ไฟฟ้าพลังแดดของคนปลายสาย

 
แหล่งที่มา : www.greenpeace.org วันที่โพสต์ :  7 มี.ค. 2561
       
ไฟฟ้าพลังแดดของคนปลายสาย 
 

ไม่ใช่แค่สุดขอบแผ่นดิน แต่ยังต้องข้ามน้ำทะเลต่อไปอีก เกาะลันตาจึงเป็นชุมชนสุดท้ายของสายส่งไฟฟ้าที่เดินต่อมาจาก อ.เหนือคลอง และ อ.คลองท่อม

เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งใช้ไฟฟ้ามากกว่าชุมชนอยู่อาศัยทั่วไป ยิ่งทำให้ที่นี่เผชิญปัญหาไฟตกไฟดับอยู่บ่อยๆ บางครั้งแรงดันลดต่ำกลายเป็นกระแสไฟฟ้าด้อยคุณภาพที่แทบใช้งานไม่ได้ และบางครั้งก็เกิดไฟกระชากจนอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบางรายเลือกยืดอายุเครื่องไฟฟ้าราคาแพงโดยติดตั้งเครื่องปรับแรงดันกระแสไฟฟ้า และมีเพียงไม่กี่รายที่เลือกสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ตัวเองด้วยแผงโซลาร์เซลล์

 
ลันตา มาร์ท  © Chanklang Kanthong / Greenpeace
รายแรก ที่ต้องกล่าวถึงคือ ลันตา มาร์ท ของ โกออย วิสาท กษิรวัฒน์ กับ พี่ขวัญ ขวัญกนก กษิรวัฒน์ สามีภรรยาซึ่งดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งแต่ปี 2541 และสนใจพลังงานแสงอาทิตย์ในฐานะพลังงานสะอาดมานานเป็นสิบปีเพราะเห็นตัวอย่างในต่างประเทศ ทว่าตอนนั้นโซลาร์เซลล์ยังไม่แพร่หลายในบ้านเรา กระทั่งเป็นที่รู้จักใช้งานกันมากขึ้นและราคาขยับลงมาในระดับเอื้อมถึง จึงสบโอกาสติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวน 160 แผง ในปี 2558
 
โกออย วิสาท กษิรวัฒน์  © Chanklang Kanthong / Greenpeace
“กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 48 กิโลวัตต์ แต่ผลิตไฟฟ้าได้ไม่เต็ม เพราะหลังคาเดิมไม่ค่อยเหมาะ แผงบางส่วนโดนบังตลอดช่วงบ่าย ระบบของเราไม่มีแบต ไฟฟ้าที่ผลิตได้ป้อนแอร์ก่อน ส่วนที่เหลือค่อยจ่ายไปเครื่องไฟฟ้าอื่นๆ ในร้าน” พี่ขวัญอธิบาย
 
พี่ขวัญ ขวัญกนก กษิรวัฒน์  © Chanklang Kanthong / Greenpeace
เพื่อให้ใช้พลังงานทางเลือกอย่างคุ้มค่าและลดค่าไฟฟ้าได้มากที่สุด บริษัทรับออกแบบติดตั้งโซลาร์เซลล์ต้องเข้ามาสำรวจการใช้พลังงานของร้าน ตรวจสอบจุดรั่วไหล และเสนอวิธีอุดช่องโหว่ความสิ้นเปลืองพลังงาน ลันตา มาร์ท จึงลงมือหลายสิ่งอย่างตามแนวทางอนุรักษ์พลังงานควบคู่กับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ดังนี้

หนึ่ง...ติดตั้งฉนวนใต้กระเบื้องและเหนือฝ้าเพดานเพื่อป้องกันความร้อนเข้าตัวอาคาร
สอง...ย้ายคอมเพรสเซอร์ของตู้แช่เย็นและตู้แช่แข็งออกนอกอาคารเพื่อลดภาระเครื่องปรับอากาศ 
สาม...โละอุปกรณ์ไฟฟ้าเก่าครึ โดยเปลี่ยนตู้แช่แข็งและตู้เย็นรุ่นใหม่ เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นแบบไฮบริดที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์เป็นหลักและสลับมาใช้ไฟฟ้าจากระบบกริดโดยอัตโนมัติเมื่อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ รวมถึงเปลี่ยนเป็นหลอดไฟแอลอีดีทั้งหมดมากกว่าร้อยหลอด

 
แผงควบคุมการจ่ายอัตโนมัติ  © Chanklang Kanthong / Greenpeace
“ถ้าเราอยากเห็นผลชัดเจน ต้องเปลี่ยนทั้งหมดทีเดียว ทุกอย่างมันประกอบกัน” โกออยสรุป

