC Thai

Visitors: 629,934