สรุป 10 เทรนด์การตลาด-พฤติกรรมผู้บริโภค 2018 – 2019 เมื่อ “Disruptive World” รุนแรงขึ้น!!

 
แหล่งที่มา : www.marketingoops.com วันที่โพสต์ :  26 ม.ค. 2562
       
สรุป 10 เทรนด์การตลาด-พฤติกรรมผู้บริโภค 2018 – 2019
เมื่อ “Disruptive World” รุนแรงขึ้น!!

ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากในรอบปี 2018 คือ “Technology Disruption” ที่พลิกโฉมหลายอุตสาหกรรมยุคเดิม ขณะเดียวกันเกิด Business Model ใหม่ที่สามารถเขย่ายักษ์ใหญ่ที่เกิดและเติบโตในยุค Analog ต้องสั่นสะเทือน !! และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเจอกับความผันผวนของแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ส่งผลให้ทุกวันนี้เราอยู่ในยุค “Disruptive World”

ทำให้ภาคธุรกิจต้องปฏิวัติตัวเองครั้งใหญ่ บางองค์กรถึงกับต้อง Reorganize องค์กรครั้งใหญ่ หรือแม้แต่ปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้ และคาดการณ์ว่าประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ยังคงปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นในปี 2019

MarketingOops! ได้สรุปเทรนด์การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงปี 2018 และยังคงแรงต่อเนื่องถึงปี 2019 ดังนี้

 

1. “Unstereotype” (Imperfectionist) ทลายกรอบแนวคิดสมบูรณ์แบบ!

ที่ผ่านมาผู้บริโภคไทยมีลักษณะ Stereotype Perfectionist มาโดยตลอด นั่นคือ เป็นความเพอร์เฟคที่สังคมกำหนดว่าสิ่งไหนดี-ไม่ดี สิ่งไหนสวย-ไม่สวย ทำให้คนอยากหาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ตัวเอง “เพอร์เฟค” เพื่ออยู่ในสังคมได้ เช่น ผิวขาว – สูง ผอมเพรียว – ผมยาว เป็น Stereotype ที่สังคมกำหนด

แต่เทรนด์กำลังเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไร้กรอบ จาก “Stereotype” สู่ “Unstereotype” ซึ่งในงานวิจัยของ “Kantar Insights”เรียกว่า “Imperfectionist” คือ ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟค แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง – มีเอกลักษณ์ เช่น ในอดีต Insight คนไทยอยากมีผิวขาวมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันคนไทยหลายคนภูมิใจกับการมี “ผิวสุขภาพดี” ไม่ว่าจะสีผิวไหน มากกว่า “ผิวขาว” เพราะฉะนั้นเวลานี้นิยามความสวยเปลี่ยนไป

หรือแม้แต่ในอดีตมีการแบ่ง Segmentation เป็น “ผู้ชาย” – “ผู้หญิง” และปัจจุบันได้จัดเซ็กเมนต์ “เพศที่สาม” และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายของสินค้า หรือแบรนด์ แต่ต่อไปนี้จะใช้หลักการเช่นนั้นไม่ได้แล้ว เพราะผลิตภัณฑ์ผู้ชายบางตัว ผู้หญิงอาจสนใจก็ได้

นั่นหมายความว่าในมุมของการตลาด การแบ่ง Segmentation ไม่เหมือนเดิมแล้ว แบรนด์ต้องดูว่าผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นไปในทิศทางไหน ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบแนวคิดเดิมๆ

Resize Imperfect_01

 

2. แบรนด์อยากได้ “Data” แต่ต้องไม่ลืม “Privacy Concerns”

ทุกวันนี้ “Big Data” ที่เป็นฐานข้อมูลผู้บริโภค อันเกิดการที่ผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สมัครเป็นสมาชิก loyalty card หรือเคยให้ข้อมูลบนออนไลน์ หรือเป็นแฟนเพจแบรนด์ หรือแม้แต่เคยคลิ๊กเข้าไปดูสินค้าบน Online Shopping ของแบรนด์นั้นๆ

ฐานข้อมูลผู้บริโภคดังกล่าว กลายเป็น “คลังสมบัติ” อันมีค่ามหาศาลขององค์กรธุรกิจยุคนี้ ในการนำมาวิเคราะห์ สำหรับทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคลงลึกตั้งแต่ระดับ Segmentation ไปจนถึงระดับ Personalization เพื่อนำไปพัฒนาสินค้า และวางกลยุทธ์สื่อสาร

