เกาะเทรนด์อีโคแพ็กเกจจิ้งบูม “เกรซ” ย้ำแชมป์เร่งผลิต 2 เท่าป้อนทั่วโลก

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  11 มี.ค. 2562
       
เกาะเทรนด์อีโคแพ็กเกจจิ้งบูม “เกรซ” ย้ำแชมป์เร่งผลิต 2 เท่าป้อนทั่วโลก

กระแสความตื่นตัว “แพ็กเกจจิ้ง” ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโตต่อเนื่อง “เกรซ” เดินเครื่องครั้งใหญ่ย้ำภาพเจ้าตลาด หลังดีมานด์ตลาดแสนล้านโตระลิ่ว ทุ่มงบฯลงทุนเพิ่มกำลังผลิตเท่าตัวจาก 1 ล้านเป็น 2 ล้านชิ้นต่อวัน ชูจุดขายผลิตจากชานอ้อยใส่อาหารได้ทั้งร้อน-เย็นโดยไม่รั่วซึม-เข้าไมโครเวฟได้ พร้อมปรับโครงสร้างเตรียมความพร้อมเข้าตลาด

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสความตื่นตัวเรื่องของการใช้แพ็กเกจจิ้งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงในวงกว้าง พร้อมทั้งได้เห็นแอ็กชั่นจากแบรนด์ใหญ่ระดับโลกหลาย ๆ แบรนด์นำร่องออกนโยบายเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่าย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าพลาสติกหรือโฟม รวมทั้งเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งอื่น ๆ ให้ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ตลาดต่างประเทศในแถบยุโรปเริ่มบังคับให้เลิกใช้โฟมใส่อาหาร และหากบรรจุด้วยโฟมหรือพลาสติก ถ้าส่งไปยุโรปจะคิดค่าบรรจุภัณฑ์ด้วย ทั้งในแง่การกำจัด ต้นทุนการผลิตโฟม 1 บาท มีค่ากำจัด 6 บาท ซึ่งแพงกว่า ดังนั้น จึงเป็นปัญหาที่ต้องหาทางออกอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แบรนด์ “เกรซ” หรือผู้ผลิตกล่องบรรจุอาหารที่ทำจากชานอ้อย เล่าที่มาที่ไปถึงผลิตภัณฑ์นี้ว่า ได้เริ่มทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเจาะตลาดต่างประเทศ ได้แก่ อเมริกา ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง หลังจากนั้นได้มาเปิดตลาดที่ประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “เกรซ” พร้อมนิยามตัวเองเป็น “ภาชีวะ” หรือภาชนะเพื่อชีวิต เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับแบรนด์ ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่ง

ขณะนั้นมองว่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารใช้แล้วทิ้งที่มีความปลอดภัย เป็นเซ็กเมนต์ใหม่ที่มีดีมานด์ในตลาด แต่ยังไม่มีผู้ผลิตรายไหนสามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด ในด้านของการใส่อาหารประเภทน้ำและน้ำมัน ทั้งอาหารร้อนอาหารเย็นโดยไม่รั่วซึม เข้าไมโครเวฟได้ และมองเห็นดีมานด์ของผู้บริโภคอาหารนอกบ้าน จึงได้ลองมองหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้มาทดลองทำบรรจุภัณฑ์อาหารใช้แล้วทิ้ง

โดยจุดเด่นของเกรซ คือ ทำจากวัตถุดิบชานอ้อยที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำตาล นำมาแปรรูปเป็นภาชนะในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ถ้วย แก้วใส่น้ำ จาน ชาม กล่องบรรจุอาหาร สามารถใส่น้ำและอาหารเหลว ทนความร้อน และสามารถเก็บไว้ใช้งานได้นานถึง 5 ปี และย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน เมื่อฝังกลบบนดินหรือมีดินเป็นตัวช่วยการย่อยสลาย โดยราคาจะสูงกว่าภาชนะโฟมในท้องตลาดเพียงเล็กน้อย โฟมราคา 1 บาท ผลิตภัณฑ์เกรซราคา 2 บาท ซึ่งจะใกล้เคียงกับราคาของพลาสติก หรืออาจจะถูกกว่าด้วย สำหรับสัดส่วนทางการตลาดของเรายังน้อยมากเมื่อเทียบกับพลาสติก แต่หากเป็นไลน์เดียวกันเราเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีวัตถุดิบหลายชนิดที่นำมาผลิตได้ ทั้งผักตบชวา ฟางข้าว เยื่อไผ่ ฯลฯ

ขณะที่ภาพรวมตลาดของโฟมและพลาสติกมีมูลค่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ โพรเซสซิ่งฟู้ด 7 หมื่นล้านบาท และอินสแตนต์ฟู้ด 3 หมื่นล้านบาท แต่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เพียง 1% เท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์เกรซสามารถอยู่ได้ทั้งสองกลุ่ม เพราะฉะนั้น ที่จะโตไม่ใช่ตลาด แต่ไซซ์โตขึ้น และตลาดโฟมพลาสติกจะลดลง โดยมีตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ย่อยสลายได้เข้ามาทดแทน

วีรฉัตรกล่าวต่อว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจจะมุ่งให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ย่อยสลายได้แทนกล่องโฟมและพลาสติก โดยที่ผ่านมาได้ทำการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้อย่างครอบคลุม โดยมีทีมประชาสัมพันธ์มากกว่า 30 คน ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่กลุ่มแม่ค้า แหล่งชุมชนต่าง ๆ ในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

ถึงวันนี้เกรซยังเดินหน้าลงทุนต่อไปไม่หยุด โดยเตรียมทุ่มงบฯ 400 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิต 2 ล้านชิ้นต่อวัน จากเดิมที่มีกำลังการผลิตวันละ 1 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะเริ่มเดินเครื่องผลิตสินค้าได้ในช่วงปลายปี 2562 เพื่อรองรับดีมานด์ของตลาดที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้วางจำหน่ายไปแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยลูกค้าในต่างประเทศมีอยู่หลายที่ อาทิ ยูนิเวอร์แซล, สวนสนุกดิสนีย์แลนด์, ไนกี้ทาวน์ที่ซีแอตเติล รวมถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ตลอดจนการทำโคแบรนด์กับร้านอาหารต่าง ๆ อาทิ นิตยาไก่ย่าง เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างบริษัท รวมถึงการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯปัจจุบันในปี 2561 “เกรซ” สามารถสร้างรายได้มากถึง 700 ล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40% และอีก 3-5 ปีวางเป้าหมายสร้างรายได้รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท และคงไม่ใช่เรื่องยากด้วยช่องว่างของตลาดที่เปิดกว้าง พร้อมกับการปรับตัวของแบรนด์เพื่อรับมือกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

Visitors: 627,088