เกาะไต้หวันตั้งเป้าแน่วแน่ “หยุด” ใช้สิ่งของพลาสติกแบบ “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง”ภายในปี2573

 
แหล่งที่มา : www.thairath.co.th โดย อานุภาพ เงินกระแชง 
วันที่โพสต์ :  28 มี.ค. 2561
       
เกาะไต้หวันตั้งเป้าแน่วแน่  
“หยุด” ใช้สิ่งของพลาสติกแบบ “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง”ภายในปี2573

เกาะไต้หวันตั้งเป้าแน่วแน่ต้องการ “หยุด” ใช้สิ่งของพลาสติกแบบ “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ทั้งหมดภายในปี 2573 หรือ 12 ปีข้างหน้า ตามนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นรักษาสภาพแวดล้อมมากขึ้นเช่นเดียวกับกระแสตื่นตัวเรื่องนี้ทั่วโลก

สิ่งของพลาสติกแบบ “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ไล่ตั้งแต่หลอดดูดน้ำ ถุงพลาสติก แก้ว จาน ชามพลาสติกและอื่นๆที่ทำจากพลาสติก เพราะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมอย่างคาดไม่ถึง

ประเมินว่า ชาวเกาะไต้หวันแต่ละคน (ประชากรราว 23.5 ล้านคน) ใช้เฉพาะถุงพลาสติกเฉลี่ยปีละ 700 ถุง ทางการตั้งเป้าเบื้องต้นลดจำนวนการใช้ให้เหลือเฉลี่ยคนละ 100 ถุงภายในปี 2568 และปลอดถุงพลาสติกทั้งหมดภายในปี 2573

เฉพาะปีที่แล้ว ทางการไต้หวันต้อง “รีไซเคิล” ขยะถุงพลาสติกน้ำหนักมากถึง 200,000 ตัน ไม่นับรวมขยะหลอดดูดน้ำพลาสติก ซึ่งถือว่าเก็บ กำจัดและรีไซเคิลยาก ทั้งพบได้มากมายตามชายหาดเกือบทุกแห่งของโลก

เป้าหมายของทางการไต้หวันคือ ตั้งแต่ปีหน้า 2562 ตามร้านอาหารทุกแห่งต้องไม่มีบริการหลอดดูดน้ำพลาสติกแก่ลูกค้า มาตรการนี้จะขยายไปเรื่อยๆจนไต้หวันกลายเป็นเกาะปลอดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2573

ใช่เฉพาะเกาะไต้หวันดำเนินการลักษณะนี้เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อม หลายประเทศในยุโรปดำเนินการเรื่องนี้กันไปแล้ว สหภาพยุโรปเริ่มทยอยหยุดการใช้สิ่งของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่รัฐบาลอังกฤษอยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกใช้หลอดดูดน้ำพลาสติกด้วยพบว่าแต่ละปีชาวเมืองผู้ดีอังกฤษใช้หลอดดูดน้ำพลาสติกมากถึงกว่า 8,500 ล้านหลอด การกำจัดหลอดดูดน้ำเหล่านั้นด้วยวิธีธรรมชาติต้องใช้เวลานานมากกว่า 200 ปี ผลกระทบจากขยะพลาสติกยังหมุนเวียนเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติและวนกลับมาถึงมนุษย์อีกไม่รู้จบสิ้น

นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษ “เทเรซา เมย์” ต้องการกำจัดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมดให้ได้ภายใน 25 ปี แม้แต่พระราชวังบักกิ้งแฮม ปราสาทวินเซอร์และสถานที่ ประทับของราชวงศ์อังกฤษเกือบทุกแห่ง ต่างก็มีนโยบายลดการใช้ภาชนะและสิ่งของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

เสียงต่อต้านเรื่องหยุดใช้หลอดดูดน้ำพลาสติกก็มีอยู่บ้างในอังกฤษ กลุ่มเคลื่อนไหวบางส่วนชี้แจงเหตุผลเครื่องดื่มร้อนใช้หลอดดูดน้ำแบบทำจากกระดาษไม่ได้ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสันก็อันตรายเกินไปถ้าจะใช้หลอดดูดน้ำแบบทำจากโลหะ

   
ขอบคุณข่าวจาก : thairath.co.th โดย อานุภาพ เงินกระแชง 
 
Visitors: 620,972