EU ยกระดับ 5 ปท.ลุ่มน้ำโขงขนส่งสินค้ายั่งยืน อบรมสิบล้อประหยัดน้ำมัน-ลดปล่อยคาร์บอนฯ

 
แหล่งที่มา : https://greennews.agency/
วันที่โพสต์ :  25 ม.ค. 2562
       
EU ยกระดับ 5 ปท.ลุ่มน้ำโขงขนส่งสินค้ายั่งยืน อบรมสิบล้อ
ประหยัดน้ำมัน-ลดปล่อยคาร์บอนฯ 

สหภาพยุโรปยกระดับการขนส่งสินค้า-โลจิสติกส์ 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง อบรมรถบรรทุกกว่า 600 ราย ประหยัดเชื้อเพลิงได้ 16% มุ่งลดคาร์บอน-รักษาอุณหภูมิโลก

กระทรวงคมนาคม และสหภาพยุโรป (EU) ร่วมกันจัดพิธีปิด “โครงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก EU เพื่อดำเนินงานด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และความปลอดภัยในภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย โดยสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กว่า 500 ราย ให้สามารถประหยัดเชื้อเพลิงและเกิดการขับขี่ที่ปลอดภัย ตลอดจนเกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการขนส่งสีเขียว

สำหรับโครงการดังกล่าว ดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2559 – ม.ค. 2562 และได้ฝึกอบรม SMEs จำนวน 513 รายในภูมิภาค ครอบคลุมพนักงานขับรถบรรทุกมากกว่า 600 คน ซึ่งส่งผลให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ย 15.9% สำหรับรถหนักวิ่งเปล่า และ 16.8% สำหรับรถหนักบรรทุกสินค้า และยังทำให้มาตรการด้านการขนส่งสินค้าสีเขียว ถูกนำเสนอในวาระการมีส่วนร่วมของประเทศ (NDC) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย

นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ด้วยการสนับสนุนเงินทุนของ EU จำนวน 2.16 ล้านยูโร โครงการนี้นับว่าประสบผลสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของ SMEs ด้านการขนส่ง ส่งผลให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงโดยรวมเฉลี่ย 16% และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ซึ่งแนวทางการปฏิบัติและบทเรียนที่ได้จากโครงการฯ จะถูกนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อพัฒนาการขนส่งสินค้าที่ยั่งยืนให้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การคมนาคมขนส่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาและบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ความพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาถูกดำเนินการผ่านข้อตกลงและกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งของอาเซียน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเองมุ่งดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน เช่น การขับขี่ที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน การขนส่งสินค้าอันตรายให้ปลอดภัย และการพัฒนามาตรฐานสำหรับการให้บริการรถบรรทุก นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามข้อตกลงปารีส ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ 20% ซึ่งภาคคมนาคมขนส่งถือเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับต้นๆ การสนับสนุนจากโครงการนี้จึงช่วยสนองต่อของความมุ่งมั่นในการลดการใช้เชื้อเพลิงและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นายซูเดีย โกตา ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน กล่าวว่า การที่จะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส เท่ากับว่าจะต้องมีการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ปีละ 1,500 ล้านตัน จากปัจจุบันที่พบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีละ 4,000 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ในหลายประเทศมีการพัฒนามาตรฐานเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากยูโร 1-4 โดยการใช้เชื้อเพลิงยูโร 4 ในการขนส่งมีมากถึง 80% แต่มีบางประเทศที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงระดับยูโร 2-3 อยู่

น.ส.วิลาสินี ภูนุชอภัย ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า EU และหน่วยงานที่สนับสนุน เน้นเรื่องของการใช้ทรัพยากรน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ และเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างสูง หากแก้ไขในส่วนนี้ได้จะช่วยลดปัญหามลพิษระดับประเทศหรือกระทั่งระดับโลกได้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือภาคเอกชนในเรื่องของการขับอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และการขับอย่างไรให้ปลอดภัย

Visitors: 628,764