แสงแดด สายลม พลังงานราคาถูก

 
แหล่งที่มา : www.cleantechnica.com และ
               
Facebook/
Suttichai Taksanun
วันที่โพสต์ :  18 มี.ค. 2561
       
 แสงแดด สายลม พลังงานราคาถูก

  
โซลาร์ในอริโซน่า 1.41 บาท/Kwh
พลังงานทดแทนไทย 2.44 บาท/Kwh
ต้นทุนถ่านหินไทย 2.67 บาท/Kwh
เปิดกว้างการประมูล ดีต่อคนทั้งชาติ


ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2018 มีรายงานผู้ชนะการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าที่เสนอราคาต่ำที่สุดในโลกในราคา 2.34 เซนต์ต่อหน่วย หรือ Kwh คิดเป็นเงินไทย 0.74 บาท (31.43 บาท ต่อดอลลาร์) เป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 300 เมกกะวัตต์ ในซาอุดิอาระเบีย ถือว่าเป็นสถิติโลกที่มีราคาต่ำที่สุดในปัจจุบัน แต่เป็นสถิติที่กำลังรอถูกทำลายในเร็วๆนี้แน่.. 


ส่วนสถิติโลกของต้นทุนค่าไฟจากพลังงานลมเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2017 ชนะการประมูลในราคา 3.7 เซนต์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินไทย 1.16 บาท เป็นกังหันลมที่จะติดตั้งในรัฐแอลเบอร์ตา แคนาดา เป็นโครงการขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่แบ่งให้กับผู้ชนะการประมูล 4 ราย


สาเหตุที่ทำให้ราคาค่าไฟที่ชนะการประมูลมีราคาต่ำลง เพราะต้นทุนการผลิตลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีดีขึ้น การทำงานของแผงโซลาร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนแบตเตอรี่มีราคาลดลงทุกปี หรืออย่างในกรณีของประสิทธิภาพกังหันลมแต่ละอัน เมื่อสิบปีก่อนผลิตไฟได้ต่ำกว่า 3 เมกะวัตต์ แต่ในวันนี้ทำได้ 12-15 เมกะวัตต์


ตัวเลขผู้ชนะการประมูลหรือการเสนอขายไฟฟ้าจากทั่วโลก น่าจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยได้ใช้เป็นเป้าหมายที่ต้องทำได้


ช่วงกลางปี 2017 รัฐอริโซน่าของอเมริกา มีผู้ชนะการประมูลโครงข่ายไฟฟ้าที่เป็นโซลาร์ขนาด 100 เมกะวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ 30 เมกกะวัตต์ หรือ 120 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ราคาที่ชนะการประมูล คือ 4.5 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นค่าไฟ 1.41 บาทต่อหน่วย 


เมื่อวันที่ 16-11-2017 อีลอน มัสต์ ประกาศในวันเปิดตัวรถบรรทุกเทสล่าว่า... ในปี 2019 สถานีชาร์จไฟของเทสล่า จะคิดค่าไฟต่อหน่วยที่ 7 เซ็นต์หรือต่ำกว่า คิดเป็นเงินไทยในวันนี้เท่ากับ 2.20 บาท ต่อหน่วย


ตัวเลขต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน ตามรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่จัดทำขึ้นในช่วงกลางปี 2015 คือ
-โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2.67 บาท ต่อหน่วย
-โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3.09 บาท ต่อหน่วย
-โรงไฟฟ้าชีวมวล 4.69 บาท ต่อหน่วย
-โรงไฟฟ้าพลังงานลม 6.06 บาท ต่อหน่วย
-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 5.66 บาท ต่อหน่วย


หากเปรียบเทียบกับผู้ชนะการประมูลในตลาดโลกล่าสุด จะเห็นว่ามีความแตกต่างกับต้นทุนค่าไฟของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในประเทศไทยอย่างมาก 


กระทรวงพลังงานของไทยมีการเปิดประมูลให้สร้างโรงไฟฟ้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่โดยภาคเอกชนหลายครั้ง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าการแข่งขันเสรีช่วยทำให้ต้นทุนต่ำลงได้จริงๆ


เมื่อปลายปี 2017 มีการประกาศผู้ชนะการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กรวม 17 แห่ง รวมกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนแบบ FiT เช่น ขยะชุมชน ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานน้ำ พลังงานลม โซลาร์ เรียกโครงการนี้ว่า SPP Hybrid Firm ผลปรากฎว่า ผู้ชนะการประมูลมีราคาค่าไฟโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 บาท ต่อหน่วย หนึ่งในผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ใช้พลังงานโซลาร์ และมีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่


ทางกระทรวงพลังงานกำหนดราคาประมูลสูงสุดไว้ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย แต่ผู้ชนะเสนอราคาอัตราค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าอัตรารับซื้อที่รัฐกำหนดไว้ถึง 1.22 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 33%


มีรายงานแจ้งว่า กระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมประมูลในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด


แม้ว่าต้นทุนค่าไฟไทยจะลดต่ำลง แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศยังห่างไกลกันมาก ดูตัวอย่างรัฐอริโซน่า ในอเมริกาก็ได้ ค่าไฟพลังงานโซลาร์ที่มีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีไฟฟ้าให้ใช้ทั้งวันทั้งคืน มีต้นทุนเพียง 1.41 บาท ต่อหน่วย ถูกกว่าต้นทุนล่าสุดของไทย 1.03 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 42%


หรืออย่างกรณีของปั๊มชาร์จไฟเทสล่า ใครอยากได้ไฟฟ้าราคาถูกสามารถเข้าไปซื้อไฟราคา 2.20 บาทต่อหน่วย จะชาร์จแล้วมาใช้ที่บ้านก็ได้ ถูกกว่าค่าไฟในไทยประมาณ 10%


ข้อมูลจากต่างประเทศ น่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับบริษัทในไทยที่จะใช้เป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ การประมูลต่างๆควรเปิดกว้างให้โอกาสบริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลด้วย และข้อสำคัญที่สุดก็คือความโปร่งใส มันคงช่วยรักษาผลประโยชน์ให้กับคนในชาติได้อีกมาก......

Link ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

https://cleantechnica.com/…/acwa-power-develop-first-ever-…/

https://www.desmog.ca/…/alberta-s-leading-pack-cheap-wind-p…

https://www.theenergycollective.com/…/cheap-renewables-tran…

http://www.energynewscenter.com/index.php/news/detail/1143

https://www.egat.co.th/index.php…

   
ขอบคุณข่าวจาก : www.cleantechnica.com และ
                        
Facebook/
Suttichai Taksanun
 
Visitors: 627,557