แต่สิ่งที่ตามมา คือ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่อง “Privacy” มากขึ้น จากแต่ก่อนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับ data privacy

อีกทั้งในรอบปี 2561 เจอข่าวข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน Facebook รั่วออกมาเป็นระยะๆ ทำให้ผู้บริโภคกังวลต่อการให้ข้อมูลส่วนตัวในเวลาที่ตนเองใช้ออนไลน์ ส่งผลให้ปัจจุบัน ผู้บริโภคตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลตนเอง เพราะฉะนั้นแบรนด์ควรให้ความสำคัญกับการปกป้อง “Privacy” ของผู้บริโภค

Resize Facebook PrivacyPhoto Credit : AngieYeoh / Shutterstock.com

 

3. “Realize Connection & Connected Loneliness” คนโหยหาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่บน Social Media

ปัจจุบันผู้บริโภคมองว่าตัวเขาเอง ใช้ “Social Media” มากเกินไป โดยเฉลี่ยคนไทยใช้ออนไลน์ ผ่านสมาร์ทโฟน 91% และใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์โดยเฉลี่ย 4.2 ชั่วโมงต่อวันต่อคน โดยเป็นการใช้ “ทุกวัน” ขณะที่อัตราการใช้ Social Media ในกลุ่มคนไทย สูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ Emerging Market ในภูมิภาคเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่ใช้ “Social Media” มากไป คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าไม่ได้ส่งผลดีต่อชีวิตของเขาเอง โดยผลวิจัยของ “Kantar Insights” ระบุว่า คนไทยบางคนเสพติดการใช้ Facebook มาก แต่ก็ยังรู้สึกเหงา เดียวดาย และเครียด ก่อให้เกิดแนวโน้มที่เรียกว่า “Connected Loneliness” นั่นคือ คนในเมือง อยู่คนเดียว โหยหาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เพราะเขามองว่าความสัมพันธ์ใน Social Media เป็นความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวย-ตื้นเขิน

ดังนั้นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น คือ จากเปลี่ยนจาก “Connected Consumer” ขยับไปสู่ “Realize Connection” ที่คนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “คน” และให้ความสำคัญกับ “ประสบการณ์ ณ ปัจจุบัน” มากขึ้น เพราะฉะนั้นแบรนด์ที่จะโดนใจผู้บริโภค คือ แบรนด์ที่มี Purpose ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีความลึกซึ้ง มีความจริงใจ สร้างความหมาย หรือสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภค

Resize Human connection

 

4. “Circular Economy” แนวคิดระบบเศรษฐกิจ-ธุรกิจ-สังคมโลกยั่งยืน

 

ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วหายไป สำหรับแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) มีมาสักพักแล้ว แต่ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นอีกเทรนด์มาแรงปี 2019 นั้น เป็นเพราะทุกวันนี้ได้กลายเป็น Mega Trend และมีแนวโน้มขยายไปทั่วโลก ยิ่งปัจจุบันเกิดกระแสตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรโลก ทำให้แนวคิด “Circular Economy” กลายเป็นวาระสำคัญระดับโลก และองค์กรธุรกิจกำลังมุ่งมายังทิศทางนี้มากขึ้น

Circular Economy เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และของเสียที่เกิดจากการผลิตและการบริโภค กลับเข้าสู่กระบวนการที่สามารถนำกลับมาสร้างคุณค่าอีก เช่น Reuse, Refurbishing, Recycling และ Upcycling เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“มูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์” (Ellen MacArthur Foundation หรือ EMF) เผยข้อมูลว่ามีบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพียง 14% เท่านั้นที่ใช้ในตลาดทั่วโลก ถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิล ขณะที่มีพลาสติกอีก 40% ถูกฝังกลบ และหนึ่งในสามอยู่ในระบบนิเวศที่เปราะบาง โดยคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 จะมีปริมาณพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทรบนโลกใบนี้

หนึ่งในองค์กรที่เริ่มขยับรับเทรนด์ “Circular Economy” คือ “ยูนิลีเวอร์” ยักษ์ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ระดับโลก ประกาศพันธกิจชัดเจนว่า ภายในปี 2525 บรรจุภัณฑ์พลาสติกของยูนิลีเวอร์ทุกชิ้นสามารถนำกลับมาแปรสภาพใช้ใหม่, สามารถใช้ซ้ำ หรือสามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์
พร้อมทั้งตั้งเป้าลดน้ำลดน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ลงหนึ่งในสาม ภายในปี 2020 และเพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิลใหม่ได้ในบรรจุภัณฑ์อย่างน้อย 25% ภายในปี 2025

