‘ธุรกิจร้านหนังสือ’ กับโอกาสหลังทรานส์ฟอร์มมาขาย ‘ประสบการณ์’ ที่ทำได้มากกว่าแค่รอด แต่คือโมเดลสร้างดาวรุ่งดวงใหม่

 
แหล่งที่มา : www.brandbuffet.in.th วันที่โพสต์ :  13 มี.ค. 2562
       
‘ธุรกิจร้านหนังสือ’ กับโอกาสหลังทรานส์ฟอร์มมาขาย ‘ประสบการณ์’
ที่ทำได้มากกว่าแค่รอด แต่คือโมเดลสร้างดาวรุ่งดวงใหม่

ถือว่าอยู่ในเทรนด์ที่ธุรกิจกำลังดาวน์ลง แต่หลังจากเริ่มตีโจทย์ธุรกิจได้ว่า ต้องเป็นมากกว่าแค่ “ร้านขายหนังสือ”​ แต่ต้องมีความสามารถในการสร้าง Communities และเป็นพื้นที่สำหรับสร้างประสบการณ์​ แรงบันดาลใจ หรือ​มอบไอเดียต่างๆ ให้แก่ผู้มาเยือนได้ โดยเฉพาะการออกแบบร้านหนังสือให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มักมองหา Third Place เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ต่างๆ ในแบบที่ต้องการมากขึ้น

ทำให้หน้าที่ของร้านหนังสือในปัจจุบันต้อง Beyond ได้มากกว่าแค่เป็นร้านขายหนังสือ แต่ต้องทำหน้าที่ในการขายประสบการณ์ เพื่อเป็น Experience Destination ​แก่ผู้มาเยือนได้ด้วย 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการรายหลักๆ ในธุรกิจร้านหนังสือ ที่ต้องเพิ่มวิธีคิดในมิติที่มากกว่าแค่การมีโปรดักต์ หรือแค่ความหลากหลายของหนังสือต่างๆ ไว้รองรับผู้อ่านเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่ไม่ต่างจากผู้ประกอบการในธุรกิจรีเทลรายใหญ่ๆ ​​ที่ต้องสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า เพื่อป้องกันการถูก Disrupted ทั้งจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

B2S Think Space ฮีโร่โมเดล สร้างการเติบโต   

อาจจะด้วยจุดแข็งและข้อได้เปรียบในฐานะอีกหนึ่งแขนขาของธุรกิจรีเทลรายใหญ่อย่างเซ็นทรัลกรุ๊ป ทำให้บีทูเอสจับทิศทางในการปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว และส่งโมเดลธุรกิจใหม่ที่ชื่อว่า “บีทูเอส ธิงค์สเปซ”​ (B2S Think Space) ออกมาทดลองตลาดเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลพลาซ่า อีสต์วิล ด้วยพื้นที่มากถึง 3,000 ตารางเมตร จนกลายเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมที่หลากหลาย ​ ​​​

ซึ่งต้องถือว่าเป็นการเดินทางมาอย่างถูกทาง เพราะโมเดลใหม่ของบีทูเอสนี้สร้างการตอบรับที่ดี ทำให้ศักยภาพของธุรกิจร้านหนังสือที่ภาพรวมอุตสาหกรรมนั้นอาจจะมองดูค่อนข้างซบเซา เพราะ Core Product ในกลุ่ม Publishing ที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถไปต่อได้ ต่างทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ​แต่ธุรกิจบีทูเอสกลับเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ฐานะทางการเงินและศักยภาพทางธุรกิจของบริษัทแม่อย่าง บมจ.​ซีโอแอล ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น โดยผลประกอบการในปี 2561 ซีโอแอลมีรายได้รวม 12,511 ล้านบาท เติบโต 2.4% โดยมีกำไรสุทธิ 733 ล้านบาท เติบโตได้ถึง 46%

คุณอดิเรก ราชกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บีทูเอส จำกัด ให้ข้อมูลถึงผลประกอบการของบีทูเอสในปี 2561 ที่ผ่านมาว่า สามารถทำยอดขายเติบโตได้กว่า 2.5% จากปีก่อนหน้า โดยทำยอดขาย​ 3,985 ล้านบาท พร้อมให้สาเหตุหลักของการเติบโตว่ามาจากความสำเร็จของการปรับปรุงร้านให้เป็นคอนเซ็ปต์ B2S Think Space โดยในในปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงร้านเป็นโมเดลใหม่นี้เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล พระราม3, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า และ เซ็นทรัลบางนา หลังจากเปิดสาขาเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัล โคราช ไปก่อนหน้านี้

