จำนวนยานยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะหายไป 80% จาก 2020 ถึง 2030

 
แหล่งที่มา : www.mgronline.com วันที่โพสต์ :  21 ต.ค. 2561
       
จำนวนยานยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะหายไป 80% จาก 2020 ถึง 2030 

โดยปกติผมไม่ใช่คนที่จะเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องมีเหตุมีผลและตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องผมจึงจะยอมรับ แต่ผลงานวิจัยของ Tony Seba และคณะจากมหาวิทยาลัย Stanford สหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “Rethinking Transportation 2020-2030 : The Disruption of Transportation and the Collapse of the Internal-Combustion Vehicle and Oil Industries” ทำให้ผมต้องยอมรับในเชิงหลักการ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

ผมมีประสบการณ์ตรงและมีหลักวิชาการมาเล่าให้ฟังก่อนที่จะลงเนื้อหาในผลงานวิจัยข้างต้น

ในเรื่องประสบการณ์ตรง เมื่อต้นปี 2516 ภาควิชาคณิตศาสตร์ที่ผมทำงานอยู่ได้สั่งซื้อเครื่องคิดเลขไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะจำนวนมาก (เพราะเป็นภาควิชาเปิดใหม่) ในราคาเครื่องละ 3-5 หมื่นบาท รวมกันก็นับล้านบาท แต่พอถึงปลายปีเดียวกัน อาจารย์อาสาสมัครชาวเยอรมันได้ซื้อมาจากสิงคโปร์ขนาดเท่าฝ่ามือ ประสิทธิภาพสูงกว่าในราคา 8-9 พันบาทเท่านั้น ปัจจุบันนี้เครื่องคิดเลขดังกล่าวราคาประมาณ 150 บาทเท่านั้น หรือราคาลดลง 260 เท่าตัว ในเวลา 45 ปี

ในวันนั้น เรายังไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ค้นข้อมูลและดูแนวโน้มของกระแสโลกได้เท่าทุกวันนี้ เครื่องคิดเลขสมัยต้นปี 2516 ใช้หลอดสุญญากาศแต่ได้เปลี่ยนมาเป็นสารกึ่งตัวนำซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ร่วมสิบคนได้รับรางวัลโนเบลรวมทั้งไอน์สไตน์ผู้ยิ่งใหญ่ด้วย

ในเรื่องหลักวิชาการ ในช่วง 37 ปีที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมได้มีโอกาสสอนวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างตัวแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Introduction to Mathematical Modeling) ซึ่งว่าด้วยการพยากรณ์อนาคตหรือสถานการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความเข้าใจและการวางแผน สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญมากๆ ก็คือแนวความคิดของผู้สร้างตัวแบบว่าคิดอยู่ในรูปเชิงเส้น (Linear) หรืออยู่ในรูปเอ็กซ์โพเนนเชียล (Exponential) 

แนวความคิดที่ต่างกันจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

อาจารย์ Tony Seba ได้ยกตัวอย่างว่า ในปี 1985 บริษัท AT&T ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง (McKinsey & Co) ว่าในปี 2000 จะมีชาวอเมริกันใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนเท่าใด ผลการวิจัยสรุปว่าจะมีผู้ใช้ประมาณ 9 แสนราย แต่ความจริงพบว่ามีผู้ใช้ถึง 109 ล้านราย หรือผิดไปถึง 120 เท่าตัว

ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ศึกษาเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นจะเป็นแบบเชิงเส้น แต่ในความเป็นจริงแล้วได้มีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายปัจจัยเข้ามาเสริม เช่น ราคาลดลง เป็นเครื่องคิดเลข นาฬิกา และกล้องถ่ายรูป ฯลฯ

“โลกที่ซับซ้อน (Complex World)” ที่ผมใช้เป็นชื่อคอลัมน์นี้ ก็มาจากความเชื่อที่ว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กันแบบไม่ตรงไปตรงมาหรือไม่เป็นเชิงเส้น (Non-Linear) โลกนี้จึงได้ซับซ้อนและยากที่จะเข้าใจอย่างที่เรากำลังประสบอยู่ครับ

คราวนี้มาถึงเรื่องจำนวนรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาที่ผู้วิจัยสรุปว่าในปี 2030 จะลดลงถึง 80% ของปี 2020 หรือลดลง 80% ภายในเวลา 10 ปี (หมายเหตุ คำว่ายานยนต์น่าจะหมายถึงเฉพาะยานยนต์บนบกเท่านั้น-ผู้วิจัยนิยามไม่ชัดเจน)

