อังกฤษเตรียมเสนอเครือจักรภพยกเลิกใช้หลอดพลาสติก-คอตตอนบัดส์ เพื่อลดขยะพลาสติก

 
แหล่งที่มา : www.bbc.com วันที่โพสต์ :  20 เม.ย. 2561
       
 อังกฤษเตรียมเสนอเครือจักรภพยกเลิกใช้หลอดพลาสติก-คอตตอนบัดส์ เพื่อลดขยะพลาสติก

ภาพสนับสนุนโครงการลดหลอด หรือ the last straw จากการร่วมมือของชาวเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง
 

อังกฤษเตรียมเสนอ 53 ประเทศในเครือจักรภพ (Commonwealth) ให้ยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกและคอตตอนบัดส์ เพื่อลดจำนวนการใช้พลาสติกในโลกลง โดยประมาณว่าในอังกฤษมีหลอดพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะปีละถึงกว่า 8.5 พันล้านชิ้น

ส่วนประเทศไทยก็เริ่มมีโครงการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น โครงการลดหลอด หรือ the last straw ในจังหวัดเชียงใหม่

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ระบุว่า ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายที่สุดของโลก เธอกล่าวว่า สหราชอาณาจักรเป็นผู้นำโลกในการต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้บังคับใช้มาตรการเก็บค่าถุงพลาสติกลดปริมาณขยะ ยกเลิกใช้เม็ดพลาสติกไมโครบีดส์ และออกข้อเสนอระบบการแลกเปลี่ยนขวดน้ำพลาสติกเป็นเงิน เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ในการประชุมผู้นำรัฐในเครือจักรภพ (Commonwealth) ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ อังกฤษจะเชิญชวนให้รัฐในเครือจักรภพ 53 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยประชากรมากกว่า 2 พันล้านคน ให้เริ่มมาตรการลดใช้พลาสติกด้วย

"ควบคู่ไปกับการเดินหน้าแผนลดใช้พลาสติกในประเทศ สัปดาห์นี้อังกฤษจะผลักดันให้เครือจักรภพร่วมกับเราด้วยในการต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เครือจักรภพเป็นองค์กรที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งสัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรชายฝั่ง" นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ กล่าว


ภราดล พรอำนวย นักเคลื่อนไหวเพื่อการอนุรักษ์ในเชียงใหม่


โครงการลดหลอด/
the last straw

ในประเทศไทยเอง แม้การลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวแล้วทิ้งยังไม่ออกมาเป็นกฎหมายที่ชัดเจน แต่ก็มีการเคลื่อนไหวจากทั้งจากภาครัฐและประชาสังคมอยู่หลายกลุ่ม อย่างเช่น ภราดล พรอำนวย นักเคลื่อนไหวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่ เป็นผู้ริเริ่มรณรงค์ลดการใช้หลอดพลาสติก ภายใต้ชื่อ ลดหลอด/the last straw ไปเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว

เขากล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่า เนื่องจากเขาและเพื่อนพ้องรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน และเห็นว่าพลาสติกมีผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น พลาสติกเข้าไปอุดในระบบระบายน้ำจนทำให้น้ำท่วม "ผมได้ไปเห็นแพขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งทำให้ผมก็สะเทือนใจมาก" ภราดลจึงกลับมารณรงค์โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เนื่องจากเขาเป็นเจ้าของบาร์แห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ เขาจึงคุยกับเพื่อน ๆ ที่ประกอบกิจการบาร์และร้านอาหารเพื่อให้ร่วมมือกันก็ลดการใช้พลาสติกในร้าน เช่น แก้วและหลอดพลาสติก