และตามแผนในปีนี้จะเดินหน้าปรับร้านบีทูเอสทั้งใน กทม. และตามหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีอยู่ให้เป็นรูปแบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 10 สาขา โดยสาขาแรกที่เริ่มปรับปรุงในปีนี้คือ สาขาเซ็นทรัล พระราม9 ซึ่งถือเป็นสาขาที่ 6 ของโมเดล B2S Think Space ขณะที่สาขาอื่นๆ ​จะมีการพัฒนาเพิ่มเติมตามมา อาทิ เซ็นทรัล ลาดพร้าว และเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น ขณะที่จำนวนสาขาใหม่ในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 14 แห่ง จากปัจจุบันมีสาขารวม 114 แห่ง


“เราไปศึกษาโมเดลเกี่ยวกับการปรับตัวของธุรกิจหนังสือจากหลากหลายประเทศเพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการศึกษาไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน หรือในยุโรปอย่างอังกฤษ ​ประกอบกับพยายามศึกษาทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับไลฟสไตล์ของลูกค้าในปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้ร้านหนังสือเป็นพื้นที่ที่สามารถมอบแรงบันดาลใจ หรือไอเดียใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิตให้กับลูกค้าได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้น”​

แหล่งรวม Passion ต่อยอดเครือข่าย  

สำหรับการขยาย B2S Think Space ในปีนี้ เริ่มด้วยการเปิดตัวสาขาพระราม 9 ในคอนเซ็ปต์ใหม่ Passion Library” เพื่อให้พื้นที่ทุกตารางเมตรเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ใจกลางเมือง และครบครันที่สุดสำหรับการค้นหา “Passion” ด้วยหลากหลายมิติที่ไม่ใช่เพียงแค่การอ่าน บนพื้นที่กว่า 1,000 ตร.ม. ชั้น 7 เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม9 โดยได้แบ่งพื้นที่เป็น 5 โซน ได้แก่ Lifestyle Book Space, Lifestyle Stationery Space, Play & Learn Space, Lifestyle&Gadget Space และ Art &Craft Space ​สำหรับเปลี่ยนบีทูเอสให้เป็นพื้นที่สำหรับการรวมตัวของคนมี Passion และต่อยอดสู่การสร้างสังคมและขยายไปสู่เครือข่ายใหม่ๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

READING COMMUNITY สังคมสำหรับคนรักการอ่าน ศูนย์กลางสำหรับการพบปะแลกเปลี่ยน และแชร์เรื่องราวดีๆ กับ นักคิด นักเขียน กับนักอ่าน เพื่อเติมเต็มความรู้เชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้กับสังคมผ่านงานอีเว้นท์ เพื่อให้ทุกประสบการณ์ของนักอ่านไม่สะดุดทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

LEARNING COMMUNITY สังคมแห่งการเรียนรู้ จุดเริ่มต้นสำหรับครอบครัวสร้างสรรค์ ศูนย์กลางของการพัฒนาเสริมทักษะเด็กทุกช่วงวัยผ่านหนังสือ สื่อการเรียนรู้ต่างๆ การเสวนาแนะแนวการเลี้ยงลูก และเวิร์คช้อปดีๆ ที่จะทำกันได้ทั้งครอบครัว

CREATIVE COMMUNITY สังคมของผู้หลงใหลงานศิลปะ งานประดิษฐ์ จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดไอเดียใหม่ๆ ผ่านกิจกรรม workshop art & craft กับศิลปิน นักวาดภาพชื่อดังทั้งในไทยและต่างประเทศ

BOARD GAMER COMMUNITY สังคมสำหรับทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ที่ชอบความท้าท้าย และใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ ได้ร่วมเล่นบอร์ดเกมส์ใหม่ๆ ที่มาเปิดตัวก่อนใครที่ B2S และพบบอร์ดเกมส์หลากหลายประเภททั้งเกมส์กลยุทธ์ เกมส์เจรจาต่อรอง เกมส์สำหรับครอบครัว เกมส์สำหรับปาร์ตี้ และเกมส์สร้างความร่วมมือ

ไม่ใช่แค่รอด แต่จะเติบโตสู่ “Star” 