ลันตา มาร์ทเริ่มใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูท่องเที่ยวและเปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 8.00-23.00น. เมื่อเปรียบเทียบค่าไฟฟ้ากับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 
เครื่องปรับอากาศ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์  © Chanklang Kanthong / Greenpeace
“ฮึ่ย ลดจนตกใจ จากแสนสองเหลือเจ็ดหมื่นบาท ตอนแรกไม่คิดว่าจะลดขนาดนี้ ผ่านไปสามเดือน รู้เลยว่ามันได้ผลจริงๆ ถูกใจมาก” โกออย เล่าพร้อมรอยยิ้ม ขณะที่ช่วงโลว์ซีซั่นอีก 6 เดือนซึ่งลูกค้าน้อย จะปิดร้านเวลา 17.00น. และหยุดวันอาทิตย์ เดิมทีต้องจำกัดการใช้ไฟฟ้าอย่างเคร่งครัดโดยเปิดตู้แช่และห้องเย็นอย่างละ 1 เครื่อง เปิดเครื่องปรับอากาศน้อยลง พี่ขวัญถึงกับโอดครวญว่า ร้อนมากแทบจะทำการค้าไม่ได้ กระนั้นค่าไฟฟ้าก็ยังสามหมื่นกว่าบาทต่อเดือน แต่หลังติดตั้งโซลาร์เซลล์ สามารถเปิดทุกอย่างตามปกติเหมือนไฮซีซั่น แม้ตัวเลขเขยิบขึ้นมาอยู่ที่สี่หมื่นเศษ ก็ถือเป็นส่วนต่างที่เจ้าของกิจการยอมแลกเพราะอยู่สบายกว่ากันเยอะ
 
ตู้แช่ ใน ลันตา มาร์ท  © Chanklang Kanthong / Greenpeace
เมื่อถามถึงงบประมาณ...

“ไม่รวมค่าแอร์เพราะถึงเวลาต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว เฉพาะค่าแผงโซลาร์และระบบประมาณสองล้านบาท แต่ปีแรกก็ได้คืนมาหลายแล้ว มันคุ้มกับการลงทุน” พี่ขวัญกล่าวพร้อมประเมินคร่าวๆ ว่า น่าจะคืนทุนภายใน 5-6 ปี

“เราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เลยอยากนำร่องทำเป็นตัวอย่างว่ามันใช้งานได้ ลดค่าไฟฟ้าจริง เป็นทางออกสำหรับคนใช้ไฟฟ้าเยอะช่วงกลางวัน ผลิตแล้วใช้เลย ไม่ต้องเก็บในแบต ปีนี้จะรีโนเวทร้านครั้งใหญ่ ออกแบบหลังคาหันทางทิศใต้ให้แผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเต็มศักยภาพ น่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่านี้ แล้วเอาแผงบางส่วนมาโชว์หน้าร้าน ติดป้ายว่าเราใช้พลังงานสะอาด” ทั้งคู่ทิ้งท้ายด้วยการประกาศเจตนาชัดเจน

 
ไพบูลย์ เตชจารุวงศ์  หรือ พี่แจ๊ค  © Chanklang Kanthong / Greenpeace

จากนั้นเราตามไปคุยกับ พี่แจ๊ค ไพบูลย์ เตชจารุวงศ์ อดีตวิศรกรคอมพิวเตอร์เมืองกรุงซึ่งสนใจและคลุกวงในกับโซลาร์เซลล์มาตั้งแต่มันยังราคาแพงระยับ กระทั่งหลงเสน่ห์ทะเลลันตาจนต้องผันตัวมาทำร้านอาหารและที่พักเล็กๆ ขนาด 4 ห้อง ชื่อ “พาโนรามา” เมื่อสิบปีที่แล้ว เขาน่าจะเป็นผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์รายแรกบนเกาะนี้

“ตอนนั้นอยากเอามาใช้แทนไฟบ้าน แต่แตะไม่ได้เพราะแพงมาก และอุปกรณ์อื่นๆ อย่างอินเวอร์เตอร์ก็ยังคุณภาพต่ำ ตัวละหลายพันทำงานได้แค่ 100 วัตต์ ช่วงแรกแค่เล็กๆ เหมือนของเด็กเล่น เอามาชาร์จมือถือ ยังไม่ต่อเข้าระบบไฟฟ้าของที่พัก พอแผงค่อยๆ ถูกลงช่วง 4-5 ปีมานี้จึงซื้อแผงเพิ่มเพื่อใช้งานจริงจังขึ้น”