อาจารย์ Tony Seba และคณะใช้หลักการอะไรมาเป็นกรอบความคิด

กรอบความคิดของคณะผู้วิจัยเป็นหลักการทางเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่เกี่ยวกับการลดโลกร้อนหรือเรื่องจริยธรรมแต่ประการใด เป็นเรื่องของต้นทุนของเทคโนโลยียุคใหม่ที่ลดลงอย่างรวดเร็วแต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และดีกว่าเทคโนโลยีเดิมที่จะต้องถูกทำลายไป หรือ Technology Disruption

ผู้วิจัยได้นำ “กฎของมัวร์ (Moore’sLaw)” ซึ่งพอจะอธิบายให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ ว่า “เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในเวลาประมาณทุกๆ 2 ปี” 

ผู้คิดกฎนี้คือ Dr.Gordon E. Moore ชาวอเมริกันสำเร็จปริญญาเอกสาขาเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1954 (ปัจจุบันน่าจะยังมีชีวิตอยู่) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท Intel มัวร์ได้ตั้งกฎดังกล่าวด้วยการสังเกตข้อมูลจากปี 1971-2011 และพบว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็เป็นความจริงต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน

ท่านผู้อ่านที่เคยใช้คอมพิวเตอร์คงพอจะจำ Floppy Disk ที่ใช้เก็บข้อมูลรุ่นต่างๆ ซึ่งแรกๆ มีขนาด 8 นิ้ว แล้วลดขนาดลงมาเหลือ 3 นิ้วครึ่ง และปัจจุบันนี้มีขนาดเล็กกว่านิ้วก้อย แต่สามารถเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นนับล้านเท่าตัวแต่ราคาถูกกว่าเดิมมาก

นอกจากกฎของมัวร์แล้วยังมีของกฎของคนอื่นๆ อีก 2 คนที่พอสรุปได้ว่า “ราคาอุปกรณ์เก็บข้อมูล (Hard Disk) ต่อหนึ่งหน่วยข้อมูลจะลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ ประมาณ 18 เดือน (Kryder’s Law) และจำนวน pixel ต่อดอลลาร์ของกล้องดิจิตอลจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 2 ปี (Hendy’s Law)” 

เรื่องจำนวน pixel ต่อดอลลาร์ ท่านที่ใช้สมาร์ทโฟนคงจะสังเกตได้ว่ากล้องถ่ายรูปได้ภาพคมชัดดีขึ้น แต่ราคาลดลงอย่างชัดเจน

บางท่านอาจจะสงสัยว่า เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและราคาลดลงแล้วมันเกี่ยวอะไรกับรถยนต์หรือยานยนต์ เรื่องนี้ Elon Musk ซีอีโอของบริษัท Tesla (ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับยกย่องว่าเป็นรถยนต์ที่ดีที่สุดตั้งแต่มีรถยนต์มา) เคยให้ความเห็นว่า “รถยนต์ไฟฟ้าก็คือคอมพิวเตอร์ที่วางอยู่บนล้อ” เพราะว่าแผงควบคุมระบบการทำงาน รวมทั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ (ในกรณีรถยนต์ที่ไม่มีคนขับ) ก็ล้วนใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้แบตเตอรี่ (ซึ่งประมาณกว่า 1 ใน 3 ของราคารถยนต์ทั้งคัน) ก็ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ที่เป็นของแข็ง ไม่ใช่น้ำกรด ทั้งราคาถูกลงอย่างรวดเร็วและอายุการใช้งานนานขึ้นมาก

เชื้อเพลิงที่ใช้ก็เป็นไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีราคาถูกกว่าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทุกชนิด เมื่อเทคโนโลยีต่างๆ (ซึ่งเป็นดอกผลของวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่) ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ ซอฟต์แวร์ เซนเซอร์ ตลอดจนธุรกิจรูปแบบใหม่คือ การขนส่งเมื่อมีความต้องการ(Transport-as-a-Service, TaaS, ซึ่งให้บริการผ่านสมาร์ทโฟน) จะทำให้ต้นทุนในการขนส่งถูกกว่าระบบการขนส่งแบบเดิมที่ดำรงอยู่ถึง 2.5 เท่า

เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนผู้โดยสาร (ที่เพิ่มมากขึ้นเพราะการใช้รถร่วมกัน) ผู้วิจัยจึงได้ใช้การเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเทียบกับผลคูณระหว่างระยะทางกับจำนวนผู้โดยสาร คือ passenger miles

