โรงงานปลูกพืชระบบปิด อนาคตเกษตรรับโลกร้อน

 
แหล่งที่มา : www.thairath.co.th วันที่โพสต์ :  1 มี.ค. 2562
       
โรงงานปลูกพืชระบบปิด อนาคตเกษตรรับโลกร้อน

“โรงงานปลูกพืชระบบปิดใช้แสงไฟเทียม หรือระบบ PFAL เริ่มต้นเมื่อปี 2550 ที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน ส่วนบ้านเราเริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังในปี 2554 ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ใช้เวลาวิจัย 4 ปี จึงสำเร็จพร้อมได้รับการการันตี จาก ศ.ดร.โทโยกิ โคไซ ผู้เชี่ยวชาญการปลูกพืชระบบ PFAL อันดับ 1 ของโลก และต่อมาได้รับทุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) นำพัฒนาเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ จนสามารถต่อยอดไปสู่การผลิตพืชผักเชิงพาณิชย์ได้แล้ว”

ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี สาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยถึง หลักการของโรงเรือนปลูกพืชระบบนี้...เริ่มจากจะต้องควบคุมโรงเรือนไม่มีอากาศเข้าออก มีตู้เป่าลมหรือที่อาบน้ำให้กับผู้ปฏิบัติงานก่อนเข้าห้องปลูกพืช เพื่อป้องกันโรคแมลงศัตรูพืชจากภายนอกเข้ามาในโรงเรือน


โรงเรือนต้องติดฉนวนทุกด้านเพื่อควบคุมอุณหภูมิ มีเครื่องปรับอากาศระบบหมุนเวียนภายใน ใช้อุณหภูมิระหว่าง 22-25 ํ C มีระบบเพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศอยู่ที่ 1,000 ppm. เพราะปริมาณที่พืชดูดซับไปเลี้ยงต้นและใบให้เจริญเติบโต

พื้นโรงเรือนควรเคลือบด้วยแผ่นอีพ็อกซีเรซินเพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด ไม่เป็นที่สะสมของเชื้อรามีระบบนำน้ำจากการควบแน่นของเครื่องปรับอากาศกลับมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับมีระบบหมุนเวียนและฆ่าเชื้อสารสลายปุ๋ยที่ใช้ปลูกพืช

“เมื่อทุกอย่างพร้อม ลงมือปลูกพืชในรางแบบเดียวกับระบบไฮโดรโปนิกส์ แต่ต่างกันตรงมีรางวางเรียงซ้อนกันหลายชั้น แต่ละชั้นจะมีหลอดไฟแอลอีดีใช้แสงส่องอยู่ในระดับ 150-200 ppfd ที่ทดลองมาแล้ว พบว่าเป็นระดับความสว่างที่เหมาะกับการปลูกพืชในระบบปิดมากที่สุด ส่วนแสงสีต่างๆที่เหมาะสม จากการลองปลูกทั้งในแสงสีขาว เหลือง แดง และน้ำเงิน 12-18 ชั่วโมงต่อวัน ปรากฏว่า แสงสีขาวให้ผลผลิตผักเจริญเติบโตได้ดีที่สุด”


สำหรับต้นทุนการปลูกในระบบนี้ ดร.สิริวัฒน์ บอกว่า ต้องใช้เงินทุนสูงกว่าปลูกผักในแปลงปลูกทั่วไป 100 เท่า แต่ผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ ระยะเวลา และคุณภาพสูงกว่าหลายเท่าตัวเช่นกัน โดย เฉพาะผักใบ ระยะเวลาการปลูกจะเร็วกว่าปกติประมาณเกือบเท่าตัว เช่น ผักกาดหอม ที่ต้องใช้เวลาราว 60 วัน แต่ในระบบนี้แค่ 40 วัน...ส่วนในพืชอื่นๆ เมลอน มะเขือเทศ และสตรอว์เบอร์รี อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล

ในอนาคตคิดว่าระบบปลูกแบบนี้จะเริ่มใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆในหลายประเทศ เพราะความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังประสบปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงคุกคามพื้นที่การเกษตร สนใจข้อมูลโทร. 09-5687-7846.

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

Visitors: 621,201