5 คนไอที ที่ตลาดต้องการมากที่สุด

 
แหล่งที่มา : www.bangkokbiznews.com วันที่โพสต์ :  3 เม.ย. 2561
       
 5 คนไอที ที่ตลาดต้องการมากที่สุด
 
'เอสซีจี'ปั้น5.4หมื่นมนุษย์ไอที-'ปตท.'อัดฉีดเงินตอบแทน ธุรกิจแข่งช้อป'คนดิจิทัล' : ยักษ์ธุรกิจควานหาคนพันธุ์ดิจิทัลเข้าทำงาน เอสซีจีพัฒนา 5.4 หมื่นคน รองรับพร้อมเสริมความรู้บล็อกเชน-ไอโอที ส่วน ปตท.อัดฉีดเพิ่มผลตอบแทน "ดีอี"เร่งดันโครงการดิจิทัลพาร์ค-สมาร์ทซิตี้ พร้อมปั้น 5 แสนรายใน 20 ปี เผยบางธุรกิจใช้วิธีซื้อตัวจากบริษัทอื่น "จ๊อบไทย" เผยงานสายไอทีปีนี้แรง เฉลี่ยต่อเดือนประกาศรับสมัครกว่า 4 พันอัตรา 


ปัญหาสำคัญในการเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล คือ การผลิตคนไอที ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงเทรนด์โลก"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจบริษัทของไทยหลายอุตสาหกรรม พบปรากฏการณ์แข่งขัน "ซื้อตัว" พนักงานที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในประเทศและจาก ต่างประเทศคึกคักเป็นพิเศษ 


นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับหน่วยธุรกิจของเอสซีจีทั้งในและต่างประเทศรวม 54,000 คน เพื่อให้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง โดยสร้างวัฒนธรรมของคนองค์กร และพัฒนาทักษะในการปฏิบัติหน้าที่ใหม่อยู่เสมอ โดยมี 5 แนวทาง คือ

      1.มีความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลจากทั่วโลกเพื่อต่อยอด 

      2.หาพนักงานต่างชาติที่มีศักยภาเช่น นอร์เวย์ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาทำงานทั้งในและ
         ต่างประเทศ
 

      3.ทำหลักสูตรให้พนักงานมีทักษะในหลายด้าน เช่น การสร้างสรรค์สินค้าและ บริการ และนำดิจิทัล
         เทคโนโลยีใหม่ มาประยุกต์ใช้ให้ทันการเปลี่ยนแปลง

      4.ส่งเสริมให้พนักงานพัฒนานวัตกรรม เช่น Automation & Robotics 

      5.บ่มเพาะธุรกิจให้พนักงานมีแนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ให้เอสซีจี 


ทิศทางธุรกิจของเอสซีจีกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่บริการมากขึ้น โดยนำดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงการทำงาน ทำให้มีบุคลากรที่มีทักษะใหม่ที่ตอบโจทย์ธุรกิจได้ยังไม่เพียงพอ จึงกำหนดกลยุทธ์ Workforce Planning 3 ด้าน คือ

      1.Build Reskill ได้แก่ พัฒนาหลักสูตรด้าน Technology, Digital, Robotic และ Automation รวมถึงด้าน Services, Retail ร่วมกับมหาวิทยาลัยและทำหลักสูตรสำหรับพนักงานระดับจัดการ ให้มีความรู้สมัยใหม่ที่เพิ่ม เช่น Block Chain โดยเน้นเรื่อง Global Mindset 

      2.Buy เอสซีจีเปลี่ยนจากรับนักศึกษาจบใหม่มาเป็นรับผู้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนที่ 40% เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคต

      3.
Borrow ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาพนักงานได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น Oxford, DukeCE เพื่อให้เอสซีจีมีกำลังพลไม่ใช่พนักงานประจำ 


สำหรับความต้องการในอนาคตสำหรับธุรกิจใหม่มากกว่า 100 ตำแหน่ง ที่เชี่ยวชาญด้าน Programmer, Data Analytic, IT & Software Engineer, นักวิเคราะห์ด้านไอที กลุ่มงาน Digital มีการกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และผลตอบแทนที่แข่งขันได้กับตลาด โดยดูจากความสามารถและประสบการณ์ประกอบ


 "เอสซีจีมีโครงสร้างค่าจ้างของกลุ่มวิจัยและพัฒนาแตกต่างเพื่อจูงใจให้พัฒนานวัตกรรม โดยปัจจุบันมีบุคลากรกลุ่มนี้ 1,645 คน จะมีค่าจ้างและผลตอบแทนสูงกว่าพนักงาน Generalist 10-20%" ปตท.เพิ่มผลตอบแทนพิเศษ 


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธาน เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ต้องการบุคลากรจำนวนมากรองรับไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นเทคโนโลยีและดิจิทัล โดย ปตท. มีผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างชาติมาทำงานที่สถาบันวิทยสิริเมธี และบริษัท พีทีทีดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด หรือ PTT DIGITAL และร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อศึกษาฟินเทค รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ให้ความสำคัญกับทีมดิจิทัลและส่งไปฝึกงานในต่างประเทศเพิ่มเติม 


"ปัจจุบันการให้ผลตอบแทนบุคลากรที่จะรองรับเทคโนโลยีและดิจิทัลของ ปตท.เป็นอัตราจูงใจ และมีสวัสดิการที่ดี แต่ยังไม่มีแนวคิดตั้งบริษัทเฉพาะ เพื่อแยกออกมา สำหรับจัดหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะบริษัทไม่ใช่ผู้ให้บริการโซลูชั่นแต่เป็นผู้เลือกใช้โซลูชั่น" 


