บราซิลออกมาตรการจูงใจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์

 
แหล่งที่มา : http://globthailand.com วันที่โพสต์ :  21 พ.ย. 2561
       

บราซิลออกมาตรการจูงใจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์


เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 ปธน. บราซิลอนุมัติ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยมาตรการจูงใจสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับใหม่ (Rota 2030) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ประกอบด้วยมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด ซึ่งคาดว่าการยกเว้นภาษีในสาขาดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงถึง 1,500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
 
 
           เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ประธานาธิบดีเตเมร์ได้อนุมัติพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยมาตรการจูงใจสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับใหม่ที่เรียกว่า “Rota 2030” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เพื่อทดแทนฉบับเดิม “Inovar Auto” ซึ่งใช้ระหว่างปี 2555-2560
 
 
           Rota 2030 เป็นมาตรการดึงดูดการลงทุนด้านการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด ซึ่งคาดการณ์ว่าการยกเว้นภาษีในสาขาดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงถึง 1,500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากผู้ประกอบการใช้จ่ายเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์หลักของ Rota 2030 ได้แก่
 
 
           (1) รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดที่ผลิตในบราซิลเสียภาษี IPI (Industrialized Product Tax) ลดลงเหลือ 7% จากอัตราเดิม 25% และรถยนต์ไฮบริดที่ใช้ระบบเอทานอล (flex) ได้ลดภาษีเพิ่มอีก 2%
 
 
           (2) การยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด
 
 
           (3) รถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จากสมาชิก Mercosur และเม็กซิโก ไม่ต้องเสียภาษี Super IPI 30% ซึ่งถูกกำหนดในมาตรการ “Inovar Auto” ที่ผ่านมา
 
 
           (4) การยกเว้นภาษีนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ต่าง ๆ อยู่บนเงื่อนไขที่ว่าผู้ประกอบการจะต้องใช้จ่ายเงิน 2% ของราคาสินค้าสำหรับการวิจัยและการพัฒนา
 
 
           (5) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และผู้นำเข้าส่วนประกอบยานยนต์สามารถนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านการวิจัยและการพัฒนาสำหรับใช้ในการลดหย่อนภาษีรายได้สูงถึง 10.2%
 
 
           การออกมาตรการจูงใจสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับใหม่จึงอาจเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ไปยังบราซิลมากขึ้น โดยบราซิลนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์จากไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,418.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สถิติเดือนมกราคม-ตุลาคม 2561 จาก World Trade Atlas) ทั้งนี้ ได้มีบริษัทรถยนต์จากประเทศอื่น ๆ สนใจเข้ามาลงทุนในบราซิลด้วยแล้ว เช่น (1) บริษัท Toyota จะขยายและปรับปรุงโรงงานผลิตรถยนต์ที่เมือง Indaiatuba ในรัฐเซาเปาลู และ (2) บริษัท BMW จะขยายโรงงานผลิตรถยนต์ที่เมือง Araquari ในรัฐ Santa Catarina เป็นต้น
 
 
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย
Visitors: 619,886