ไทยโชว์เคสเวที COP 24 ลดคาร์บอนเกินเป้า 48 ล้านตัน

 
แหล่งที่มา : www.thebangkokinsight.com วันที่โพสต์ :  30 ต.ค. 2561
       
ไทยโชว์เคสเวที COP 24 ลดคาร์บอนเกินเป้า 48 ล้านตัน

ภาคเอกชน 9 องค์กร และอบก. ได้มีความร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจ พร้อมกับการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ผู้ที่มีโครงการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และผู้ที่ต้องการสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างกันผ่านโครงการภาคสมัครใจได้

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ระบุว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบในแง่ของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงฝนตกที่นอกฤดูกาล เป็นต้น

ในฐานะสมาชิกรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต ไทยจึงต้องมีส่วนร่วมในการลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลมีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง  7-20 % ภายในปี 2563 และในระยะยาว 20-25 % ภายในปี 2573

โชว์เวทีโลกหลังลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเป้า

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมมือกันลดภาวะโลกร้อนในหลายภาคส่วนจนมีความก้าวหน้าตามลำดับข้อมูลล่าสุดในปี 2559 เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 48 ล้านตันจากเป้าหมาย 24 ล้านตัน ซึ่งพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะรายงานผลความก้าวหน้าของประเทศไทยในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ณ กรุงวอร์ซอ  ประเทศโปแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมาอบก.ได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพื่อให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ

โดยสามารถนำปริมาณการลด หรือ ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการ T-VER  หรือ TVERs ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้ ซึ่งอบก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็ก มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ ขณะที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต

นอกจากนี้ การดำเนินโครงการยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit)ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้า สนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชน เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตร และอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เป็นต้น

จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้นกว่า 200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 5 ประเภทโครงการ ได้แก่ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 6.2 ล้านบาท

มิตรผลพร้อมขายคาร์บอนเครดิตจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยปัจจุบันกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ที่สุดของไทย นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล ระบุว่ากลุ่มมิตรผลมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง รวม 489,217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  มีผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน จำนวน 26 องค์กร ประกอบด้วย หน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 15 องค์กร ภาครัฐ จำนวน 9 องค์กร และรัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 องค์กร ขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 190,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยตามมาตรฐาน T-VER

สำหรับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้ มาจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ของโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอเพาเวอร์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และอยู่ระหว่างขอรับการรับรองคาร์บอนเครดิต อีก  1 โครงการมาจาก โรงไฟฟ้าชีวมวล พาเนล พลัส ไบโอ-เพาเวอร์ (Panel Plus Bio-Power Power –Biomass based Project) ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งขึ้นทะเบียนโครงการเมื่อ 17 ก.ค. 2560

จากปัจจุบันที่โรงไฟฟ้าชีวมวลในกลุ่มมิตรผลทั้งหมด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของ T-VER ได้ประมาณ 980,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ภายในปี 2562 ซึ่งไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะถูกนำกลับมาใช้ภายในโรงงานต่างๆ ของกลุ่มมิตรผล และส่วนที่เกินใช้จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


กสิกรไทยพร้อมเป็นกลไกการเงินหนุนโลกร้อน

ด้านธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือเป็น ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Neutral) นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อน โดยซื้อคาร์บอนเครดิจจาก บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด (ด่านช้าง) บล็อค 2 ขณะเดียวก็เป็นกลไกทางการเงิน เพื่อพลักดันให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการใช้ พลังงานทดแทน โดยทุกโครงการที่ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อจะต้องผ่านการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรอบคอบ ตามกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของธนาคาร ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ซึ่งช่วยลดการเดินทาง ลดการใช้กระดาษ ถือเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของธนาคารนั้น คณะกรรมการธนาคารได้มอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทำหน้าที่เป็น Chief Environmental Officer เพื่อขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคาร และกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารลง 20 %  ภายในปี 2563 เทียบกับปีฐาน 2555 ซึ่งในเบื้องต้นธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 8 % จากปีฐาน 2555 และจะพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ความร่วมมือในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งนี้ มีภาคเอกชนที่ร่วมมือ ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทซ์ เฟิร์สท์ จำกัด (Wonderfruit) , ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Visitors: 626,788