สถานการณ์ตลาดแรงงาน ... ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  3 พ.ย. 2561
       
สถานการณ์ตลาดแรงงาน ... ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นโยบายการสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศไทย โดยมีความมุ่งหวังที่จะกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภาพภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถานการณ์แรงงานผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในตลาดแรงงานไทยนั้น พบว่า แรงงานประสบปัญหาการไม่สามารถหางานที่ตรงตามสาขาที่สำเร็จการศึกษาได้ จึงทำให้ต้องทำงานในสาขาอื่น

โดยจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ในช่วงปี 2013-2017 พบว่า แม้จะมีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาที่ไม่ได้ทำงานในสาขาที่สำเร็จการศึกษานั้นก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เช่น ในปี 2017 มีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประมาณ 3.4 ล้านคน แต่มีถึง 1.6ล้านคน ที่ไม่ได้ทำงานในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
   
ความไม่สอดคล้องกันที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานไทย (Labor Market Mismatch) นี้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจถึงอัตราผลตอบแทนจากการศึกษาในสาขาดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทางการศึกษาด้าน STEM ในประเทศไทย (Paweenawat and Vechbanyongratana 2018) โดย STEM ย่อมาจาก Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรม ศาสตร์) และ Mathematics (คณิตศาสตร์) ที่ผ่านมามีความเชื่อว่า ประเทศที่มีจำนวนแรงงานที่มีการศึกษาด้าน STEM ในสัดส่วนที่สูงจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านผลิตภาพ อันจะทำให้ประเทศนั้น ๆ สามารถที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ได้

ผลการศึกษาของ Paweenawat and Vechbanyongratana (2018) จากการใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 2011-2016 ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน STEM ในประเทศไทย จำนวน 62,194 คน พบว่า หากผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM สามารถทำงานในสาขา STEM ได้นั้น (Matching between STEM degrees and STEM jobs) จะมี Wage Premium อยู่ที่ 26% เมื่อเทียบกับผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาอื่นและทำงานในสาขาอื่น (ที่ไม่ใช่สาขา STEM) และจะมี Wage Premium อยู่ที่ 27% เมื่อเทียบกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้าน STEM (แต่ทำงานในสาขาอื่นที่ไม่ใช่สาขา STEM) ผลการศึกษาในตลาดแรงงานไทยนี้มีความสอดคล้องกับผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องในอดีต ซึ่งพบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM มีแนวโน้มที่จะมี Wage Premium เมื่อเทียบกับผู้สำเร็จการศึกษาด้านอื่น (Webber 2014) อย่างไรก็ตาม หากผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM ไม่ได้ทำงานในสาขา STEM ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะไม่มีความแตกต่างกับผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาอื่น (Chevalier 2012) ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว อาจเกิด Wage Penalty ในแรงงานที่ทำงานไม่ตรงตามสาขาที่เรียนมาด้วยซํ้าไป (Hoekstra 2009)

ดังนั้น การหางานให้ตรงตามสาขาที่สำเร็จการศึกษา โดยเฉพาะของผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติเบื้องต้น พบว่า โอกาสความน่าจะเป็นไปได้ (Probability) ที่ผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM จะสามารถหางานด้าน STEM ได้นั้น มีค่าเฉลี่ยค่อนข้างตํ่า คือ ประมาณ 34% เท่านั้น

นอกจากนั้น หากพิจารณาความสอดคล้องกันระหว่างผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM และงานด้าน STEM แยกตามรายสาขา พบว่า ในภาพรวมมีความไม่สอดคล้องกันในอัตราที่สูง โดยสาขาที่มีความสอดคล้องในระดับค่อนข้างดี คือ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมีการทำงานตรงตามสาขาที่เรียนถึง 50% ขณะที่ ในสาขา STEM ด้านอื่น ๆ นั้น มีการทำงานตรงตามสาขาที่เรียนโดยเฉลี่ยเพียง 17% เท่านั้น
หากแบ่งแยกตามเพศ พบว่า ค่า Wage Premium ของผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาในสาขา STEM และสามารถหางานทำได้ตรงตามสาขานั้น มีค่าเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างจากผู้ชาย โดยอยู่ที่ประมาณ 24-25% เมื่อเทียบกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาอื่นและทำงานในสาขาอื่น (ที่ไม่ใช่สาขา STEM)

อย่างไรก็ตาม หากผู้หญิงสำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพ คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และสถิติ แต่ไม่สามารถหางานในสาขาดังกล่าวได้ จะมี Wage Penalty อยู่ที่ประมาณ 4% ซึ่ง Wage Penalty นี้ไม่เกิดขึ้นในกรณีผู้สำเร็จการศึกษาที่เป็นผู้ชาย ผลการศึกษานี้ชี้ชัดได้ว่า การทำงานที่ตรงตามสาขาที่สำเร็จการศึกษาในกรณีของผู้หญิงนั้นมีความสำคัญต่ออัตราค่าจ้างอย่างมาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติเบื้องต้น พบว่า ผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาด้าน STEM และทำงานด้าน STEM มีเพียง 17% เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว หากพิจารณารายสาขาพบว่า ผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาในสาขา STEM (ยกเว้นสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์) มีการทำงานที่ตรงตามสาขาที่สำเร็จการศึกษาเพียง 12% เท่านั้น

โดยสรุปแล้ว ความสอดคล้องกันของสาขาที่สำเร็จการศึกษากับงานที่ทำส่งผลต่ออัตราค่าจ้างอย่างมีนัยสำคัญ โดยในกรณีของตลาดแรงงานผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM พบว่า มี Wage Premium สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาที่ทำงานตรงตามสาขาที่สำเร็จการศึกษา อย่างไรก็ตาม ระดับความสอดคล้องกันของสาขาที่สำเร็จการศึกษากับงานที่ทำนั้นยังมีระดับที่ค่อนข้างตํ่า สะท้อนถึงข้อจำกัดของโอกาสในการหางานด้าน STEM ในตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาด้าน STEM

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาในภาพรวม ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะว่า นอกเหนือจากนโยบายของภาครัฐที่เน้นการสนับสนุนการศึกษาด้าน STEM แล้วนั้น ภาครัฐควรที่จะสนับสนุนการพัฒนาตลาดแรงงานด้าน STEM ประกอบกันไปด้วย


หมายเหตุ : บทความนี้เป็นการสรุปจากบทความวิจัยของ ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ และ ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ดังต่อไปนี้

• Paweenawat, Sasiwimon W. and Vechbanyongratana, Jessica. 2018. "Private Returns to STEM Education and Implications for Middle-Income Trap Countries: Evidence from Thailand," Working Paper.


เอกสารอ้างอิง

• Chevalier, Arnaud. 2012. "To Be or Not to Be… a Scientist," IZA Discussion paper, No.6353.

• Hoekstra, Mark. 2009. "The Effect of Attending the Flagship State University on Earnings: A Discontinuity-Based Approach," Review of Economics and Statistics, 91 (4): 717–724.

• Webber, Douglas. 2014. "Are All Degrees Created (Financially) Equal: What is the Return to Education, and is it the Same for Everybody?" IZA World of Labor. 92: 1–10

• สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) (http://stiic.sti.or.th/stat/)


คอลัมน์ : เศรษฐเสวนาจุฬาฯ ทัศนะ 
โดย ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
Visitors: 627,403