สถิติอินเวอร์เตอร์พัง 3 ตัวการันตีประสบการณ์การใช้งานและทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของแก็ดเจ็ต แมนรายนี้ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันโซลาร์เซลล์ของพาโนรามามีกำลังผลิตประมาณ 1,300 วัตต์ ต่อใช้งานกับปั๊มชักกับพัดลมกระแสตรง และมีแบตเตอรี่เก็บไฟสำหรับส่งผ่านอินเวอร์เตอร์ขนาด 4,000 วัตต์ แปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อป้อนเครื่องทำน้ำแข็ง 2 เครื่อง, เราเตอร์, เครื่องเสียง, ทีวี และบางครั้งก็รวมถึงตู้เย็น 1 เครื่องในช่วงกลางวัน

“ตกเย็นเปลี่ยนใช้ไฟฟ้าจาก กฟภ. เพื่อประหยัดแบตไว้ใช้กับไฟสปอร์ตไลท์ส่องทางเดินไปห้องพักและหน้าร้าน ตั้งเวลาให้เปิดตั้งแต่ 19.00น. ไม่ใช้ไฟการไฟฟ้า เพราะถ้าไฟดับอันนี้ก็ยังติดเพื่อความปลอดภัยของแขกช่วงในกลางคืน” เขาอธิบาย

สิ่งที่ล้ำหน้ากว่าผู้ใช้งานทั่วไปคือ พี่แจ๊คประดิษฐ์โซลาร์เซลล์หนึ่งแผงที่สามารถปรับหันตามแสงอาทิตย์ได้ด้วยกลไกง่ายๆ โดยติดตั้งไว้หน้าร้าน น่าเสียดายที่โดนนักท่องเที่ยวต่างชาติขี่มอเตอร์ไซค์ชนจนเสียหาย

ตอนเกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ของภาคใต้ประมาณ 4 ชั่วโมงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 เขาก็ยังมีอินเตอร์เน็ตใช้ ยังรับข่าวสารต่างๆ ได้เป็นปกติ

“เวิร์กนะ คุ้มด้วย มันสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้า ช่วงไฟดับเรายังมีไฟฟ้าใช้ ที่นี่ไฟตกดับบ่อย หลายคนเครื่องไฟฟ้าพัง แต่ของเราไม่ค่อยมีปัญหา อย่างไฟดับ ตู้เย็นดับ ไฟฟ้าจากแบตจะไหลเข้าระบบทำให้ตู้เย็นทำงานเป็นปกติอีกครั้ง และเกิดไฟกระชากน้อยกว่าใช้ไฟการไฟฟ้าโดยตรง คือตอนไฟมามันจะหน่วงเวลานิดนึงแล้วไฟการไฟฟ้าจึงเข้ามาเต็มที่”

ภาคใต้ฝนเยอะ จะเป็นอุปสรรคต่อการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์หรือไม่

ประเด็นนี้ พี่แจ๊ค บอกว่า คนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเยอะ คิดว่าต้องแดดจัดโซลาร์เซลล์จึงจะทำงานได้ดี แต่ความจริงคือปริมาณไฟฟ้าไม่ได้แปรผันตามความร้อน เมื่ออุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์สูงขึ้นมากเกินไป ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจะลดลง มันทำงานได้ดีกว่าในสภาพที่มีแสงแดดแต่ไม่ร้อนจัด ซึ่งฝนก็ช่วยให้อากาศเย็นลงอยู่แล้ว

“ภาคใต้ใช้คุ้ม ฝนไม่ได้ตกตลอดทั้งวัน หน้าฝน ฝนตกบ้าง แต่ฟ้ามีแดดบ้าง มันก็ทำงาน” เขายืนยัน

เมื่อถึงวันที่โซลาร์เซลล์ของลันตา มาร์ท ปรากฏผลลัพธ์ดีงาม ผู้ประกอบการกลุ่มเล็กๆ บนเกาะลันตาซึ่งสนใจการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนแนวคิดโกกรีน และเป็นสมาชิกโครงการ Zero Carbon Resorts ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการพลังงาน อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จึงล้อมวงคุยและคิดตรงกันว่า พลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดเป็นทางออกที่ลงตัวสำหรับเกาะลันตา

ในที่สุดพวกเขาก็เปิดบริษัท ลันตา โซลาร์ เซลล์ จำกัด เมื่อกลางปี 60 ในลักษณะกิจการเพื่อสังคมที่ไม่เอากำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง กรรมการทั้ง 6 คนประกาศไม่รับค่าตอบแทน แต่จะสะสมผลกำไรเข้ากองทุนเพื่อใช้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าเรื่องพลังงานหมุนเวียนบนเกาะลันตา เป้าหมายของบริษัทจึงเน้นขยายวงผู้ใช้งานโซลาร์เซลล์บนเกาะลันตา โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ควบคู่กับถ่ายทอดองค์ความรู้ใช้การใช้งาน รวมถึงให้คำปรึกษาด้านการจัดการพลังงานด้วย

“การจัดการพลังงานเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ควรจัดการให้ใช้พลังงานเต็มที่ในช่วงกลางวันที่ผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง อย่างของผมเป็นร้านอาหารด้วย อะไรที่กินดื่มต้องสะอาด เราจึงทำน้ำแข็งเอง กลางวันเปิดเครื่องทำน้ำแข็งเต็มที่แล้วเก็บเข้าตู้เย็น หรือปั๊มน้ำก็ปั๊มขึ้นไปเก็บเต็มที่ตอนกลางวัน เงื่อนไขสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือผู้ประกอบการ ถ้าคุณสนใจ คุณต้องส่งคนมาเรียนรู้กับเรา เน้นสร้างระบบเล็กๆ ก่อน ไม่ต้องใช้เงินเยอะ พอมีเงินค่อยเพิ่มแผงโดยใช้คนของคุณทำเอง จะได้ยืนได้ด้วยตนเอง” พี่แจ๊ค หนึ่งในกรรมการบริษัทอธิบาย

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ หรือ พี่โอ๊ะ คนสำคัญของการผลักดันแนวคิดลันตาโกกรีนในฐานะนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา และกรรมการบริษัท ลันตา โซลาร์ เซลล์ จำกัด แนะนำทำนองเดียวกันว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ควรเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยไม่ใช้แบตเตอรี่เพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้าระบบกริดบางส่วนในช่วงกลางวัน เมื่อแบตเตอรี่พัฒนาให้คุณภาพดีขึ้น ความจุมากขึ้น ราคาถูกลงค่อยซื้อมาติดตั้ง


ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ หรือ พี่โอ๊ะ  © Chanklang Kanthong / Greenpeace

โดยเฉพาะผู้ที่เลือกใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบ TOU หรือ Time of Use ซึ่งคิดราคาไฟฟ้าต่อหน่วยของการใช้งานระหว่าง 9.00-22.00น. ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ) แพงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ประมาณ 1.5-2.0 เท่า เนื่องจากเป็นช่วงที่ทั้งประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก พี่แจ๊คและพี่โอ๊ะเชียร์เต็มที่ให้หันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ เพราะช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าแพงในช่วงพีคได้แน่นอน

“ตอนนี้โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ติดโซลาร์เซลล์ด้วยงบประมาณ 1 แสนบาท จะลดค่าไฟฟ้าได้ราว 1 พันบาทต่อเดือน ด้วยเม็ดเงินเท่ากัน ถ้าเอาไปฝากธนาคาร ดอกเบี้ยแทบไม่เห็น” พี่โอ๊ะแสดงความเห็น

ธีรพจน์ มองว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรเป็นกลุ่มนำในการใช้พลังงานหมุนเวียน เพราะหากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กระจายไปตามโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหารทั่วเกาะลันตา นอกจากจะเสริมภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวสีเขียวตามแนวคิดลันตาโกกรีนแล้ว การพึ่งพาไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการรายละนิดละหน่อยยังสามารถลดภาระการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันในภาพรวมของเกาะลันตา และน่าจะเอื้อให้บ้านเรือนซึ่งไม่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย

“มันมีประโยชน์ต่อเนื่องเยอะ บริษัท ลันตา โซลาร์ เซลล์ ผลักดันเรื่องพลังงาน แต่เมื่อเราเข้าถึงผู้ประกอบการมากขึ้น เขาเห็นประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เห็นประโยชน์จากจุดขายเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เราจะผลักดันต่อในเรื่องอื่น เช่น น้ำเสีย ขยะ เพื่อก้าวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเราก็จะได้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีคุณภาพด้วย”

แม้ยังเป็นก้าวแรกๆ ของคนปลายสายที่พยายามสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าให้ตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่าต้องเดินไกลแค่ไหนจึงจะถึงสิ่งที่มุ่งหวัง แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็เริ่มต้นแล้ว นั่นย่อมหมายถึงการขยับเข้าใกล้ปลายทางมากขึ้นอีกหน่อย...และมากกว่าการวาดฝันโดยไม่ลงมืออะไรอย่างแน่นอน

   
ขอบคุณข่าวจาก : greenpeace.org
 
Visitors: 628,692