เปิดพิมพ์เขียวเมืองตะวันออก ปักหมุด 2 ล้านไร่ “มหานครการบิน”

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  1 มี.ค. 2562
       
เปิดพิมพ์เขียวเมืองตะวันออก ปักหมุด 2 ล้านไร่ “มหานครการบิน”

เนื้อที่กว่า 2 ล้านไร่ ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนา “มหานครการบิน” รองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มี “จอห์น ดี คาร์ซาดา” นักออกแบบระดับโลก เป็นผู้ออกแบบแผนแม่บททั้งหมด ล่าสุด คอนเซ็ปต์วางเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรับฟังความต้องการของภาคธุรกิจ จะเรียบร้อยไม่เกินกลางปีนี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี ฉายภาพว่า พื้นที่โดยรอบสนามบินอู่ตะเภา ถูกกำหนดการพัฒนาไว้ 20 ปี จะมีบทบาทกับ 5 โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เงินลงทุน 6.5 แสนล้านบาท ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ซึ่งทุกโครงการต้องจัดหาเอกชนมาลงทุนให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้

คาด 5 ปีแรกลงทุน 1.7 ล้านล้าน

“เมื่ออินฟราสตรักเจอร์เสร็จ การพัฒนาเมืองจะตามมา คาด 5 ปีแรกจะมีการลงทุน 1.7 ล้านล้านในอีอีซี จึงต้องเตรียมตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ให้วุ่นวายเหมือนสุวรรณภูมิ ตอนนี้ผังเมือง 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เสร็จแล้ว”

แนวคิดการพัฒนามหานครการบิน นายคณิศกล่าวว่า จะเป็นเฟส 2 ต่อยอดจากโครงการอู่ตะเภา 6,500 ไร่ ที่กองทัพเรือเปิดประมูล โดยเปิดให้เอกชนไทยและต่างชาติ 42 ราย ยื่นซองวันที่ 21 มี.ค.นี้ เพื่อพัฒนาเป็น airport city หรือเมืองการบินภาคตะวันออก ใช้เงินลงทุน 2.9 แสนล้านบาท

 

โดยเอกชนลงทุนโครงการศูนย์ขนส่ง อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า เขตการค้าเสรี ศูนย์ขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ส่วนรัฐลงทุนรันเวย์ 2 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน หอบังคับการบินและสาธารณูปโภค


ยกระดับ “อู่ตะเภา” สู่ฮับการบิน

ขณะที่พื้นที่โดยรอบสนามบินอู่ตะเภา 10-60 กม. ต้องวางแผนยกระดับ “เมือง” สู่ “มหานคร” รองรับการขยายตัวของธุรกิจในทุก ๆ ด้านในอนาคต

“เบื้องต้น นายจอห์นออกแบบ ในมหานครการบินจะมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมการเดินทางครบ ทั้งรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ และดึงธุรกิจที่เสริมกันมาลงทุนคือธุรกิจการบิน ยาเวชภัณฑ์ แฟชั่น ชิ้นส่วนยานยนต์และการบิน อาหาร การเกษตร e-Commerce โดยรัฐไม่ลงทุนแข่งกับเอกชน”

การพัฒนาจะวางแนวทางการขยายพื้นที่จากสนามบินอู่ตะเภา-สัตหีบ-บางสะเหร่-จอมเทียน-พัทยา-ศรีราชา และอู่ตะเภา-บ้านฉาง-มาบตาพุด-ระยอง-เกาะเสม็ด จะกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับตลาดท่องเที่ยวและเมืองทันสมัยน่าอยู่

ส่วนพื้นที่จากสนามบินอู่ตะเภา ไปตามทางหลวง 331 สัตหีบ-เขาหินซ้อน ถึง อ.ศรีราชา บ้านบึง และอู่ตะเภา-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-ทางหลวง 3191-บายพาสพัทยา-ระยอง ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเอกชนและนิคมฯอมตะ เหมราช จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใน 20 ปี พัฒนา 3 ระยะ ช่วง 5 ปีแรก พัฒนาเมืองชั้นใน รัศมี 10 กม.รอบอู่ตะเภา 141,145 ไร่ คลุมพื้นที่สัตหีบ บ้านฉาง บางสะเหร่ และจอมเทียน ระยะที่ 2 ช่วง 5-10 ปี