ผลวิจัยที่สำคัญเฉพาะในสหรัฐอเมริกาสรุปได้ว่า 

หนึ่ง จำนวนยานยนต์ (vehicle) จะลดลงกว่า 80% คือจาก 247 ล้านคันในปี 2020 จะเหลือเพียง 44 ล้านคันในปี 2030 แต่จำนวนผู้โดยสารคูณด้วยระยะทางจะเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านล้าน passenger miles เป็น 6 ล้านล้าน passenger miles ในช่วงเวลาเดียวกัน หมายถึงว่าผู้คนเดินทางมากขึ้น-ไกลขึ้น 50% โดย 26 ล้านคันเป็นการให้บริการแบบ TaaS ซึ่งให้บริการถึง 5.7 ล้านล้าน passenger miles (หรือ 95%) ที่เหลืออีก 0.3 ล้านล้าน passenger miles (หรือ 5%) เป็นการบริการจากยานยนต์ที่ปัจเจกเป็นเจ้าของ (Individual Ownership) จำนวน 18 ล้านคัน โดยจะมียานยนต์ที่เป็นแบบเผาไหม้ภายในที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ถึง 97 ล้านคัน (เหมือนกับเครื่องคิดเลขไฟฟ้าในที่ซึ่งผมเคยทำงานเมื่อปี 2516)





ถ้าผลการวิจัยนี้ถูกต้องและเป็นจริงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

สิ่งที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ถนนจะโล่ง (ราวกับวันหยุดยาวในกรุงเทพฯ) ธุรกิจที่จอดรถจะเจ๊ง เพราะจำนวนยานยนต์จะหายไปถึง 80%  


สอง ยอดจำหน่ายยานยนต์ใหม่รายปีจะลดลงจากปีละ 18 ล้านคันในปี 2020 ลงมาเหลือเพียง 5.6 ล้านคัน (ซึ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าและให้บริการแบบ TaaS) ในปี 2030 หรือหายไปประมาณ 70% และยอดจำหน่ายยานยนต์ที่เผาไหม้ภายในจะหมดไปตั้งแต่ปี 2024 อีก 6 ปีนับจากนี้!
 
สาม รายได้ของรัฐจากภาษีน้ำมันจะหายไปประมาณปีละ 50,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นรัฐบาลควรเปลี่ยนมาเก็บภาษีจากจำนวนระยะทางที่รถแล่นได้แทนการเก็บภาษีน้ำมันในปัจจุบัน
 
สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันนั้น เราอย่าไปห่วงเขาเลยนะครับ
 
สี่ รายได้รวมที่เกิดจากการขนส่งในปี 2030 จะลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 4 ของปี 2015 ทั้งๆ ที่จำนวน passenger miles เพิ่มขึ้น 50% จาก 4 ล้านล้าน passenger miles เป็น 6 ล้านล้าน passenger miles นั่นหมายถึงว่า ต้นทุนค่าขนส่งลดลงเหลือ 1 ใน 4 ครับ
 
ผมได้ตามอ่านคำวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
 
หนึ่งรายของผู้ที่ไม่เห็นด้วย ได้นำเอาปัจจัยเรื่องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพซึ่งจะทำให้การขนส่งแบบ TaaS ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ผู้วิจัยคิด
 
ในปัจจุบันนี้ เราจำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวเพราะมีความสะดวก นึกคิดจะไปไหนก็สามารถไปได้ในทันที แต่ก็มักจะไปเสียเวลาเป็นชั่วโมงบนท้องถนนเพราะปัญหารถติดแต่ร้อยละ 96 ของเวลาเราไว้จอดเฉยๆ บางคนก็คิดว่าเป็นการประหยัดกว่านั่งแท็กซี่
 
แต่ถ้ามีระบบการขนส่งตามความต้องการ (TaaS) การติดต่อผ่านสมาร์ทโฟน ภายใน 5-10 นาทีมีรถมารับถึงที่เราอยู่ และสามารถถึงปลายทางได้ในเวลาที่น้อยลง ตรงเวลา เพราะไม่มีปัญหาการจราจรผมรู้สึกว่ามันเป็นภาพที่สวยงามซึ่งสะท้อนถึง ความเจริญนะ
 
อ้อ ถ้าเราต้องผ่อนรถยนต์ในราคา 1 ล้านบาทมาครอบครองเพื่อ ความเป็นส่วนตัวเราต้องเสียค่าดอกเบี้ยอย่างเดียววันละประมาณ 200 บาท ผมว่ามันน่าจะพอๆ กับค่าการใช้ TaaS นะครับ
 
ฝากช่วยคิด ขอบคุณครับ  
โดย: ประสาท มีแต้ม
Visitors: 618,858