ยกเครื่องแปลง ร่าง พรบ.ไซเบอร์ฯ

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  30 ต.ค. 2561
       
 ยกเครื่องแปลง ร่าง พรบ.ไซเบอร์ฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม นำโดยดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เรียกประชุมคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐภาคธุรกิจหรือตัวแทนฝ่ายเอกชนที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมหารือ พิจารณาข้อขัดข้อง และนำเสนอทางออกร่วมกัน


โดยผลจากการหารือ ได้ข้อสรุปประเด็นสำคัญ คือ ให้มีหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) มีลักษณะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการลักษณะพิเศษ คล้าย ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน สามารถมีพนักงานราชการที่มีเงินเดือนสูง เพื่อดึงดูดให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานได้ โดยคณะกรรมการ กปช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน


โดยหน่วยงานดังกล่าวจะไม่มีอำนาจในการลงทุนเข้าถือหุ้นกับนิติบุคคลอื่นๆไม่มีอำนาจกู้ยืมเงินและหากมีรายได้จะต้องส่งคลังส่วนอำนาจในการทำงานนั้นให้แบ่งกรณีภัยคุกคามออกเป็น 3 ระดับ เพื่อให้เลขาธิการ กปช มีอำนาจดำเนินการตาม 3 ระดับเช่นกันคือ

ระดับที่ 1 เมื่อมีเหตุการณ์ภัยคุกคามในระดับที่เรียกว่าผิดปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น เลขาธิการ สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดดำเนินการได้ตามกฎหมายไม่ว่าจะเข้าสถานที่ใด ยึด ค้นอะไรต่างๆ แต่จะต้องขออำนาจจากศาลก่อน จึงจะดำเนินการได้

ระดับที่ 2 เรียกว่าระดับร้ายแรง คือเมื่อมีภัยคุกคามในระดับร้ายแรง ให้เลขาธิการ กปช. รายงานต่อคณะกรรมการ กปช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่หากมีกรณีเร่งด่วนไม่สามารถเรียกประชุมได้ทั้งคณะ อย่างน้อยผู้เข้าประชุมจะต้องมี นายกรัฐมนตรีและกรรมการอื่น อย่างน้อย 2 ถึง 3 คน หรืออาจจะมีรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆก็ได้ เมื่อคณะกปช ฉุกเฉินดังกล่าวได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวที่เลขาธิการ กปช. แจ้งมานั้นเป็นภัยร้ายแรง เลขาธิการ กปช. ก็จะมีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อดำเนินการต่างๆได้เช่นการเข้าไปในเคหสถานหรือยึดเครื่องกลเครื่องต่างๆได้ แต่จะต้องรายงานให้ศาลทราบภายหลังภายในเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง

ระดับที่ 3 เมื่อเป็นเหตุกรณีวิกฤต เป็นภัยร้ายแรงอย่างยิ่งยวดแล้ว เมื่อเลขาธิการ รายงานต่อคณะกรรมการ กปช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นแล้ว และคณะกรรมการอนุมัติให้กรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ขั้นวิกฤต ก็จะมอบหมายให้หน่วยงานทางความมั่นคงที่มีอำนาจตามกฎหมายต่างๆดำเนินการได้ทันทีเช่น สภาความมั่นคง หรือกองทัพต่างๆเป็นต้น


ส่วนเรื่องกรอบของภัยไซเบอร์นั้นให้ระบุไปชัดเจนว่าภัยไซเบอร์หมายถึงภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบต่อ CII เป็นหลักมิใช่ภัยไซเบอร์ที่เกิดกับประชาชนทั่วไปและไม่รวมถึง Content เนื้อหาข้อความ แต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างระบบ หรือเครือข่ายไซเบอร์ สำหรับบทลงโทษนั้นให้เพิ่มเติมไปด้วยว่า เมื่อมีการกระทำผิดตามที่กฎหมายกำหนดเว้นแต่ผู้กระทำผิดมีเหตุผลสมควร

นอกจากนั้นใน ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ยังได้ให้อำนาจไว้ว่า ข้อ 6 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้ .....

(๑๐) เตรียมการจัดตั้งสํานักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 
ดังนั้นหมายความว่า จะมีคณะอนุกรรมการ กปช. เพื่อเตรียมการจัดตั้งสำนักงาน กปช. ได้โดยไม่ต้องให้หน่วยงานใด มารักษาการก่อนกฎหมายใช้บังคับ โดยคณะเตรียมการจัดตั้งดังกล่าว ซึ่งอาจให้ ปลัดกระทรวง ดีอี เป็นประธานก็ได้ คณะดังกล่าวจะมีหน้าที่ ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งสำนักงาน เช่น สำนักงบประมาณ กรอบอัตรากับ กพ.และ กพร. กรอบเงินเดือน กับกระทรวงการคลัง หาอาคารสถานที่ ระเบียบภายใน คู่มือการปฏิบัติ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การรับสมัครบุคลากร การทาบโอน หรือขอตัวช่วยราชการ จากหน่วยงานอื่นๆ ฯลฯ เพื่อให้สำนักงาน พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ
Visitors: 628,661