‘เอสเอ็มอี’อ่วมพิษบาทแข็ง รายได้หด20% ไม่แปลงดอลลาร์-ขอรับเป็นเงินไทย

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  17 มี.ค. 2561
       
‘เอสเอ็มอี’อ่วมพิษบาทแข็ง รายได้หด 20%
ไม่แปลงดอลลาร์-ขอรับเป็นเงินไทย
 
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียอมรับบาทแข็งทำรายได้ป่วน ชี้หายไปจากปกติสูงสุดถึง 20% เผยวิธีแก้ปัญหาด้วยการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน ยังไม่แปลงสกุลเงิน และเจรจาขอรับเป็นเงินบาท ด้าน ธสน. ยันมีผู้มาทำประกันควมเสี่ยงมากขึ้นแต่ยังไม่มากเท่าที่ควร

สถานการณ์ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยหากนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ที่อัตราการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์อยู่ที่ประมาณ 36 บาท และยังคงแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งแต่ต้นปี - ปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าร้อยละ 4 จากระดับ 32.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นปี 2560 มาอยู่ที่ 31.48 บาทต่อดอลลาร์ในปัจจุบัน และนอกจากจะแข็งค่าเร็วแล้ว ยังมีความผันผวนสูง จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ทำการค้าหรือผู้ที่มีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในการบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวนนี้
ทั้งนี้ ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่า ในเดือนมีนาคมนี้ ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าสุดในรอบ 5 ปีที่ระดับ 30.80 บาท เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่เงินบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง มาจากการท่องเที่ยวขยายตัวดี โดยมีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายฉัตรชัย โพธิ์วรสิน ที่ปรึกษา บริษัท โรสอารยา ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทยส่งออกด้วยนวัตกรรมแช่แข็งภายใต้แบรนด์ “ใบสลาด” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผล
กระทบต่อยอดรายได้ของบริษัทให้หายไปประมาณ 7-10% จากเดิมที่บริษัทตั้งเป้ารายได้ของปี 2560 ไว้ประมาณ 20 ล้านบาท แต่ยอดรายได้ที่กลับเข้ามาจากการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 16-17 ล้านบาท โดยถือว่าหายไปมากพอสมควรหากเทียบกับสถานการณ์ปกติ

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานั้น บริษัทได้มีการทำประกันความเสี่ยงเรื่องของค่าเงินกับสถาบันการเงิน ซึ่งก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการจะเข้าไปเจรจากับลูกค้าเพื่อขอให้เข้าใจสถาน การณ์ และให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนอีกอัตราหนึ่ง หรือปรับราคาขึ้นก็เป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูงในตลาด หากจะเจรจาได้จริงก็ต้องเป็นลูกค้าเดิมที่ทำธุรกิจกันมานาน ซึ่งอาจขอปรับราคาเพิ่มขึ้นได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของกลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทปีนี้ ตั้งเป้าที่จะพยายามขยายตลาดไปสู่ลูกค้ารายใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายของลูกค้ารายเก่าจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องการให้ทางการช่วยเข้ามาดูแลบ้าง เช่น การเตือนผู้ประกอบการก่อนล่วงหน้า เพราะทางการจะเป็นผู้ที่รู้ และรับทราบข้อมูลในเชิงลึกมากกว่า โดยบริษัทเข้าใจว่าหากจะให้ช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าคงเป็นไปได้ค่อนข้างลำบาก เพราะเป็นเรื่องที่มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกประเทศ

นางสาวพิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์
นางสาวพิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท โอคุสโน่ ฟู้ด จำกัด เจ้าของธุรกิจคางกุ้งทอดอบกรอบ แบรนด์ Okusno ซึ่งมีการทำตลาดส่งออกไปต่างประเทศด้วย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกในปีที่ผ่านมาของบริษัทให้หายไปประมาณ 20% จากสถานการณ์ปกติ เนื่องจากทั้งหมดจะใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯในการชำระค่าสินค้า โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ไต้หวัน และเกาหลี เนื่องจากเป็นประเทศที่มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ขณะที่แนวทางในการแก้ปัญหาของบริษัทนั้น จะเลือกใช้วิธีการถือครองรายได้ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ไว้ก่อน โดยยังไม่แปลงเป็นสกุลเงินบาทในทันทีทันใด และการเจรจากับลูกค้าให้ชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาท เพราะจะได้ราคาตามที่บริษัทต้องการ

นางวิริยา พรทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผักอัดเม็ดแบรนด์ “ไบโอเวกกี้” (Bioveggie) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเริ่มมีการทำตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยส่งออกไปยังประเทศดูไบ จากเดิมที่ส่งออกไปจำหน่ายแล้วที่ประเทศโปแลนด์ และเมียนมาแต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบเรื่องของค่าเงินบาทที่ผันผวน เพราะบริษัทได้มีการตั้งราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เผื่อเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด


อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปทำตลาดเพิ่มเติมที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ยังติดปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาต เพราะประเทศดังกล่าวค่อนข้างเข้มงวด และผลิตภัณฑ์ของบริษัทก็เป็นลักษณะแบบเม็ด เพราะฉะนั้นจึงถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของยารักษาโรค เนื่อง จากที่ซาอุฯไม่มีหมวดหมู่ของอาหารเสริม โดยบริษัทได้เตรียมแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการทำผลิตภัณฑ์เป็นรูปแบบผง เพราะผ่านการขอใบอนุญาตได้ง่ายมากกว่า หลังจากนั้นจึงนำรูปแบบเม็ดตามปกติเข้าไปจำหน่าย เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับใบอนุญาตรับรองผลิตภัณฑ์แล้ว

นายพิสิฐ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) หรือ ธสน. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเข้ามาขอทำประกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการายกลาง และรายใหญ่ ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กก็มีเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาทำประกันเมื่อถูกผลกระทบจากค่าเงินที่ผันผวนจำนวนมากแล้ว ล่าสุดที่ธนาคารได้ออกคูปองเพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำมาใช้เพื่อประกันความเสี่ยงค่าเงิน ก็ช่วยกระตุ้นความตื่นตัวของผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่ง
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 620,149