นอกจากการมีโมเดลใหม่ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันแล้ว บีทูเอสยังเดินเกมตามนโยบายรวมของทั้งเครือ โดยเฉพาะการพยายาม Synergy หน่วยธุรกิจต่างๆ ภายในเครือเพื่อเสริมประโยชน์ระหว่างกัน ทำให้ในปีที่ผ่านมาได้เริ่มพัฒนาโมเดลที่เป็นการ Collaborated กันในเครือซีโอแอลอย่าง B2S X OfficeMate โดยเลือกโลเกชั่นที่โรบินสันไลฟสไตล์ เซ็นเตอร์ ชลบุรี เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของทั้งสองธุรกิจ เพราะ จ. ชลบุรีเป็นพื้นที่ ที่มีกลุ่มเป้าหมายทั้ง B2B ที่เป็นทาร์เก็ตหลักของออฟฟิศเมท และ B2C ซึ่งเป็นทาร์เก็ตของบีทูเอส

นอกจากนี้ ยังได้แบ่งพื้นที่ภายในร้าน เพื่อเปิดเป็นโซน E book เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์การอ่านอีบุ๊ค และเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยส่งเสริมและ Educated ให้ตลาดอีบุ๊คเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมธุรกิจ เพราะช่วยเพิ่มจำนวนนักอ่านได้มากขึ้น และหลังจากได้ทดลองให้บริการมาก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักอ่านเป็นอย่างดีเช่นกัน

ขณะที่ในมุมมองของ คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน)​ ที่มีต่อศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของบีทูเอส มองว่า บีทูเอสเป็นธุรกิจที่มีอนาคต​ที่ดี โดยเฉพาะหลังจากการทรานส์ฟอร์มธุรกิจมาสู่โมเดล B2S Think Space รวมทั้งการเติมโปรดักต์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคนี้เข้ามาในร้านมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Play & Learn​ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการใช้พื้นที่ธิงค์สเปซได้ดี​ รวมทั้งยังเพิ่มกลุ่มเป้าหมายทั้งในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือกลุ่มครอบครัวเพื่อเข้ามาใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้มากขึ้น และเติบโตได้ดีในสายตานักลงทุน

“บีทูเอสเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส และมีศักยภาพในการเติบโต โดยเชื่อว่าหลังจากทรานสฟอร์มธุรกิจได้ลงตัวจะมาเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่แข็งแรงใน Ecosystem ของซีโอแอล โดยเฉพาะศักยภาพของธุรกิจที่คาดว่าในปีหน้าจะสามารถขยับไปสู่กลุ่มที่เป็น Star หรือจัดเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตได้ดีทั้งในการสร้างยอดขายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและการทำกำไรได้ในระดับสูง จากปัจจุบันอาจจะยังเป็นแม่วัว (Cash Cow) ที่แม้จะมีส่วนแบ่งในตลาดสูงแต่ยังไม่สามารถเติบโตหรือทำกำไรได้มากนัก จากสภาพตลาดโดยรวมที่เผชิญอยู่ แต่ด้วยการวางกลยุทธ์อย่างถูกต้องกับทิศทางตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ก็เชื่อว่าในปีหน้าบีทูเอสจะกลายเป็นอีกหนึ่ง Star ดาวรุ่ง​​ได้เช่นเดียวกับอีก 2 ธุรกิจของซีโอแอล อย่างออฟฟิศเมทและเม็พที่มีศักยภาพที่ดีรวมทั้งโอกาสในการดำเนินธุรกิจยังเปิดกว้างอยู่มาก”​

นายอินทร์ Rethink มุ่ง Content Experience 

ขณะที่ฟากผู้นำในตลาดร้านหนังสืออย่างนายอินทร์ก็มีโมเดลในการดำเนินธุรกิจในทิศทางเดียวกัน​​​ แต่ในปีนี้จะเห็นการ Rethink ธุรกิจในหลายมิติเพิ่มเติมเข้ามา ทั้งแนวคิดในการขยายสาขาที่ไม่เน้นการเพิ่มปริมาณสาขาจำนวนมากแต่จะใช้แต่ละสาขาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการทำ Membership Engagement เพิ่มมากขึ้น เพื่อลด Price War ในธุรกิจ รวมทั้งเพิ่ม Value Perception ของลูกค้าสมาชิกที่มีต่อการถือบัตรสมาชิกนายอินทร์ให้เป็น Privilege Card จริงๆ มากกว่าการเป็นแค่ Discount Card เท่านั้น 