Resize Cricular Economy_zero waste

 

5. “Life Improvement Content” ผู้บริโภคต้องการเสพคอนเทนต์พัฒนาทักษะ-ความรู้

 

ในงาน “Nextm Next Thing Now” ที่จัดขึ้นโดย GroupM มีเทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันคนหันมาเสพข้อมูลประเภท “Life Improvement Content” ที่ช่วยพัฒนาทักษะ ความรู้-ความสามารถให้กับตัวเอง

เป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกยุคดิจิทัล สร้างโอกาสเปิดกว้างให้คนยุคนี้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน และการเงินรวดเร็วขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนในทุกวันนี้ พบว่าผู้บริโภคกลุ่ม Millennials มีแรงขับเคลื่อนจากการที่ตัวเขาเอง เห็นตัวอย่างคนรอบข้างประสบความสำเร็จ ทั้งอาชีพการงาน และการเงิน จึงกลายเป็นแรงผลักดัน หรือแรงบันดาลใจให้อยากที่จะประสบความสำเร็จบ้างเช่นกัน ส่งผลให้ปัจจุบัน คนหันมาเปิดรับข้อมูลแนว “Life Improvement Content” ทั้งทางอินเทอร์เน็ต และสื่อประเภทออฟไลน์

จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ที่จะ Empower ผู้บริโภค ในการสร้างความมั่นใจ ให้แรงบันดาลใจ หรือแม้แต่ให้พื้นที่แก่ผู้บริโภคได้แสดงออก เมื่อแบรนด์ให้พื้นที่แก่ผู้บริโภค เมื่อคนๆ นั้นทำตามฝันตัวเองได้สำเร็จ คนๆ นั้นจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นต่อไป

Resize Life Improvement_I can do it

 

ถอดรหัส “T – R – U – S – T”

ในงาน Marketing Day 2018 “คุณดั่งใจถวิล อนันตชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด” หนึ่งในวิทยากรได้พูดถึง Consumer Trends 2019 โลกทุกวันนี้ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคำว่า “TRUST” ที่แยกออกมาเป็น 5 คำ นั่นคือ T – Transparency / R – Right Time / U – Uniquely Me / S – Seamless Experience / T – Trustworthy เจาะลึกรายละเอียดดังนี้

 

6. “Transparency” New Normal ธุรกิจ-การตลาดยุคดิจิทัล

ผู้บริโภคต้องการ “ความโปร่งใส” และ “hashtag” มีพลังมหาศาลในการปลุกกระแสความโปร่งใส ทั้งระดับบุคคล แบรนด์ และองค์กร โดยกระแสที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะระดับประเทศ แต่สามารถไปไกลถึงระดับโลก

มีผลการศึกษาของ Sustainable Brand Bangkok ชี้ให้เห็นถึงข้อเรียกร้องของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ เมื่อแบรนด์ทำผิด ในอดีตแบรนด์เพียงแค่ออกมาขอโทษผ่านสื่อ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคตอ้งการให้แบรนด์สืบสวนหาข้อเท็จจริง และไม่ใช่แค่แถลงผ่านสื่อเท่านั้น แต่ต้องชี้แจงให้ผู้บริโภครับทราบโดยตรง และแจ้งแนวทางการแก้ไข

นอกจากนี้การตัดสินใจซื้อสินค้า-บริการ ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการรู้ Value Chain ของสินค้าตลอดทั้งกระบวนการ ดังนั้นปัจจุบันหลายแบรนด์ใช้เทคโนโลยีสแกน QR Code ถึงแหล่งผลิต และกระบวนการผลิต


Resize Transparency

7. “Right Time” เข้าถึงผู้บริโภคให้ถูกจังหวะเวลา และตอบโจทย์ Pain Point!

