'ไทยบาทดิจิทัล' เชื่อมโลกเสมือนสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ

 
แหล่งที่มา : www.voicetv.co.th วันที่โพสต์ :  20 มี.ค. 2561
       
 'ไทยบาทดิจิทัล' เชื่อมโลกเสมือนสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ

บริษัท บาทฟินเทค เปิดตัว 'ไทยบาทดิจิทัล' เชื่อมโลกเสมือนแปลงเงินดิจิทัลเป็นเงินบาท จับมือ 'แอดไวซ์' ตลาดออนไลน์สินค้าไอที ร่วมสร้างประสบการณ์การซื้อขายชำระค่าสินค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซด้วยคริปโตเคอเรนซี่

นายศักดา เกตุแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาทฟินเทค จำกัด เปิดเผยว่า จากยอดการเติบโตของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการค้าขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ที่มีสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี หรือหาดูจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA พบว่า มูลค่าอี คอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตจาก 2 ล้านล้านบาทต่อปี เมื่อปี 2557 มามีมูลค่าอยู่ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาทต่อปี ในปี 2560 หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

 
แต่การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซและการซื้อขายออนไลน์ ก็มาพร้อมกับปัญหาการถูกหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 และกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง อีกทั้งเนื่องจากการซื้อขายส่วนใหญ่มียอดซื้อขายไม่มาก หรือเฉลี่ยแต่ละครั้งไม่เกิน 4,000 บาท เมื่อถูกหลอกลวงก็ไม่คุ้มค่ากับการฟ้องร้องหรือการเอาผิดทางกฎหมาย
"ประกอบการเงินบาทไทยเป็นสกุลเงินที่มีเสน่ห์ มีศักยภาพเมื่อเทียบกับสกุลเงินท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ในอาเซียน ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติในภูมิภาคนี้ จึงนิยมใช้เงินบาทมากกว่าเงินท้องถิ่นอาเซียนสกุลอื่นๆ"
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงได้คิดค้นระบบเงินดิจิทัล ที่สามารถปกป้องการซื้อขายออนไลน์ให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยพัฒนาระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลในชื่อ 'ไทยบาทดิจิทัล' หรือ TBD เพื่อเป็นตัวกลางผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยผู้ซื้อสามารถนำเหรียญ หรือคริปโตเคอร์เรนซีสกุลต่างๆ มาแปลงเป็นTBD ซึ่งมีค่า 1 TBD เท่ากับ 1 บาท เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการในตลาดอี คอมเมิร์ซได้ โดยล่าสุดบริษัท ได้จับมือกับบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ Advice เวบไซต์ขายสินค้าและอุปกรณ์ไอที เพื่อเพิ่มความสะดวกในการชำระเงินเพื่อซื้อและขายสินค้าและอุปกรณ์ไอทีผ่านเวบไซต์ของแอดไวซ์ฯ 
"TBD เปรียบเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ถือ coin หรือเหรียญที่เป็นสกุลเงินดิจิทัล แล้วต้องการแปลงเป็นเงินบาท โดยมาทำผ่านเวบไซต์แลกเปลี่ยนเงินที่ชื่อ cash2coin ซึ่งผมเป็นเจ้าของ แล้วใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในตลาดอี คอมเมิร์ซได้" นายศักดา กล่าว
โดยเร็วๆ นี้ จะเริ่มให้บริการใช้ TBD ชำระเงินซื้อสินค้าและบริการกับบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท เป็นรายแรก หลังจากที่บริษัทได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ขึ้นทะเบียนทำธุรกรรมชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้

ส่วนขั้นต่อไป บาทฟินเทคจะระดมทุนผ่าน ICO ออกเหรียญ BFIN จำนวน 300 ล้านเหรียญ มูลค่าเริ่มต้น 1 เหรียญต่อ 3 บาท เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนส่วนหนึ่งประมาณ 200 ล้านบาท ใช้เป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว และนำไปขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจอี มันนี่กับ ธปท.

ทั้งนี้ ระบบไทยบาทดิจิทัล เป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบ ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนการดำเนินการถูกลงเมื่อเทียบกับการผู้ให้บริการเพย์เมนต์ เกตเวย์รายอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บริษัทคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการแก่ผู้ขาย (หรือผู้รับชำระเงินด้วย TBD) ที่ร้อยละ 0.1 ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมที่ร้านค้าต้องจ่ายให้กับตัวกลางรับชำระเงินอื่นรายเดิมๆ ที่มีค่าธรรมเนียมร้อยละ 2-6 

นายศักดา ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเว็บไซต์ cash2coin มีปริมาณการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินบาทเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท และคาดว่า ในปี 2561 นี้ จะมีการใช้ระบบไทยบาทดิจิทัลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยทั้งหมด หรือคิดเป็น 70,000 ล้านบาท และระยะยาวคาดหวังจะเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี 

"เราระดมทุนผ่าน ICO ด้วยการออกเหรียญ BFIN เพื่อนำเงินทุนร้อยละ 50 มาใช้พัฒนาแพลตฟอร์ม ร้อยละ 30 เป็นทุนจดทะเบียนและขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจอีมันนี่ ร้อยละ 15 ดำเนินธุรกิจ และอีกร้อยละ 5 เป็นงบการตลาด โดยเราได้แยกระหว่าง BFIN ซึ่งเป็นเหรียญระดมทุนกับ TBD ซึ่งเป็นระบบการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความผันผวนในการแลกเปลี่ยนจากเงินดิจิทัลเป็นเงินบาท ด้วยเหตุนี้จึงกำหนดให้ 1 TBD เท่ากับ 1 บาท เป็น dead end อยู่ตลอดกาล" นายศักดา กล่าว

พร้อมกันนี้ นายศักดายังให้ความเห็นว่า เนื่องจากเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็มีคนไทยจำนวนมากที่ขุดเหมืองเงินดิจิทัล และมีการระดมทุนผ่าน ICO บ้างแล้ว ดังนั้นการที่ทางการจะออกกฎเกณฑ์เข้ามาดูแลตลาดนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วยว่า ต่อไปใครจะออกเหรียญหรือคริปโตเคอเรนซี่สกุลใดควรต้องมีการขึ้นทะเบียนก่อน

 
นายจักกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ แอดไวซ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเชื่อว่ามีคนไทยจำนวนมากที่ถือเงินดิจิทัล หรือ เหรียญสกุลต่างๆ ในครอบครอง และเราเข้ามาจับมือกับบาทฟินเทค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อผู้ขายในตลาดอีคอมเมิร์ซ เพราะในมุมของแอดไวซ์ ในฐานะผู้ขายสินค้าและอุปกรณ์ไอที มีความประสงค์ช่วยให้ลูกค้าชำระเงินได้สะดวกขึ้น 
   
ขอบคุณข่าวจาก : voicetv.co.th
 
Visitors: 619,294