“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม: คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

 
แหล่งที่มา : www.the101.world/ วันที่โพสต์ :  11 ม.ค 2561
       
“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม: คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

รู้หรือไม่ว่า ในปีหนึ่งมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มไม่ต่ำกว่า 1,000 คน!!

การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว

แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน)

และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

————————————————————————————————————————————————————————

:: ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน ::

ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

เมื่อป่วยหรือล้มเจ็บ เรามักคาดหวังว่าจะได้รับยาจากหมอ ที่ช่วยรักษาให้หายจากโรคแบบทันทีทันใด แต่จริงๆ แล้ว ‘ยา’ ที่สำคัญกว่าคือการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคเหล่านั้นและไม่ให้โรคพัฒนาจนถึงขั้นรักษาไม่หาย

หลายโรคในผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเกิดโรค รวมถึง ‘การหกล้ม’ ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเอง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ยาขนานนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้ม และช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีอายุยืนยาว

 

 

 

สะดุดนิด…ชีวิตเปลี่ยน

 - รู้หรือไม่? แต่ละปีมีผู้สูงอายุหกล้มเสียชีวิตเป็นครึ่งหนึ่งของทุกกลุ่มอายุ! หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 1,000 คนเลยทีเดียว

- ผู้หญิงมีโอกาสหกล้มสูงกว่าผู้ชายถึง 1.5 เท่า!

- การบาดเจ็บจากการหกล้มมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการฟกช้ำ แผลถลอก กระดูกหัก และรุนแรงถึงเสียชีวิต!

ที่มาข้อมูล : “สถานการณ์การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ” จากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรบควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

 

ทำไมผู้สูงอายุถึงหกล้ม?

 

  • ร่างกายและความสามารถที่ลดลง

เช่น การมองเห็น การเดิน การทรงตัว การรับรู้ และการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น กระดูกพรุน สมองเสื่อม เบาหวาน หลอดเลือดสมอง เป็นต้น

  • พฤติกรรม

เช่น ขาดการออกกำลังกาย สวมใส่รองเท้าและเสื้อผ้าที่ไม่พอดี ดื่มแอลกอฮอล์ที่เกินพอดี และใช้ยาที่เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม (ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ)

 

  • สิ่งแวดล้อม

เช่น พื้นและบันไดลื่น พื้นต่างระดับ ไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ มีสิ่งขีดขวาง ไม่มีราวจับบริเวณบ้าน บันได และห้องน้ำ

 

  • เศรษฐกิจและสังคม 

เช่น รายได้ ระดับการศึกษา สัมพันธภาพในสังคม และการเข้าถึงการบริการสุขภาพน้อย

 

 

ล้มคนเดียว เจ็บจี๊ดทั้งบ้าน!!

 

1. นายเจ็บ ฉันเจ็บ

ล้มครั้งเดียวอาจส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของคนรอบข้างเจ็บต่อไปตามๆ กัน ถ้าผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตัวเองได้เองอีก อาจส่งผลให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลหรือจ้างผู้ดูแลพิเศษให้

การบาดเจ็บจากการหกล้มทำให้ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าการบาดเจ็บจากสาเหตุอื่น ยกตัวอย่างเช่น การบาดเจ็บจากกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยอาจต้องนอนโรงพยาบาลนานถึง 20 วัน ถ้าผู้ป่วยยิ่งมีอายุมากและมีโรคประจำตัวมีความเป็นไปได้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานหรือนอนติดเตียง และต้องมีผู้ดูแลไปตลอดทั้งชีวิต

 

2. เจ็บ(กระดอง)ใจ

เมื่อผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกหัก พบว่า 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก บางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอด ส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเอง และต้องมีคนดูแลตลอดเวลา มีภาวะสับสน มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวทำให้เกิดอาการซึมเศร้าตามมา

สำหรับคนที่เคยหกล้มแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง อาจเกิดอาการวิตก หวาดกลัวการหกล้มซ้ำ ทำให้ไม่กล้าใช้ชีวิตตามปกติ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ลดลงไปด้วย

 

3. เจ็บกระเป๋า

ผู้สูงอายุหกล้มครั้งนึงอาจต้องจ่ายค่ารักษาสูงถึงแสนกว่าบาทต่อคนต่อครั้ง หากรวมค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้น เช่น รายได้ที่ครอบครัวต้องเสียไป เมื่อต้องหยุดงานมาดูแล หรือรายจ่ายที่เพิ่มหากต้องจ้างคนดูแล ประมาณการว่าอาจสูงถึง 1,200,000 บาท ต่อคนต่อปี!! …รู้สึกกระเป๋าเบาไปในพริบตา

 

 

แล้วอะไรคือยาที่จะป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ?

1. กันล้มด้วยการออกกำลังกาย 

เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความสามารถในการทรงตัวและการเดิน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการหกล้มในผู้สูงอายุ

2. กันล้มด้วยการปรับบ้าน

ช่วยลดสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มาปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพื่อดูแลและมอบ ‘ยากันล้ม’ ในการป้องกันร่างกายให้ห่างไกลการหกล้ม

 

 

ยากันล้มตัวที่หนึ่ง

วิธีใช้ : ออกกำลังกันล้ม

(ข้อควรระวัง : ท่าที่ไม่สามารถทำได้ สามารถข้าม หรือลดจำนวนตามความเหมาะสม)

- ท่ายืดกล้ามเนื้อและฝึกความยืดหยุ่นของข้อ
(แต่ละท่าทำซ้ำ 10 ครั้ง)

- ท่าฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
(แต่ละท่าทำซ้ำ 10 ครั้ง)


พร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลย!