ในขณะที่นักการตลาดแห่กันใช้ “Real-Time Marketing” โดยจับกระแสที่สังคมกำลังพูดถึง มาแปลงเป็นคอนเทนต์สื่อสาร เพื่อสร้าง Viral ซึ่งการใช้กลยุทธ์นี้ แบรนด์ต้องพึงระวังถึงกระแสลบตีกลับมา และไม่ตอบโจทย์ Brand Essence ส่วนในฝั่งผู้บริโภค ต้องการ “Right Time” และแบรนด์ตอบโจทย์ “Paint Point” มากกว่าโดยแบรนด์ต้องเข้าถึงผู้บริโภคถูกที่ ถูกเวลา ทั้งการสื่อสาร ช่องทางการขาย และสินค้า

 

8. “Uniquely Me” ผู้บริโภคต้องการสินค้า-บริการเฉพาะของตัวเอง 

ทุกวันนี้ผู้บริโภครู้สึกว่าตัวเขาเองให้ข้อมูลแก่แบรนด์เยอะมาก แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คาดหวังว่า แบรนด์ควรนำเสนอสินค้า – บริการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้บริโภคคนนั้นๆ ด้วยเช่นกัน (Uniquely Me)

อย่างไรก็ตามในขณะที่ “Data” กลายเป็นจุดมุ่งหมายใหม่ของการทำธุรกิจยุคนี้ เพราะ Data เปรียบเป็นคลังสมบัติอันมีค่าของธุรกิจ จึงทำให้หลายแบรนด์มุ่งมาที่การเก็บสะสม Big Data แต่ทว่าการได้มาซึ่งฐานข้อมูลลูกค้า ก็เป็นเสมือนดาบสองคมเช่นกัน เพราะหากแบรนด์มีระบบการจัดเก็บฐานข้อมูล และระบบวิเคราะห์ – ประมวลผลไม่ดี แล้วไปขอข้อมูลผู้บริโภคคนหนึ่งๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ย่อมก่อความรำคาญให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการละลาบละล้วงสิทธิส่วนตัว ในที่สุดผู้บริโภคจะเพิกเฉยต่อแบรนด์นั้น

ทั้งนี้ เทรนด์ดังกล่าว สอดคล้องกับงาน “NextM Next Things Now” จัดขึ้นโดย GroupM Thailand ฉายภาพเทรนด์ “Deeper Personalization” เนื่องด้วยแบรนด์ยุคดิจิทัลใช้เทคโนโลยี AI, Machine Learning ฯลฯ ทำให้แบรนด์สามารถนำ Data ที่ได้มา นำมาวิเคราะห์ ได้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่จึงทำให้เกิด Segmentation มากมาย และย่อยไปถึงระดับ Fragmentation ซึ่ง Data ทำให้แบรนด์เข้าใจตัวตน และความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม – แต่ละคน

ดังนั้น เทรนด์การตลาดอย่าง “Deeper Personalization” เป็นการทำตลาด และการสื่อสารระดับบุคคลชัดเจน พร้อมทั้งนำเสนอสิ่งที่ตรงกับผู้บริโภคคนนั้นๆ ต้องการได้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยดูจาก Insight และความสนในของผู้บริโภคคนนั้นๆ เช่น การตอบสนองต่อโปรโมชั่น, การตอบสนองต่อคอนเทนต์ และสิ่งที่แบรนด์นำเสนอให้ มีความลึกมากขึ้น

Resize Unique

 

9. “Seamless Experience” ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการ “Online” หรือ “Offline” แต่ต้องการประสบการณ์ไร้รอยต่อ

ไม่ว่าเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเพียงใด แต่ “Consumer Need” ยังเหมือนเดิม ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนคือ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และแพลตฟอร์มในการเข้าถึงผู้บริโภค โดยสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ใช่กลยุทธ์ของแบรนด์ว่าจะอยู่บน Online หรือ Offline แต่สนใจ “Seamless Experience” หรือ “ประสบการณ์ไร้รอยต่อ” ที่เขาสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้ง่าย

ผู้บริโภคไม่ได้สนใจว่าแบรนด์ใช้กลยุทธ์อะไร จะอยู่บนออนไลน์ หรือออฟไลน์ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคสนใจ คือ “Seamless Experience” หรือ “ประสบการณ์ไร้รอยต่อ” เพราะฉะนั้นแบรนด์ต้องเข้าใจ Consumer Need และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายว่าใช้ชีวิตอยู่ที่ใด แบรนด์ควรเข้าไปอยู่ตรงนั้น ไม่ว่าจะ Online หรือ Offline

กรณีตัวอย่าง “Jeff Bezos” ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “Amazon.com” ทุ่มเงิน 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อสื่อเก่าแก่อย่าง “Washington Post” ซึ่งเวลานั้นหลายคนสงสัยว่าทำไม Jeff ถึงตัดสินใจซื้อสื่อดั้งเดิม ในขณะที่เป็นธุรกิจ sunset อีกทั้ง Amazon โตมาจากโลกดิจิทัล แต่สำหรับ Jeff มองว่า consumer need ยังเหมือนเดิม คือ ผู้บริโภคยังคงอ่านข่าวเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ไลฟ์สไตล์ และแพลตฟอร์ม

