'ทรัมป์' คือความเสี่ยงตลาดเงินโลก

 
แหล่งที่มา : www.facebook.com/Bank of Thailand Scholarship Students วันที่โพสต์ :  14 มิ.ย. 2561
       
'ทรัมป์' คือความเสี่ยงตลาดเงินโลก

เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากฐานที่ต่ำ และได้การส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวผลักดัน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในปีนี้หลายหน่วยงาน คาดการณ์ว่าการส่งออกอาจจะเติบโตได้ถึง 9% และยังแอบมีลุ้นว่ามีโอกาสที่การส่งออกเติบโตได้เป็นเลข 2 หลัก


แต่ค่าเงินบาทแข็งค่ายังคง กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้ส่งออก โดย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า แม้การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2561 จะเติบโตถึง 11.53% แต่ใน รูปเงินบาทกลับเติบโตได้แค่ 0.58% โดยเมื่อทอนการส่งออกกลับมาเป็น เงินบาทมูลค่าหายไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท


ในขณะที่ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เหมือนตกหลุมส่งออกดีแต่กำลังซื้อรากหญ้าไม่ฟื้น เป็นผลมาจากเงินบาทแข็งค่ามาก ส่งออกดีด้านปริมาณแต่ไม่ได้ราคา โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทำให้รายได้เกษตรกรตกต่ำหนัก ซึ่งรัฐต้องหาทางแก้ไขด่วน หากเงินบาทยังแข็งค่าไปอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์ เศรษฐกิจของไทยต้องตกต่ำอย่างแน่นอน


นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทอยู่ในระบบที่เหมาะสมและเอื้อต่อการส่งออกคือ 33-34 บาท/ดอลลาร์


การเรียกร้องของเอกชนไม่ใช่จะ ไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐ แต่ ภาครัฐอาจจะตอบสนองได้ไม่มากเท่าที่ต้องการ เนื่องจากข้อจำกัดในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการขาดทุนจากการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลดำเนินงานในปี 2560 ออกมาแล้ว ธปท.


ขาดทุนถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สูญเสียไปเพื่อรักษาค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนขึ้นลงรวดเร็วจนเกินไป ถ้าทำให้ค่าเงินอ่อนค่าตามที่เอกชนต้องการ ธปท.ก็จะต้องขาดทุน หนักกว่านี้อีก 


เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าโอกาส ที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าโดย ธปท.แทรกแซงตลอดคงเป็นไปไม่ได้ แต่อยู่ที่ปัจจัยต่างประเทศที่มีน้ำหนักมากกว่า โดยความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนโลกขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่าตัวประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นความเสี่ยงหลัก เพราะนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน และไม่ต้องการเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าจนเกินไป และท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปมาในด้านนโยบายทำให้ค่าเงินผันผวนมาก


"ขณะนี้ตลาดเงินไม่สามารถมองยาวได้ มองได้ในช่วงสั้นแบบเดือนต่อเดือน เป็นผลมาจากตัวทรัมป์ ที่เดี๋ยวเป็นมิตร เดี๋ยวเป็นศัตรูกับต่างประเทศ ทำให้ค่าเงินแกว่งตลอดเวลา เช่น ขู่จะจัดการกับจีนอย่างเด็ดขาดในเรื่องการค้า ทำให้ตลาดหุ้นโลกตก ค่าเงิน 


ปั่นป่วน แต่อีกวันก็ผ่อนท่าทีว่าจะไม่ใช้มาตรการรุนแรงกับการที่จีนได้ดุลการค้าสหรัฐ หุ้นก็ขึ้น ค่าเงินก็ผันผวนอีก ทำให้ตลาดเงินไม่มีเสถียรภาพ" เชาว์ กล่าว


ทั้งนี้ เงินบาทไทยควบคุมไม่ได้ ต้องยอมรับการขึ้นลงตามสกุลเงินหลักของโลก ถ้าจะให้ควบคุมได้ต้องมีมาตรการพิเศษแบบสิงคโปร์และฮ่องกง ที่ปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวแคบมาก ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งนั้น 


นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่อาจที่จะฟันธงลงไปได้ว่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ จะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเพราะเงินจะไหลกลับเข้าไปในสหรัฐ ตามที่มีการวิเคราะห์กันก่อนหน้านี้


หากเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกมีโอกาสเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอะไรบ้าง


เชาว์ ระบุว่า ปัจจัยที่จะทำให้ ค่าเงินบาทจะกลับทิศทางแข็งค่าขึ้นได้คือ เฟดจะต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่ง จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจ ของสหรัฐจะต้องเริ่มชะลอตัวลง


นอกจากนี้คือ จะต้องเกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างประเทศขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีดีกรีที่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น เป็นต้น ทำให้นักลงทุนมองความเสี่ยงสหรัฐมีมากจนหันไปถือครองสินทรัพย์อื่นที่ทำให้สบายใจ เป็นสกุลเงินที่ ชื่นชอบซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นสกุลดอลลาร์เสมอไป แต่เกิดเงินไหลออกจากสหรัฐไหลเข้ามาในประเทศอื่น รวมทั้งไทย ก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่าได้


ในช่วงสั้นนี้ ปัจจัยต่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลักจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารในประเทศเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบให้ค่าเงินเคลื่อนไหวผันผวน ตลาดมั่นใจว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยตลาดจะให้ความสนใจกับแนวโน้มการปรับคาดการณ์แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ของเฟดว่าจะมากกว่า 3 ครั้งในปัจจุบันหรือไม่ ขณะที่การประชุมของอีซีบีครั้งนี้คาดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่คณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะเริ่มมีการพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มการถอนมาตรการการซื้อสินทรัพย์ในยุโรป หรือคิวอี ซึ่งน่าจะทำให้เงินยูโรแข็งค่า


นอกจากนี้ ความเสี่ยงสงคราม การค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่อง โดยในวันศุกร์นี้ จะเป็นวันที่สหรัฐประกาศรายชื่อสินค้าที่สหรัฐจะกำหนดภาษีนำเข้าจากจีน ที่ครอบคลุมสินค้ามูลค่ารวมถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์


เมื่อเงินบาทไม่สามารถมอง แนวโน้มระยะยาวได้ ก็เป็นภาระของภาคธุรกิจในการทำให้การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอง เพื่อรักษาตัวไม่ให้บาดเจ็บจากความผันผวน ของค่าเงิน 


โดย ชลลดา อิงศรีสว่าง


Source: Posttoday
   
ขอบคุณข่าวจาก : 
Bank of Thailand Scholarship Students 
 
Visitors: 620,152