แหล่งข่าวจาก ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ส่งบุคลากรไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง 300 ทุน ภายใน 5 ปี และนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา ปตท.รับพนักงานใหม่ปีละ 1-2% เพื่อทดแทนพนักงานที่ลาออกและเกษียณ ซึ่งเน้นคิดสร้างสรรค์และทันเทคโนโลยีดิจิทัล ดีอีลุยสร้างคนพันธุ์ดิจิทัล 


นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริม เศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เร่งปฏิบัติตามแผนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเห็นว่าการพัฒนาองค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จึงเร่งพัฒนาคนพันธุ์ดิจิทัล (Digital entrepreneur) ตามเป้าหมายกว่า 5 แสนราย ในระยะ 20 ปีและเตรียมส่งเข้าไปพัฒนาในระดับชุมชนโดยต้องการพลิกโฉม 24,700 ชุมชน 77 เมือง 3 ล้านเอสเอ็มอี และ 5 ล้านครัวเรือนสู่สังคมดิจิทัล ซึ่งจะพัฒนาตั้งแต่ฐานรากเพื่อเข้าถึงวิสาหกิจชุมชน และการพัฒนากำลังคนพันธุ์ดิจิทัลทุกระดับ เบื้องต้น จะสร้างบุคลากร 4,400 รายเป็นกลุ่มนำร่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล "การจะขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิทัลต้องเตรียมความพร้อมทั้งกฎหมายและแรงจูงใจ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดดิจิทัลพาร์ค ดิจิทัลสมาร์ซิตี้ และดิจิทัลคอมมูนิตี้" ธุรกิจเร่งซื้อตัวคนในแวดวง 


นายณัฐศักดิ์ โรจนพิเชฐ กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่าการขาดแคลนบุคลากรไอทีเป็นปัญหามานานแล้ว โดยทั่วไปบริษัทเอกชนต่างๆ จะหาคนโดยการดึงจากบริษัทอื่นๆ ในแวดวงไอทีด้วยกัน หรือไม่ก็เป็นคนต่างชาติ บางบริษัทโดยออราเคิลใช้วิธีการจัดโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนิสิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกสู่สนามจริง พร้อมเปิดโอกาสให้คนมีความสามารถได้รับการคัดเลือกให้ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนการดึงคน จากซิลิคอนวัลเลย์ เคยดึงตัวมาทำงานบ้างแต่เป็นการทำงานในบริษัทระดับภูมิภาค 


นายอภิเษก เทวินทรภักติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เบริล 8 พลัส ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านไอทีสัญชาติไทย กล่าวว่า การเฟ้นหาคนของบริษัทเน้นคนจากภายในประเทศ รวมไปถึงเด็กจบใหม่แล้วนำมาอบรมเสริมความรู้ให้มีความรู้ความเข้าใจในงานที่ต้องรับผิดชอบ และมีบ้างที่มีการเสริมทีมงานที่มีประสบการณ์สูงจากต่างประเทศ 


'จ๊อบไทย'เผยงานไอทีสุดฮิต รายงานจาก "จ๊อบไทยดอทคอม" (JobThai.com)เว็บไซต์หางาน สมัครงานเผยงานสายไอทีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพียง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.2561) มีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-4,000 อัตราต่อเดือน โดยมี 5 ประเภทงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่

1.งานโปรแกรมเมอร์ (
Programmer)ตามมาด้วย

2.งานดูแลระบบเครือข่าย (
IT Administrator)


3.งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ (Technical Support)

4.งานพัฒนาเว็บไซต์ (Web Programmer)

5.งานการตลาดดิจิทัล (
Digital Marketing) 



นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม กล่าวว่า สายไอทีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ไทยขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ คือ กลุ่มธุรกิจ สตาร์ทอัพและกลุ่มธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม สะท้อนว่าในอนาคตสายงานด้านกลุ่มสะเต็ม (STEM) ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และสถิติเป็นที่ต้องการสูง 


"โปรแกรมเมอร์" มนุษย์ทองคำ จากการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูล งานสายไอทีที่อยู่ในเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ.2561 พบว่า มีความ ต้องการงานโปรแกรมเมอร์จำนวน 1,238 อัตรา คิดเป็น 36.8%ของงานสายไอทีทั้งหมด งานคือ การเขียนและพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ตามความต้องการขององค์กร เช่น พัฒนา แอพพลิเคชั่น รวมถึงการดูแลและตรวจสอบ ระบบฐานข้อมูล


งานดูแลระบบเครือข่ายจำนวน 464 อัตรา คิดเป็น 13.8% รายละเอียดงานคือ การดูแลระบบเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ ประกอบ ติดตั้ง ลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ซ่อมแซม บำรุงรักษาอุปกรณ์ทั้ง ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์
 


งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์จำนวน 451 อัตรา คิดเป็น 13.4% รายละเอียด งานคือ การให้บริการข้อมูล ให้คำปรึกษา และ แก้ไขปัญหาการใช้งานต่างๆ ด้านสารสนเทศ

งานพัฒนาเว็บไซต์จำนวน 243 อัตรา คิดเป็น 7.2% รายละเอียดงานคือ การออกแบบและพัฒนาระบบเว็บไซต์ รวมถึงการบริหารจัดการ ข้อมูลต่างๆ บนเว็บไซต์

ด้านงานการตลาดดิจิทัล จำนวน 208 อัตรา คิดเป็น 6.2%.
   
ขอบคุณข่าวจาก : bangkokbiznews.com
 
Visitors: 620,909