เพราะฉะนั้นหลังจาก Washington Post มาอยู่ในอาณาจักรอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แล้ว สิ่งแรกที่ Jeff ลงมือทำ คือ การลงทุนด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็น “O2O” (Offline to Online) ตามมาด้วยการโฟกัสที่ Consumer Centric ด้วยการศึกษาวิจัยว่าหัวข้อข่าว รูปข่าว และวิธีการนำเสนอแบบใดที่โดนใจผู้อ่าน ต่อมา เพิ่มทีม มาทำงานเสริมทัพทีมเดิม นี่จึงทำให้ Washington Post สามารถนำเสนอประสบการณ์การนำเสนอข่าวสารให้กับผู้อ่านได้แบบไร้รอยต่อทั้ง Online และ Offline

ผลปรากฏว่าหลังปรับโมเดลธุรกิจ ภายใน 1 ปี “Washington Post” สามารถชนะ Newyork Time และพิสูจน์ให้เห็นว่า Convention Media สามารถดำรงอยู่ได้ หากปรับตัวให้เป็น “Seamless Experience” โดยเอาผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง

Resize Washingtion PostPhoto Credit : Sharaf Maksumov / Shutterstock.com

 

10. “Trustworthy” เมื่อผู้บริโภคเชื่อ “Micro – Nano Influencer” มากกว่าคนมีชื่อเสียง

ในอดีตแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของผู้บริโภคที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า-บริการใดๆ ก็ตาม ให้ความสำคัญกับผู้นำทางความคิด หรือผู้นำในสังคมเป็นลำดับแรก ตามมาด้วย Celebrity เช่น ศิลปินดารา ตามด้วยครอบครัว – เพื่อน และสุดท้ายคือ คนแปลกหน้า (Man on street)

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปจากในอดีต ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค คือ คนแปลกหน้า (Man on street) ที่มีประสบการณ์ตรงมากกว่า นั่นก็คือ เชื่อผู้บริโภคด้วยกันเอง จากการหาข้อมูลรีวิว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “Micro Influencer” (Influencer ที่มีผู้ติดตามหลัก 1,000 – 10,000 คน) ถึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเวลานี้กำลังขยายลึกในระดับ “Nano Influencer” ซึ่งก็คือผู้บริโภคทั่วไป ที่มีประสบการณ์การใช้สินค้า-บริการจริง ตามมาด้วยครอบครัว-เพื่อน และ Celebrity ขณะที่ผู้นำทางความคิด หรือผู้นำในสังคม กลับไปอยู่ลำดับท้าย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “Micro Influencer” เติบโต และเวลานี้ขยายลึกในระดับ “Nano Influencer” ที่ยังคงปรากฏให้เห็นกันมากต่อเนื่องในปีหน้า สามารถอธิบายได้จากทฤษฎีทางจิตวิทยา ที่มนุษย์ต้องการ 2 อย่าง คือ

“Being Liked” เป็นที่ยอมรับ เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นชอบของคนรอบข้าง เช่น เมื่อใดก็ตามที่มีกระแส Talk of the town เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นละคร เหตุบ้านการเมืองต่างๆ ผู้บริโภคยุคดิจิทัลจะเข้าไปมีส่วนร่วมบน Social Media เช่น ละครบุพเพสันนิวาสดังทั่วบ้านทั่วเมือง ทุกคนพูดภาษาออเจ้า หรือเลือดข้นคนจาง คนบนสื่อสังคมออนไลน์ เกาะติด Hashtag นั่นเป็นเพราะผู้บริโภคต้องทันกระแส เพื่อคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง และอยากให้ตนเองเป็นที่ยอมรับ

“Being Right” คือ ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง จากการไปถาม หรืออ่านเพจรีวิวต่างๆ เพื่อให้ตัวเองมั่นใจว่าการที่ไปกิน ไปเที่ยวตามร้าน – สถานที่ที่มีคนรีวิวมาแล้ว เท่ากับว่ามีคนยืนยันให้แล้วร้านนั้น หรือสถานที่นั้นๆ ดี น่าไปลองบ้าง

Resize Influencer Trends

Visitors: 618,164