ชีวมวลเชื้อเพลิงลดโลกร้อน ตอนที่ 1:ไบโอชาร์คืออะไร?

 
แหล่งที่มา : https://scimath.org/
วันที่โพสต์ :  18 มี.ค. 2562
       
ชีวมวลเชื้อเพลิงลดโลกร้อน ตอนที่ 1:ไบโอชาร์คืออะไร?

ภาพที่ 1 ถ่านชีวมวลไบโอชาร์ 
ที่มา https://pixabay.com/ ,markroad1230
ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าพลังงานจากธรรมชาติของเราในทุกวันนี้มีน้อยกันเหลือเกิน ทั้งนี้เนื่องมาจากพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของมนุษย์เราเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เป็นการเพิ่มบริมาณคาร์บอนให้กับบรรยากาศแล้ว ยังก่อให้เกิดภาวะขาดสมดุลของธรรมชาติอีกด้วย

ดังนั้นแล้วถึงเวลาแล้วรึยังที่เราทุกคนจะต้องหันมาใช้พลังงานทดแทนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน  พลังงานทดแทนอีกประเภทหนึ่งที่กำลังจะกล่าวถึงนั่นก็คือ พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลหรือเชื้อเพลิงชีวภาพ  แล้วสิ่งเหล่านี้หมายถึงอะไร? เรามาศึกษารายละเอียดกันดีกว่านะคะ

           ถ่านชีวมวล หรือ ไบโอชาร์ (Biochar) คือ วัสดุที่อุดมด้วยคาร์บอน ผลิตจากการให้ความร้อนมวลชีวภาพ (biomass) โดยไม่ใช้ออกซิเจนหรือใช้น้อยมาก เรียกกระบวนการนี้ว่าการแยกสลายด้วยความร้อน (pyrolysis) ซึ่งมีสองวิธีหลักๆ คือการแยกสลายอย่างเร็วและอย่างช้า การผลิตไบโอชาร์ด้วยวิธีการแยกสลายอย่างช้าที่อุณหภูมิเฉลี่ย 500 องศาเซลเซียส จะได้ผลผลิตของไบโอชาร์มากกว่า 50% แต่จะใช้เวลาเป็นชั่วโมง ซึ่งต่างจากวิธีการแยกสลายอย่างเร็วที่อุณหภูมิเฉลี่ย 700 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลาเป็นวินาที ผลผลิตที่ได้จะเป็นน้ำมันชีวภาพ (bio-oil) 60% แก๊สสังเคราะห์ (syngas) ได้แก่ H2, CO และ CH4 รวมกัน 20% และไบโอชาร์ 20% (Fisher, 2005)

           ถ่านชีวภาพ (Biochar) มีความหมายแตกต่างจากถ่านทั่วไป (Charcoal) ตรงจุดมุ่งหมายของการใช้ประโยชน คือเมื่อกล่าวถึง Charcoal จะหมายถึงถ่านที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ Biochar คือถ่านที่ใช้ประโยชน์เพื่อกักเก็บคาร์บอนลงดินและปรับปรุงดิน (Ricks,2007) การกักเก็บคาร์บอนในดินด้วยการแยกสลายมวลชีวภาพด้วยความร้อนจะได้คาร์บอนถึง 50% ของคาร์บอนที่มีอยู่ในมวลชีวภาพ คาร์บอนที่ได้จากการเผามวลชีวภาพจะเหลือเพียง 3% และจากการย่อยสลายโดยธรรมชาติหลังจาก 5-10 ปี จะได้คาร์บอนน้อยกว่า 20% ปริมาณของคาร์บอนที่ได้จะขึ้นกับชนิดของมวลชีวภาพ สำหรับอุณหภูมิจะมีผลน้อยมากถ้าอยู่ระหว่าง 350-500 องศาเซลเซียส (Lehmann et al.,2006)

ประโยชน์ของถ่านชีวภาพ สามารถสรุปได้ 4 ประการหลักดังนี้

          1. ช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากถ่านชีวภาพสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศในระยะยาวได้ด้วยการกักเก็บคาร์บอนในดิน

          2. ช่วยปรับปรุงดินและผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากเมื่อนำถ่านชีวภาพลงดิน ลักษณะความเป็นรูพรุนของถ่านชีวภาพจะช่วยกักเก็บน้ำและอาหารในดิน และเป็นที่อยู่ให้กับจุลินทรีย์สำหรับทำกิจกรรมเพื่อสร้างอาหารให้ดิน เมื่อดินอุดมสมบูรณ์จะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น

          3. ช่วยผลิตพลังงานทดแทน เนื่องจากกระบวนการผลิตถ่านชีวภาพจากมวลชีวภาพด้วยการแยกสลายด้วยความร้อนจะให้พลังงานชีวภาพที่สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อการขนส่งและในระบบอุตสาหกรรมได้ 

          4. ช่วยในกระบวนการจัดการของเสียประเภทอินทรีย์วัตถุได้ เนื่องจากเทคโนโลยีไบโอชาร์มีศักยภาพในการกำจัดของเสียที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นมิตรได้ 

แหล่งที่มา

อรสา สุกสว่าง. 2552. เทคโนโลยีถ่านชีวภาพ: วิธีแก้ปัญหาโลกร้อน ดิน และความยากจนในภาคเกษตรกรรม. การประชุมวิชาการเรื่อง สภาวะโลกร้อน: ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน, 5-6 พฤศจิกายน 2552 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน.

Rick Davies. 2007. Agri-char / Bio-char References: On its potential for carbon sequestration, improved soil fertility and sustainable energy. United Kingdom.   Retrieved on 3 December 2018 from http://www.shimbir.demon.co.uk/biocharrefs.htm

Lehmann, J., Gaunt, J. & Rondon, M. 2006. Bio-char Sequestration in Terrestrial Ecosystems – A Review. Mitigation and Adaptation Strategies for Global Change. March 2006, Volume 11, Issue 2, pp 403–427.

Glaser, B., Lehmann, J. and Zech, W.: 2002, ‘Ameliorating physical and chemical properties of highly weathered soils in the tropics with charcoal – A review’, Biology and Fertility of Soils35, 219–230.

Fischer, G., Prieler, S. and van Velthuizen, H.: 2005, ‘Biomass potentials of miscanthus, willow and poplar: results and policy implications for Eastern Europe, Northern and Central Asia’, Biomass and Bioenergy. 28, 119–132.

Visitors: 620,476