คุณณัฐชัย วีระกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์​ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้บริหารธุรกิจร้านนายอินทร์ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของร้านนายอินทร์ คือการเดินไปสู่การเป็น Content Experience Destination ​หรือพื้นที่ส่งมอบทุกประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องราวและเนื้อหาจากหนังสือแต่ละเล่ม แต่ละประเภทได้อย่างสมบูรณ์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ประสบการณ์จากการอ่านเท่านั้น แต่ยังสามารถเติมเต็มขึ้นอีกด้วยกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับ Community ของกลุ่มคนรักการอ่าน ​​และทำให้รู้สึกถึงการเป็น My Place ของกลุ่มคนรักการอ่านอย่างแท้จริง​

ส่วนทิศทางในการขยายธุรกิจ​ จะไม่เน้นปริมาณการขยายจำนวนมากๆ แบบที่ผ่าน ที่เคยขยายปีละ 20-30 สาขา​ ​แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของร้านนายอินทร์มากขึ้น​ โดยปีนี้จะขยายสาขาใหม่อีกราว 7-10 แห่ง และ​จะมีสาขารวมในสิ้นปีนี้ที่ 155 สาขา จากปัจจุบันมี​ 150 สาขา รวมทั้งจะลดโมเดลร้านนายอินทร์ให้เหลือเพียง 2 รูปแบบ คือ ร้านไซส์เล็ก ขนาด 50 -100 ตารางเมตร ในคอนเซ็ปต์ Smart Store เน้นร้านในลักษณะ Small Size High Traffic โดยเลือกเปิดร้านเล็กๆ ในโลเกชั่นที่มีศักยภาพ มีทราฟฟิกที่ดี

อีกรูปแบบคือ ร้านไซส์ใหญ่ที่มีพื้นที่มากกว่า 300 ตารางเมตร ขึ้นไป เน้นให้เป็น Experiential Store ด้วยความใหญ่ ครบ และมีวาไรตี้ในแบบของ Generic Shop ให้มีพื้นที่รองรับเพื่อตอบโจทย์ Content Experience Destination ได้อย่างสมบูรณ์​ ส่วนร้านไซส์กลางๆ ขนาดตั้งแต่ 150 -250 ตารางเมตร จะเน้นการเปิดเป็น Specialize Shop โดยการเลือกแบรนด์ที่แข็งแรงในเครือ​มาต่อยอดเป็น Theme Shop เช่น บ้านและสวน คอนเซ็ปต์สโตร์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงใน Community กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

เลิกลดราคา แต่ใช้วิธีเพิ่ม Value 

นอกจากปรับวิธีคิดในการขยายสาขาแล้ว​ นายอินทร์ยังปรับแนวทางในการทำธุรกิจด้วย​ โดยเฉพาะการลดราคาหนังสือที่เคยลดบ่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งชินตา​​ที่เห็นแทบจะทุกอาทิตย์ แม้แต่หนังสือใหม่ที่เพิ่งออกวางตลาดก็ยังนำมาลด แต่นับจากนี้เป็นต้นไป การลดราคาจะทำแบบสมเหตุสมผล เช่น ในโอกาสพิเศษอย่างงานสัปดาห์หนังสือ หรือในเทศกาลวาระพิเศษต่างๆ ที่ต้องการคืนกำไรหรือมอบของขวัญให้ลูกค้าเท่านั้น

ช่วงธุรกิจถูก Disrupted ใหม่ ทุกคนในตลาดค่อนข้างตกใจ ทำให้พยายามรักษากำลังซื้อไว้ด้วยการลดราคา ไม่ว่าจะเป็นนายอินทร์หรือผู้ประกอบการอื่นๆ ในตลาด ทำให้เกิด Price War รวมทั้งทำให้ลูกค้าเกิดความเคยชิน และจะรอให้หนังสือลดราคาก่อนค่อยซื้อ ซึ่งการทำแบบนี้ยิ่งเข้าไปซ้ำเติมให้ธุรกิจแย่ลงไปอีก ซึ่งจากนี้การลดราคาจะทำอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น เพราะหนังสือไม่ใช่สินค้า Consumer Product ที่ต้องมาลดแลกแจกแถมกัน ​โดยเฉพาะหนังสือที่เพิ่งออกใหม่ๆ ยิ่งไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบลดราคาเลย

ขณะที่​แนวทางการทำ Membership Engagement จะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นายอินทร์จะหันมาให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากฐานลูกค้าสมาชิกเป็นกลุ่มหลักที่สร้างรายได้มากกว่า 50% ให้กับร้านนายอินทร์ ​โดยปีนี้ตั้งเป้าขยับตัวเลขให้เพิ่มเป็น 55% ขณะที่จำนวนสมาชิกโดยรวมตั้งเป้าเพิ่ม 20% จาก 1 ล้านราย เป็น 1.2 ล้านราย รวมทั้งจะจัดทำระบบสมาชิกให้อยู่ภายใต้ฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถได้สิทธิพิเศษต่างๆ ได้เท่าเทียมกัน ทั้งสมาชิกผู้ถือบัตรของร้านนายอินทร์จำนวน 6 แสนราย และสมาชิกจาก naiin.com ที่มีประมาณ 4 แสนราย

สิ่งที่สมาชิกจะได้รับเพิ่มขึ้น​นอกจากส่วนลด​แล้ว ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้ถือบัตรสมาชิกมากขึ้นด้วย เพื่อให้ภาพของความเป็น Privilege Card ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่แค่การถือบัตรเพื่อให้ได้ส่วนลดหรือเป็นเพียง​ Discount Card เท่านั้น จากปัจจุบันส่วนใหญ่จะนำมาใช้เป็นบัตรส่วนลดเป็นหลัก โดยจะเพิ่มพันธมิตรที่สามารถนำคะแนนสะสมในบัตรไปใช้บริการ​ ​หรือรับสิทธิพิเศษต่างๆ จากกิจกรรมที่ทางเครือจัดขึ้น ทั้งสิทธิในการจองสินค้าลิมิเต็ด หรือเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษก่อนคนอื่น เพื่อให้ผู้ถือบัตรได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

ขายประสบการณ์​ แต่ไม่ต้องขายทุกอย่าง 

อีกหนึ่งประเด็นที่นายอินทร์ต้องการ Rethink ในปีนี้คือ การจัด Product Mixed ในร้าน โดยเฉพาะในกลุ่ม Non-booked ที่เสริมขึ้นมาเพื่อโอกาสในการสร้างยอดขายได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้หลายๆ สินค้าที่เข้ามาวางจำหน่าย ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ Core Business อย่างร้านหนังสือมากนัก เช่น ยาดม ขนม ที่ดัดขนตา หรือสินค้าความงาม หรือเครื่องประดับต่างๆ ​ซึ่งในปีนี้นายอินทร์จะทยอยเอาสินค้าเหล่านี้ออกจากเชลฟ์ภายในร้านทั้งหมด

แม้ที่ผ่านมาสินค้ากลุ่ม Non-book จะสร้างยอดขายในสัดส่วนประมาณ 20% แต่จะเป็นกลุ่ม Book Related เป็นหลัก การนำสินค้า Non-book ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหนังสือออก จึงไม่น่าจะกระทบยอดขายมากนัก รวมทั้งยังสามารถนำพื้นที่มาสร้างประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ตรงหน้าแคชเชียร์​ซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญ การนำสินค้าจิปาถะมาวางถือว่าเป็นการบริหารศักยภาพของพื้นที่อย่างไม่สมเหตสมผลมากนัก ​และยังทำให้เคาน์เตอร์ดูรก ไม่เป็นระเบียบ โดยเริ่มทยอยเก็บสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหนังสืออกจากเชลฟ์ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับสินค้าที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย​และสามารถเข้ามาเติมเต็ม Content Experience ได้อย่างสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น พราะร้านหนังสือไม่ใช่ Retail Store ที่จะต้องมีสินค้าขายทุกอย่าง แม้เราจะให้ความสำคัญกับการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า แต่จุดยืนของเราคือ การเป็น Lifestyle Books Store ที่ควรโฟกัสเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายหรือคอนเทนต์ต่างๆ ในธุรกิจหลัก รวมไปถึงการนำพื้นที่เหล่านี้ไปทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับการทำ Membership Participated เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันกับแบรนด์ได้มากขึ้นดีกว่า

เห็นการปรับตัวและทิศทางของ 2 คีย์แบรนด์​ในธุรกิจ ที่แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง แต่ก็เห็นแนวโน้มได้อย่างชัดเจนว่า การจะอยู่รอดคือต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน และต้องโฟกัสที่การสร้างประสบการณ์ที่ดีที่นอกเหนือจากแค่เรื่องของการอ่าน รวมถึงการใช้ศักยภาพจากเครือข่ายธุรกิจที่มีเพื่อสร้างแต้มต่อเพื่อเพิ่มเข้าถึงได้จากหลากหลายช่องทาง ตามยุทธศาสตร์ Omnichannel ​ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้บริโภคในยุคนี้ให้ความสำคัญ

Visitors: 629,337