พัฒนาเมืองชั้นกลางในรัศมี 10-30 กม. รอบสนามบิน 820,822 ไร่ คลุมเมืองพัทยา ระยอง แหลมฉบัง จะใช้เวลาเดินทางด้วยไฮสปีด 17-19 นาที วิ่งบนถนนไม่เกิน 40 นาที ทิศทางการพัฒนามีทั้งที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โรงแรม และระยะที่ 3 ช่วง 10-15 ปี พัฒนาเมืองเขตชั้นนอก รัศมี 60 กม.จากสนามบิน เนื้อที่กว่า 1 ล้านไร่ คลุมพื้นที่ศรีราชา บ้านค่าย บ้านบึง ของ จ.ชลบุรี และระยอง ใช้เวลาเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง 30-35 นาที ถนนไม่เกิน 60 นาที

“เมื่อแผนแม่บทพัฒนาเสร็จ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะจัดทำผังเมืองอีอีซี และออกกฎระเบียบคุมการพัฒนา เพื่อเป็นเครื่องมือชี้นำแนวการพัฒนาให้กับนักลงทุน”

ส่วนการพัฒนาเมืองใหม่อยู่ระหว่างพิจารณา โดยจะนำร่องที่ฉะเชิงเทรา รองรับการอยู่อาศัยที่จะขยายตัวมาจากกรุงเทพฯ ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟ หรือ TOD อยู่ที่ศรีราชา ชลบุรี และพัทยา

“นายจอห์น ดี คาร์ซาดา” ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามหานครการบินระดับโลก กล่าวว่า การวางแผนพัฒนาต้องคำนึงถึงตัวธุรกิจเกี่ยวกับการบินเป็นหลัก ซึ่งรอบ ๆ สนามบินไม่ควรสร้างที่อยู่อาศัย จะมีผลกระทบด้านเสียงเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิ ควรเป็นศูนย์กลางการบินและสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงสำหรับส่งออก เช่น ดอกไม้ ในระยะ 30 กม. ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อสนามบินกับท่าเรือ จะต้องสร้างถนนเพื่อเชื่อมการเดินทาง และการพัฒนาหลากหลาย เช่น ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว ซึ่งจะกระจายไปตามแหล่งงาน เช่น เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)

แผนพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกเป็นโมเดลใหม่ ที่จะเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจพัฒนาอีอีซีให้สำเร็จ ซึ่งมีความเป็นไปได้มาก เพราะมีคำมั่นเป็นสัญญาณชัดเจน ถ้าการเมืองไม่พลิกล็อก

 

“ไฮสปีด” จิ๊กซอว์สำคัญ

5 เมกะโปรเจ็กต์ในพื้นที่ EEC มีโครงการใหญ่ที่เป็นธงนำ คือ ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังเจรจากับกลุ่ม ซี.พี. จะชี้ขาด 5 มี.ค.นี้ หาก “ไฮสปีด” มาช้า หรือไม่มาตามนัด การพัฒนาในภาพรวมของ “ซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด” ก็จะรวนไปด้วย

โดยเฉพาะ “อู่ตะเภา” ที่ตั้งเป้าให้เป็น “เมืองการบิน” มีสถานีจอดอยู่ใต้ตึกผู้โดยสารหลังที่ 3 ที่จะสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา ก็มาจากผู้โดยสารไฮสปีดเทรนนั่นเอง การพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินให้เป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก” จึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ

ไม่ต่างจากการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และมาบตาพุด เฟส 3 ที่อยู่ตามแนวเส้นทาง เพราะรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมการเดินทางและขนส่ง “จังหวัดกับจังหวัด” ให้เร็วขึ้น “อีอีซี” จะเป็นไข่แดงใบใหม่ ที่จะเชื่อมกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้ทั่วประเทศ

Visitors: 621,262