Deep Tech เทคโนโลยีขั้นสูงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลก

 
แหล่งที่มา : https://techsauce.co/technology
วันที่โพสต์ :  11 เม.ย. 2561
       
Deep Tech เทคโนโลยีขั้นสูงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลก
 

Deep Tech คืออะไร ?

Deep Technology คือ เทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อน ผ่านการค้นคว้าวิจัย และคิดค้นขึ้นมาใหม่จากนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ โดยลักษณะของ Deep Tech จะเป็นเทคโนโลยีที่มาแก้ไขปัญหาที่เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันยังแก้ไม่ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่, รถยนต์ที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน, การใส่เลนส์ที่ดวงตาโดยสามารถซูมเข้าออกได้ เป็นต้น

ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ ทำให้ในเวลานี้ยังไม่มีคำนิยามหรือการแบ่งประเภทที่ชัดเจนของ Deep Tech แต่ก็พอจะมีประเภทของ Deep Tech ที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น Artificial Intelligence, Blockchain, Big Data, Quantum Computing เป็นต้น และบริษัทใหญ่ๆ ก็ให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้


Startup สาย Deep Tech จึงแตกต่างจาก Tech Startup ทั่วไป เพราะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาขึ้นเอง ทำให้มีกระบวนการที่ลอกเลียนแบบได้ยาก จึงได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น


AI, Quantum Computing และ Blockchain เป็น Deep Tech ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

ทำไม Deep Tech ถึงสำคัญในเวลานี้ ?

Deep Tech เริ่มจากสมาร์ทโฟนที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งแผนกหน้าบ้านหรือระบบหลังบ้านต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งหมด สิ่งที่น่าสนใจในเวลานี้คือ ไม่ใช่คำถามที่ว่าสมาร์ทโฟนสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่เป็นปัญหาอะไรบ้างที่สมาร์ทโฟนไม่สามารถแก้ไขได้ และนั่นก็คือปัญหาที่เกี่ยวกับภาคเศรษฐกิจหรือสังคมนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนอาหาร หรือ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้น

Deep Tech จำเป็นมากสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสามารถนำ Biotechnology มาผลิตอาหารที่มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ไปจนถึงการนำ Blockchain ช่วยจัดระเบียบอาหารที่ขายในแต่ละวันให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างดีที่สุดและมีการสูญเสียน้อยที่สุด

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ Deep Tech สามารถ Disrupt วงการต่างๆ ที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ในประเทศไทย ยกตัวอย่างในวงการ HealthTech ตอนนี้มี Startup ไทยชื่อว่า ‘Meticuly’ ที่ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนกระดูกทดแทนจากวัสดุไทเทเนียมเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยี AI และ 3D Printing ที่ล่าสุดเพิ่งได้รับเงินลงทุนจาก Digital Ventures ไป ทำให้คนไทยสามารถรับการรักษาเปลี่ยนกระดูกด้วยมาตรฐานใหม่ที่รวดเร็ว ราคาถูกลงกว่าเดิม และได้กระดูกที่ขนาดพอดีกับร่างกาย ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ไ่ด้หากขาดการนำ Deep Tech มาวิจัยและพัฒนา

จุดแข็งของ Deep Tech คือการเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและลอกเลียนได้ยาก ทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มากประสิทธิภาพกว่าคู่แข่งในท้องตลาดได้ หากประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดการแข่งขันด้วย Deep Tech ได้ ก็มีโอกาสที่จะก้าวข้ามจากการเป็นประเทศเศรษฐกิจระดับกลางซึ่งเน้นการรับจ้างผลิต กลายมาเป็นประเทศผู้พัฒนานวัตกรรมด้วยตัวเองได้

Deep Tech ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง ?

ปัจจุบันมีบริษัทและ Startup ไทยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี Deep Tech เกิดขึ้นจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากการพัฒนา Deep Tech ต้องอาศัยระยะเวลาค้นคว้าและพัฒนานานกว่า Tech Startup ที่เลือกเทคโนโลยีรูปแบบอื่นๆ รวมถึงต้องใช้ทุนสูงกว่า นับเป็นความท้าทายที่ทั้งผู้ประกอบการ Deep Tech Startup และผู้สนับสนุนทั้ง VC และ Accelerator ต้องทำความเข้าใจเส้นทางการพัฒนา Deep Tech ให้ตรงกัน

