11 เมืองเสี่ยงเผชิญภาวะ “ขาดแคลนน้ำดื่ม”

 
แหล่งที่มา : www.bbc.com วันที่โพสต์ :  12 ก.พ. 2561
       
11 เมืองเสี่ยงเผชิญภาวะ “ขาดแคลนน้ำดื่ม”

หลังมีการเปิดเผยผลการศึกษาหลายชิ้นที่คาดการณ์ว่า นครเคปทาวน์ ของแอฟริกาใต้จะกลายเป็นเมืองใหญ่แห่งแรกของโลกที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการบริโภค ล่าสุดก็มีการเปิดเผยรายชื่อเมืองใหญ่อีก 11 ประเทศ ที่อาจประสบปัญหาแบบเดียวกัน

วิกฤตขาดแคลนน้ำจืดสำหรับการบริโภคของนครเคปทาวน์ มีสาเหตุมาจากฝนตกน้อยต่อเนื่อง 3 ปี รวมทั้งความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่า ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นภายในเดือน มี.ค. นี้

วิกฤตที่เคปทาวน์กำลังเผชิญเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาขาดแคลนน้ำที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนมานาน เพราะแม้ว่าราว 70% ของพื้นผิวโลกจะปกคลุมด้วยน้ำ แต่กลับมีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด

ปัจจุบันคาดว่า ประชากรโลกกว่า 1,000 ล้านคนขาดแคลนน้ำดื่มน้ำกินทั้งปี และอีก 2,700 ล้านคนประสบปัญหานี้อย่างน้อยปีละ 1 เดือน ผลการสำรวจเมืองใหญ่ 500 เมืองทั่วโลกเมื่อปี 2014 คาดว่า 1 ใน 4 ของเมืองเหล่านี้เผชิญภาวะ "ความบีบคั้นทางทรัพยากรน้ำ" (water stress)

การประมาณการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำจืดของคนทั่วโลกจะมีมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ 40% ภายในปี 2030 จากหลายปัจจัยประกอบกัน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การกระทำของมนุษย์ และการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก

นอกจาก เคปทาวน์ แล้ว ยังมีอีก 11 เมืองใหญ่ทั่วโลกที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาเดียวกัน

 
แหล่งกักเก็บน้ำที่แห้งเหือดของเซาเปาโล ในช่วงปัญหารุนแรงที่สุด
1 . เซาเปาโล

นครเซาเปาโล เมืองศูนย์กลางทางการเงินของบราซิล และเป็น 1 ใน 10 เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เคยประสบปัญหาเดียวกับนครเคปทาวน์มาแล้วเมื่อปี 2015 หลังจากบรรดาแหล่งกักเก็บน้ำหลักของประเทศมีปริมาณน้ำต่ำกว่าระดับที่ควรเป็น 4%

ในช่วงปัญหารุนแรงที่สุด เซาเปาโลมีน้ำเหลือให้ชาวเมือง 21.7 ล้านคนใช้ได้ไม่ถึง 20 วัน ส่งผลให้ตำรวจต้องคอยอารักขารถจ่ายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการการปล้นสะดมขึ้น

เชื่อกันว่า ปัญหานี้เกิดจากภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลระหว่างปี 2014-2017 แต่คณะผู้แทนยูเอ็นในเซาเปาโลวิจารณ์ว่าเป็นเพราะทางการไม่มีแผนการลงทุนและรับมือกับปัญหาอย่างเหมาะสม

วิกฤตขาดแคลนน้ำของเซาเปาโลที่คาดว่าจะสิ้นสุดลงในปี 2016 ได้ยืดเยื้อมาถึงเดือน ม.ค. 2017 ซึ่งแหล่งกักเก็บน้ำหลักของประเทศมีปริมาณน้ำต่ำกว่าระดับที่ควรเป็นถึง 15% ทำให้เกิดความไม่แน่นอนถึงอนาคตเรื่องน้ำสำหรับการบริโภคในมหานครแห่งนี้อีกครั้ง

 
บังคาลอร์ ประสบปัญหามลพิษรุนแรง ทำให้ไม่มีน้ำตามทะเลสาบใดเลยที่สามารถนำมาใช้ดื่มกินหรือใช้อาบได้
2. บังคาลอร์

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเมืองทางภาคใต้ของอินเดียแห่งนี้กำลังเผชิญกับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการที่บังคาลอร์ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของประเทศ ทำให้เมืองแห่งนี้ต้องพบกับความยากลำบากในการจัดการระบบน้ำดีและน้ำเสียของเมือง