 -ท่าฝึกการเดินและการทรงตัวระดับง่าย
(แต่ละท่าทำซ้ำ 10 ครั้ง)

 

 ท่าฝึกการเดินและการทรงตัวระดับยาก
(แต่ละท่าทำซ้ำ 10 ครั้ง)

 

 

ยากันล้มตัวที่สอง

 
วิธีใช้ : ปรับบ้านช่วยดูแลผู้สูงอายุ
 
  • ปรับห้องนอน

1. เตียงนอนควรนั่งแล้วเท้าเหยียบพื้นได้ แต่ความสูงของเตียงก็ไม่ควรต่ำเกินไป

2. ฟูกไม่นิ่มหรือแข็งเกินไป ฟูกชนิดที่วัสดุเป็นส่วนผสมระหว่างยางพาราและสปริงจะมีความนิ่มและแข็งที่ไม่มากเกินไป ฟูกที่เป็นฟองน้ำหรือฟองอากาศ จะเหมาะกับผู้สูงอายุที่เป็นแผลกดทับ ฟูกแบบลอน จะเหมาะกับผู้สูงอายุที่เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์

3. เก้าอี้มีพนักพิงและที่วางแขน ขาเก้าอี้ไม่ควรเป็นแบบล้อเลื่อน และความสูงของเก้าอี้ควรอยู่ในระดับที่เข่าวางตั้งฉากกับพื้นได้

4. เฟอร์นิเจอร์ไม่มีเหลี่ยมมุม หากมีควรหาเทปแปะขอบมุมไว้

5. มีแสงสว่างเพียงพอ สามารถนำทางได้ในที่มืด

6. สวิตช์เปิดปิดไฟ ควรอยู่ใกล้หัวเตียงที่มือสามารถเอื้อมถึง
 
  • ปรับห้องน้ำ

1. ระยะทางระหว่างห้องน้ำและห้องนอนไม่ควรไกลกันเกิน 3 เมตร ภายในควรแยกพื้นที่เปียกและพื้นที่แห้ง หากไม่สามารถแยกพื้นที่ได้ ควรมีม่านกั้นห้องน้ำระหว่างส่วนเปียกและแห้ง

2. พื้นห้องน้ำไม่ลื่น ควรมีลวดลายบนกระเบื้อง ใช้วัสดุเนื้อหยาบ หรือเป็นกระเบื้องแผ่นเล็กจะช่วยเพิ่มแรงเสียดทานในการเดิน

3. โถส้วมเป็นแบบนั่งห้อยเท้า ลักษณะการกดน้ำให้เป็นคันโยกดีกว่าการเป็นปุ่มกดน้ำ

4. ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านโยก ก้านกด หรือก้านหมุน

5. ราวจับควรมีจับตลอดทางเดินไปห้องน้ำ และติดตั้งใกล้โถส้วม ความสูงระดับที่พอเหมาะกับการใช้งานของผู้สูงอายุ
 

 

  • ปรับพื้นบ้าน และอุปกรณ์

1. ไม่วางของเกะกะบนพื้น เช่น สิ่งของ สายไฟ เพราะจะทำให้สะดุดหกล้มได้

2. พื้นไม่ลื่น เรียบ เสมอ ไม่ต่างระดับ

3. เสื่อ พรม ผ้ายางควรใช้แบบกันลื่น

4. ลูกบิดประตูเป็นแบบก้านโยก

5. บานประตูเป็นแบบเลื่อนที่มีราวจับบานประตู

6. สวิตช์และปลั๊กไฟควรติดตั้งจากพื้นอย่างน้อย 45 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 90 เซนติเมตร และสวิตช์มีขนาดใหญ่ 5-7.5 เซนติเมตร
 
  • ปรับขั้นบันได

1. ไม่วางของเกะกะบนขั้นบันได

2. มีแสงสว่างเพียงพอ สามารถนำทางได้ในที่มืด

3. มีราวจับ ยืดเกาะ

4. สวิตช์เปิดปิดไฟทั้งชั้นบนและล่าง
 
  • ปรับห้องครัว

1. ของใช้ที่ใช้บ่อยไม่วางบนชั้นเหนือศีรษะ ควรวางให้หยิบง่าย วางในระดับเอว

2. ตู้เก็บภาชนะหรือเครื่องปรุง ควรใช้ตู้แบบบานเลื่อน

 

 

กันล้มแบบมีสไตล์

นอกจากการออกกำลังกาย และปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน
 
ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันการหกล้ม แบบชิคๆ คูลๆ

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรองเท้าที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ชวนสะดุดพาเราหกล้ม หรือจะเป็นอุปกรณ์ช่วยเดิน ที่จะช่วยพยุงร่างกายเพื่อให้เดินได้ดีขึ้น มั่นคงขึ้น
 
โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการทรงตัว และมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน

 

แต่ถ้าเกิดพลาดหกล้มขึ้นมาล่ะ! จะลุกอย่างไรให้ปลอดภัย?

อันดับแรกไม่ควรตื่นตระหนก ทั้งคนล้มและญาติ ควร ‘ตั้งสติ’ ให้ดี ประเมินอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน

หากบาดเจ็บมาก อย่าพยายามลุกเอง ให้ขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด

หากรู้สึกว่าบาดเจ็บไม่มากและคิดว่าลุกขึ้นเองได้ให้หาที่ยึดเหนี่ยวที่แข็งแรงเป็นตัวช่วยพยุงให้ลุกขึ้น

————————–—-

รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมแชร์ “ยากันล้ม” ให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือคนรู้จักที่เรารักกันนะ

 

 

ที่มาข้อมูล :

ยากันล้ม คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.)

สถานการณ์ ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.)

สถานการณ์การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

Visitors: 620,654