ให้เวลาอีก 1 ปี! อีคอมเมิร์ซอเมริกาเริ่มใช้หุ่นยนต์แพ็คของแล้ว

 
แหล่งที่มา : https://brandinside.asia/
 
       
 

ใช้ Machine Learning พัฒนาหุ่นยนต์ จนใช้งานได้แล้ว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรือการซื้อขายของผ่านระบบออนไลน์เติบโตอย่างมาก ขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการซื้อขายนี้คือ “การแพ็คของ โดยแต่เดิมนั้นใช้คนทำงาน ตั้งแต่เลือกสินค้า บรรจุสินค้าลงกล่อง แล้วจัดส่ง แต่หลังจากนี้โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ได้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนแล้วว่า งานในตำแหน่งนี้จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ในอีก 1 ปีข้างหน้า

เพราะอะไรน่ะหรือ? ก็ตอนนี้วิศวกรไอทีในสหรัฐอเมริกาพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทำงานในส่วนนี้ได้แล้ว ซึ่งมันหมายความว่า การใช้หุ่นยนต์ในงานลักษณะนี้จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าและเชื่อใจได้มากกว่าการใช้แรงงานคนทำงานในคลังสินค้านั่นเอง

ถ้าย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าสัก 2 – 3 ปี ยอมรับว่าหุ่นยนต์ยังไม่สามารถจัดการสินค้าเป็นร้อย-เป็นพันชิ้นได้ แต่จากรายงานชิ้นล่าสุดใน Wall Street Journal ระบุว่า “การใช้ Machine Learning ในหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการใช้งานมากขึ้น” หรือพูดง่ายๆ คือ Machine Learning ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้จริง อย่างน้อยก็สามารถจัดการคลังสินค้าของอีคอมเมิร์ซได้แล้ว

ในรายงาน ยังบอกว่า “การใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานคนในการจัดการสินค้า โดยเฉพาะในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะทำให้ลดต้นทุนแรงงานลงไปได้ถึง 1 ใน 5 จากเดิมที่ใช้แรงงานคน”

อีคอมเมิร์ซในอเมริกาขยับตัวแล้ว แรงงานคนเตรียมตัวโบกมือ

ขณะนี้หลายบริษัทได้ขยับตัวกันไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซรายเล็กรายใหญ่ต่างมองเห็นแนวโน้มที่จะเกิดในไม่ช้านี้ ล่าสุด เมื่อต้นปีนี้ บริษัทหุ่นยนต์ Kuka ได้ขายหุ่นยนต์หยิบของ-แพ็คของ-จัดการคลังสินค้าล็อตแรกให้กับค้าปลีกรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น สตาร์ทอัพรายหนึ่งชื่อ RightHand Robotics กำลังทำการทดสอบหุ่นยนต์ประเภทนี้เช่นกันเดียวกัน เพื่อเตรียมส่งไปให้กับค้าปลีกอย่าง Hudson’s Bay ใช้งาน

ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็ไม่เฉยเช่นกัน เพราะได้ลงทุนในการทำวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ที่ว่านี้เพื่อมาใช้ในการจัดการคลังสินค้าของตัวเองเช่นกัน

ส่วนประเด็นเรื่องการตกงาน อันนี้ชัดเจนว่าใครที่ทำงานสายนี้ตกงานแน่ แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี กว่าที่หุ่นยนต์นี้จะเข้ามาแทนที่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ”

ขอบคุณข่าวจาก : brandinside.asia
 
Visitors: 628,542