ด้านการสนับสนุนเพื่อให้เกิด Ecosystem ที่สมบูรณ์ ภาคเอกชนถือว่าตื่นตัวค่อนข้างมาก เห็นได้จากการเปิดตัวโครงการสนับสนุนเพื่อผลักดัน Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีระดับ Deep Tech โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่นโครงการ U.REKA ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาคเอกชนหลากหลายองค์กรกับภาคการศึกษาซึ่งประกอบด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 7 มหาวิทยาลัยระดับประเทศ ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรม Deep Tech ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ

ส่วนภาครัฐถือว่าเริ่มตื่นตัวและมองหาวิธีการใช้ Deep Tech แล้ว อย่างการริเริ่มนำ Blockchain มาพัฒนาเป็น Digital Identity สำหรับคนไทย แต่ทั้งนี้ ภาครัฐยังสามารถผลักดันให้ Ecosystem ด้าน Deep Tech Innovation ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้มากกว่านี้ อย่างการเปิดพื้นที่ทดลองหรือ Sandbox เพื่อ Deep Tech และการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นรองรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นไป

ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านการศึกษาอันได้แก่ความรู้และบุคลากรอย่างเพียงพอในเวลานี้ แต่ยังขาดการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมาเจอกันเพื่อให้เกิด Ecosystem สำหรับ Deep Tech Innovation ที่สมบูรณ์ โดยโมเดลที่เหมาะสำหรับการพัฒนา Deep Tech Innovation หนีไม่พ้นการทำงานรูปแบบ Startup ซึ่งมีความคล่องตัว รวดเร็ว และต่อยอดเป็นธุรกิจหรือ Commercialise ได้ ซึ่งขณะนี้เอกชนกำลังผลักดันอย่างเต็มกำลัง และกำลังรอการหนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐเพิ่มเติม

Sandbox และส่งเสริมการศึกษา สิ่งที่ภาครัฐทำได้เพื่อหนุน Deep Tech

ภาครัฐสามารถสนับสนุนให้เกิด Deep Tech Innovation ในประเทศไทยได้หลายทาง แต่ทางที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรงจะเป็นในส่วนของการจัดการข้อกำหนดหรือมาตรการที่ส่งผลต่อการวิจัยและพัฒนา Deep Tech Innovation เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงมักต้องอาศัยการทดลองประสิทธิภาพซึ่งอาจอยู่นอกเหนือมาตรฐานทางกฎหมายหรือเป็นประเด็นอ่อนไหวสังคมในเวลานี้


จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ทดลองหรือ Sandbox เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมได้ลงมือทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนนำไปผลิตเพื่อขายจริง ซึ่ง Sandbox เป็นส่วนที่สนับสนุนที่สามารถทำได้ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี รวมทั้งต้องกำหนดกรอบเวลาชัดเจนเพื่อควบคุมผลกระทบจากการทดลองให้อยู่ในขอบเขตที่ดูแลได้ เช่นในสิงคโปร์ซึ่งพิจารณาเปิด Sandbox สำหรับผู้พัฒนา Deep Tech ในแวดวงการเงิน ที่กำหนดระยะเวลาให้ทดลองได้ไม่เกิน 2 ปี เพื่อดูผลกระทบแล้วนำมาเป็นข้อมูลสร้างมาตรการรองรับที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนในระยะกลางและยาว ภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนรองรับทั้งระบบเพื่อให้เกิด Ecosystem ที่สมบูรณ์ ทั้งการออกแบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ส่งเสริมให้ประชากรมีความรู้ที่พร้อมจะใช้งานเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยความเข้าใจและมีเป้าหมายชัดเจน ไปจนถึงส่งเสริมในแง่ธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ Startup ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย Deep Tech เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน

จะเห็นได้ว่าการพัฒนานวัตกรรม Deep Tech จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยกับตลาดโลกได้  ซึ่งการพัฒนา Deep Tech นี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากหลายภาคส่วนไปพร้อมกันโดยเฉพาะภาครัฐที่หลายฝ่ายกำลังรอการปลดล็อกเงื่อนไขและอยากให้เกิดการวางแผนระยะยาวร่วมกัน ซึ่งการผลักดัน Deep Tech ในไทยจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือเกิดขึ้นในรูปแบบใดบ้าง ต้องติดตามกันต่อไป

Link อ้างอิง

u-reka.co

 

bbva.com

 

techsauce.co

 
ขอบคุณข่าวจาก : techsauce.co
 
Visitors: 621,786