‘อีอีซี’พลิกโฉมประเทศ

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  19 มี.ค. 2561
       
 ‘อีอีซี’พลิกโฉมประเทศ

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” โดยมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อดังกล่าว รวมถึงงานเสวนาในหัวข้อ “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศ”
++อีอีซีการพัฒนาเชิงพื้นที่

นายอุตตม ชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี หรือไทยแลนด์ 4.0 โดยมีนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ อาศัยการทำงานแบบองค์กรรวม เป็นการยกระดับฐานอุตสาหกรรมใหม่ ที่ต่อยอดมาจากฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองใหม่ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น


โดยมีการออกร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ได้ผ่านการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว และอยู่ระหว่างรอประกาศบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินงานมีกฎหมายรองรับ และเกิดความต่อเนื่อง ซึ่งในกฎหมายอีอีซีดังกล่าว จะครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนสูงสุด โดยเฉพาะการลงทุนในเขตส่งเสริมพิเศษ เรื่องการให้สิทธิเช่าที่ดิน ก็เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น การเช่าที่ดินเป็นเวลา 50 ปี และต่อได้ 49 ปี แต่นำมากำหนดไว้ในอีอีซีให้มีความชัดเจนมากขึ้น


อีกทั้ง สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับนั้น ได้นำเอาสิทธิประโยชน์ของประเทศต่างๆ มาเทียบเคียง โดยเฉพาะการลงทุนที่อยู่ในเขตส่งเสริมพิเศษที่ทั่วโลกมีกว่า 3-4 พันแห่ง อยู่ในเอเชียกว่า 50% ได้นำมาออกแบบให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย


โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญไปแล้ว เพื่อให้การพัฒนาประเทศไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาอีอีซีขึ้นมานำร่อง และเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป

Go Thailand… นสพ.ฐานเศรษฐกิจ จัดสัมมนาหัวข้อ “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” โดยมีนายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา
++เป็นโอกาสต่อยอดลงทุน

ดังนั้น วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนก้าวไปข้างหน้า เพราะเห็นโอกาสและทิศทางในการพัฒนาแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศประสบปัญหาต่างๆ ทำให้การลงทุนหยุดชะงักเดินต่อไม่ได้ กระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เมื่อมีอีอีซีเกิดขึ้น ด้วยความหวังว่าจะมีอนาคตใหม่ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน

นอกจากนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการยึดโยงกันไร้เส้นแบ่ง ภาคการบริการและการผลิตทำได้เร็วมากขึ้น ดังนั้นการปรับตัวของคนไทย เพื่อความอยู่รอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวันนี้จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยนประเทศ ก้าวสู่การเจริญเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยใช้ศักยภาพฐานการผลิตที่มีอยู่ และสร้างขึ้นมาใหม่

++ใช้คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อน

ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน กำลังถูกจับตามองจากทั่วทุกมุมโลก เศรษฐกิจมีการขยายตัวค่อนข้างสูง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยด้วย ที่มีความเหมาะสมในการเข้าสู่บริบทใหม่ของการพัฒนาประเทศ ซึ่งเวลานี้ไทยมีความพร้อมในทุกด้าน หากเปลี่ยนประเทศวันนี้ เพื่ออนาคตได้ เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวค่อนข้างมาก เป็นสิ่งที่รัฐบาลเน้นยํ้ามาก ที่เศรษฐกิจจะต้องเข้มแข็ง เพราะจะทำให้จีดีพีโดยรวมเติบโตได้ในระดับ 4-5% ต่อปี จาก 3 ปีก่อนอยู่ในระดับ 0.9% เท่านั้น

ดังนั้น การพัฒนาอีอีซี จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน 4 เรื่องหลัก ได้แก่

     1. ต้องมองสิ่งที่ผ่านมาอะไรเป็นอุปสรรค หากไม่แก้ไขทุกมิติ เดินหน้าไปจะลำบาก
     2. การพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้
         ปานกลางให้ได้ โดยการยกระดับจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่เป็น
         เครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อน
    3. การเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยองค์ความรู้ 
    4. การดำเนินงานควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม


โดยสรุป วันนี้โอกาสมาถึงแล้ว ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ใช้พลังของคนรุ่นใหม่ประสานกับประสบการณ์จากคนรุ่นเก่า ที่จะร่วมกันผลักดันเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะหากไม่ทำวันนี้ จะลงมือทำเมื่อไร และถ้าไม่ร่วมกันสร้าง จะมีใครมาร่วมทำให้เป็นจริงได้อย่างไร

คณิศ แสงสุพรรณ
++เร่งโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรม การนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.)ได้กล่าวในช่วงงานเสวนา หัวข้อ “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศไทย” ว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือบางโครงการไม่สามารถดำเนินการเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศลดน้อยลง เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามา จึงมองไปข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาวได้อย่างไร และสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

จึงนำมาสู่นโยบายการพัฒนาอีอีซี ที่เป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์น ซีบอร์ดเดิม ที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศ โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้เข้าไปผลักดันหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) การมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในการจูงใจนักลงทุน ที่แล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี 2560 พ.ร.บ.อีอีซี ที่กำลังจะประกาศบังคับใช้ ขณะที่พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม และพ.ร.บ.ผังเมืองกำลังเข้าพิจารณาในสนช. ซึ่งทั้งหมดจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาอีอีซีให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติหรือไทยแลนด์ 4.0 โดยการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมขึ้นมา เป็นการชี้เป้าว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหน เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน และพื้นที่อีอีซีก็เป็นตัวอย่าง ที่จะสามารถตอบโจทย์นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนได้


++ได้ผู้ประมูลทั้งหมดในปีนี้

โดยตลอดในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาการพัฒนาอีอีซี มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะ
   -  การดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
   - โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ
   - โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
   - โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3
   - โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
   - โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานหรือเอ็มอาร์โอ กนศ.มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติหลักการไปแล้ว

ระหว่างนี้แต่ละโครงการอยู่ขั้นจัดเตรียมทีโออาร์ ที่จะเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมลงทุน (พีพีพี) ได้ทั้งหมดภายในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา กับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะต้องแล้วเสร็จและเปิดพร้อมใช้งานในระยะเวลาเดียวกันหรือในปี 2566 เพราะหากโครงการใดโครงการหนึ่งเสร็จก่อนการใช้งานก็จะไม่มีประโยชน์


ดังนั้น เมื่อโครงการต่างๆ มีความชัดเจนแล้ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้อย่างมาก และจะช่วยให้การลงทุนของประเทศเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 621,183