จากนั้นก็เริ่มจัดงานรณรงค์ในชื่อ ลดหลอด/ the last straw โดยเชิญชวนประชาชนชาวเชียงใหม่ให้มาเข้าร่วมด้วยตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว โดยมีกิจกรรมให้ความรู้ มีโปสเตอร์ และจัดทำแฮชแท็ก รวมทั้งทำกูเกิลแมปที่พิมพ์คำว่า ลดหลอด หรือ the last straw ลงไป จะขึ้นเป็นแผนที่ตัวเมืองเชียงใหม่ว่ามีร้านใดบ้างที่ไม่ใช้หลอดหรือแก้วพลาสติก

ภราดลยอมรับว่าการเปลี่ยนทัศนคติของคนต้องใช้เวลา และกล่าวว่าเขามีแผนจะรณรงค์อีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้โดยครั้งนี้จะขยายเข้าไปในชุมชนในตัวเมืองเชียงใหม่

 
โปสเตอร์ของร้านหนึ่งในเชียงใหม่ที่ร่วมโครงการ ลดหลอด/the last straw

ส่วนเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าวว่า สถานการ์เรื่องขยะทะเลเป็นที่สนใจในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประชุมสหประชาชาติในประเด็นนี้เมื่อปีที่แล้ว

เขาระบุว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหาพื้นฐานสิ่งแวดล้อมที่คนไม่ค่อยนำไปเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ แต่เมื่อไม่นานนี้มีการศึกษาออกมาว่านกทะเล สัตว์ทะเล 80 เปอร์เซนต์ มีขยะในท้อง ทำให้องค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาสนใจปัญหานี้

"หลอดพลาสติกนั้นเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยคิดว่ามีปัญหาอะไร สถิติที่องค์กรสิ่งแวดล้อมสำรวจในอังกฤษ และสหรัฐฯ พบว่าประชาชนใช้หลอดดูดเฉลี่ย 1.5 หลอดต่อคนต่อวัน ส่วนในประเทศไทยแม้ยังไม่ได้ข้อมูลออกมา แต่คาดว่าไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้น ทุกวัน ประเทศไทยก็อาจจะมีขยะหลอดดูดกว่า 100 ล้านชิ้นต่อวัน"

เขายังกล่าวอีกว่าปัญหาของหลอดพลาสติกก็จะหนักกว่าขวดที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ "หลอดพวกนี้แทบจะรวบรวมไม่ได้ เพราะมันมีขนาดเล็ก ดังนั้นจึงไม่มีการนำไปรีไซเคิล ทางออกต่อปัญหานี้ก็คือ ห้ามการใช้ หรือใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเข้ามาคือเก็บค่าใช้ อย่างเดียวที่ทำกับถุงพลาสติก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลในหลาย ๆ ประเทศในโลก" เพชรกล่าว

 
ขยะพลาสติกที่ถูกซัดขึ้นมาบนชายหาดที่เมืองมุมไบประเทศอินเดีย (แฟ้มภาพ)


ในประเทศไทยเอง เขายกตัวอย่างว่า ปีที่แล้ว ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มกำหนดให้ร้านค้าเก็บค่าใช้ถุงพลาสติกใส่ของ ถุงละ 2 บาท และพบว่าอัตราการใช้ถุงลดลงไปมาก นอกจากนี้ มีการรณรงค์ให้ใช้หลอดแบบที่ใช้ซ้ำได้และพกหลอดไปเอง รณรงค์ขบวนการงดหลอดกับร้านกาแฟต่าง ๆ และให้ความรู้แก่ประชาชน

ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 รายของไทยก็ได้นำร่องเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หรือแคปซีล ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 11 แห่ง ในเดือน ก.พ.

 
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่ม ประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปีโดยประมาณ โดยมีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 60 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2,600 ล้านขวดต่อปี พลาสติกหุ้มฝาขวดก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ

พลาสติกหุ้มฝาขวดผลิตจากพลาสติกพีวีซี มีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ ทำให้ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทางทะเลซึ่งจะไม่ย่อยสลาย

หลายประเทศไม่มีการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ

   
ขอบคุณข่าวจาก : bbc.com
 
Visitors: 620,226