สถานการณ์น้ำของบังคาลอร์เลวร้ายลงอีกจากระบบท่อส่งน้ำประปาที่เก่าคร่ำครึและจำต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน โดยรายงานจากรัฐบาลกลางอินเดียระบุว่า ปัญหานี้ทำให้เมืองสูญเสียน้ำดื่มไปกว่าครึ่งโดยเปล่าประโยชน์

เช่นเดียวกับจีน อินเดียก็กำลังประสบปัญหามลพิษทางน้ำ และบังคาลอร์ ก็ไม่ต่างกัน ผลการศึกษาพบว่า 85% ของน้ำตามทะเลสาบในเมืองสามารถใช้ประโยชน์ได้เฉพาะด้านชลประทาน เช่น ด้านการเกษตร และใช้หล่อเย็นในงานอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยที่ไม่มีน้ำตามทะเลสาบใดเลยที่สามารถนำมาใช้ดื่มกินหรือใช้อาบได้

3. ปักกิ่ง

ธนาคารโลกนิยามคำว่า "ขาดแคลนน้ำ" เอาไว้ว่า การที่ประชากรในพื้นที่หนึ่งได้รับน้ำจืดไม่ถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ทว่าในปี 2014 ชาวกรุงปักกิ่งกว่า 20 ล้านคนกลับได้รับน้ำจืดเพียง 145 ลูกบาศก์เมตร

จีนมีจำนวนประชากรเกือบ 20% ของประชากรโลก ทว่ากลับมีปริมาณน้ำจืดในประเทศเพียง 7% ของทรัพยากรน้ำจืดทั้งโลก การศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ ประเมินว่า ปริมาณน้ำสำรองในจีนลดลง 13% ระหว่างปี 2000-2009

นอกจากนี้ยังมีปัญหามลพิษทางน้ำ ซึ่งข้อมูลจากทางการจีนระบุว่า 40% ของแหล่งน้ำผิวดินในกรุงปักกิ่งเน่าเสียเป็นพิษจนไม่สามารถนำมาใช้ได้แม้แต่ในด้านเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม

 
แม่น้ำไนล์ กำลังกลายเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดจากภาคเกษตรกรรมและครัวเรือน
4. ไคโร

แม่น้ำไนล์ สายน้ำสำคัญแหล่งประวัติศาสตร์ของหนึ่งในอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในยุคโบราณ ทว่าปัจจุบันกลับเสื่อมโทรมลง

น้ำ 97% ของอียิปต์มีแหล่งกำเนิดจากแม่น้ำไนล์ ทว่าแม่น้ำสายนี้กำลังกลายเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดจากภาคเกษตรกรรมและครัวเรือน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า อียิปต์อยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำซึ่งมีตัวเลขการตายที่สืบเนื่องจากมลพิษทางน้ำมาก และยูเอ็นประเมินว่าอียิปต์จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มอย่างรุนแรงภายในปี 2025

 
การลักลอบขุดบ่อน้ำบาดาลทำให้พื้นที่ราว 40% ของกรุงจาการ์ตาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล
5. จาการ์ตา

เช่นเดียวกับบรรดาเมืองตามแนวชาวฝั่ง กรุงจาการ์ตาเผชิญภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคของเมืองหลวงอินโดนีเซียแห่งนี้ก็เลวร้ายลงอีกจากผลโดยตรงของน้ำมือมนุษย์

มีข้อมูลบ่งชี้ว่าไม่ถึงครึ่งของชาวกรุงจาการ์ตาราว 10 ล้านคน มีน้ำประปาใช้ ส่งผลให้มีการลักลอบขุดบ่อน้ำบาดาลอย่างแพร่หลาย จนทำให้เกิดปัญหาชั้นหินอุ้มน้ำยุบตัวจากการสูบน้ำบาดาลไปใช้มากเกินไป

แม้จะมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก แต่น้ำก็ไม่สามารถซึมลงไปเติมเต็มชั้นหินดังกล่าวได้เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของจาการ์ตาปกคลุมไปด้วยถนนคอนกรีตและยางมะตอย ธนาคารโลกประเมินว่า ปัจจัยนี้ทำให้พื้นที่ราว 40% ของกรุงจาการ์ตาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

6. มอสโก

แม้รัสเซียจะมีทรัพยากรน้ำจืดคิดเป็น 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำจืดในโลก แต่ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมในยุคโซเวียตก็ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงมอสโก ซึ่ง 70% ของน้ำดื่มน้ำใช้มาจากแหล่งน้ำผิวดิน

หน่วยงานรัฐหลายองค์กรของรัสเซียยอมรับว่า 35-60% ของแหล่งน้ำสำรองเพื่อการบริโภคในประเทศมีคุณภาพต่ำกว่าระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัย

 
รัฐบาลตุรกี ระบุว่า ประเทศกำลังอยู่ในภาวะ "ความบีบคั้นทางทรัพยากรน้ำ"
7. อิสตันบูล

ข้อมูลของรัฐบาลตุรกี ระบุว่า ในทางหลักการ ประเทศกำลังอยู่ในภาวะ "ความบีบคั้นทางทรัพยากรน้ำ"เพราะในปี 2016 ประชากรได้รับน้ำจืดไม่ถึง 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อคน

ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นได้เตือนว่า สถานการณ์นี้อาจเลวร้ายลงกลายเป็นภาวะ "ขาดแคลนน้ำ" ได้ภายในปี 2030 โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่างนครอิสตันบูล เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้ง ขณะที่ระดับน้ำสำรองลดลงเหลือไม่ถึง 30% ของปริมาณที่ควรเป็นในช่วงต้นปี 2014

8. เม็กซิโกซิตี

ภาวะขาดแคลนน้ำไม่ใช่ปัญหาใหม่ของคนในเมืองหลวงเม็กซิโกราว 21 ล้านคน เพราะ 1 ใน 5 ของประชากรมีน้ำประปาใช้เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนอีก 20% มีน้ำประปาใช้เพียงบางช่วงของวัน

ด้วยเหตุนี้ทำให้กรุงเม็กซิโกซิตีต้องนำน้ำจากแหล่งอื่นที่อยู่ห่างไกลมาใช้ คิดเป็นสัดส่วน 40% ของน้ำทั้งหมดในเมือง แต่ขณะเดียวกันกลับไม่มีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำเป็นระบบใหญ่ อีกทั้งยังมีปัญหาสูญเสียน้ำไปในเครือข่ายส่งน้ำประปาที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกราว 40% ด้วย

 
อัตราน้ำที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ของกรุงลอนดอนอยู่ที่ 25%
9. ลอนดอน

หลายคนอาจไม่คิดว่า กรุงลอนดอนจะเป็นหนึ่งในเมืองที่เสี่ยงภัยน้ำขาดแคลน ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาตลอดทั้งปีของเมืองหลวงแห่งนี้กลับอยู่ที่ 600 มิลลิเมตร (ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของกรุงปารีส และอยู่ระดับครึ่งหนึ่งของนครนิวยอร์ก) ราว 80% ของน้ำอุปโภคบริโภคมาจากแม่น้ำ คือ แม่น้ำเทมส์ และแม่น้ำลี

ทางการกรุงลอนดอนเปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า เมืองหลวงแห่งนี้กำลังใช้ทรัพยากรน้ำใกล้ถึงขีดสูงสุด และมีแนวโน้มจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำภายในปี 2025 ปัญหาดังกล่าวจะแตะระดับรุนแรงภายในปี 2024 ทำให้คาดว่า การออกกฎห้ามใช้สายยางรดน้ำต้นไม้ หรือล้างรถ อาจเป็นเรื่องปกติในอนาคต

10. โตเกียว

แม้กรุงโตเกียวจะมีปริมาณน้ำฝนมาก แต่เป็นฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลาเพียง 4 เดือนต่อปีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ เพราะหากปีใดฤดูฝนมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาแห้งแล้งได้

กรุงโตเกียวซึ่งมีประชากรกว่า 30 ล้านคน มีระบบน้ำประปาที่พึ่งพิงแหล่งน้ำผิวดินถึง 70%

 
เมืองไมอามีกำลังเผชิญปัญหาน้ำเค็มยังรุกล้ำแหล่งน้ำจืดหลักของเมือง
11. ไมอามี

รัฐฟลอริดา เป็น 1 ใน 5 รัฐของสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาฝนตกหนักเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม เมืองไมอามีกลับเผชิญวิกฤตในการกรองน้ำดื่มที่ปนเปื้อนน้ำเค็มจากมหาสมุทรแอตแลนติก

ปัญหาดังกล่าวเป็นผลพวงจากโครงการระบายน้ำออกจากหนองน้ำข้างเคียงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้น้ำเค็มจากมหาสมุทรแทรกซึมเข้าสู่ชั้นหินอุ้มน้ำบิสเคน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดหลักของเมือง

แม้จะพบปัญหานี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 แต่น้ำเค็มยังรุกล้ำเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพราะเมืองไมอามีประสบปัญหาน้ำทะเลเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำเค็มไหลผ่านที่กั้นใต้ดินที่ติดตั้งไว้ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนอกจากไมอามี ก็ยังมีเมืองข้างเคียงอีกหลายแห่งที่ประสบปัญหาเดียวกัน

   
ขอบคุณข่าวจาก : bbc.com
 
 
Visitors: 629,668