สัมปทาน “ดิวตี้ฟรี” TOR แยก2สัญญา รายใหม่สู้คิงเพาเวอร์


 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  12 มี.ค. 2561
       
 สัมปทาน “ดิวตี้ฟรี” TOR แยก2สัญญา รายใหม่สู้คิงเพาเวอร์

ประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิรอบใหม่ฝุ่นเริ่มตลบ! “นิตินัย ศิริสมรรถการ” หัวเรือใหญ่ ทอท. เผยแผนเร่งออกทีโออาร์ ยันเปิดเสรี-แยก 2 สัญญา ขยายพื้นที่ดิวตี้ฟรีเพิ่ม ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยผนึกนักวิชาการ เขย่าขุมทรัพย์ “คิง เพาเวอร์” กดดัน ทอท. อัดยับสัญญา “ดิวตี้ฟรี” เมืองไทยผูกขาด รายใหญ่กินรวบ ฉุดธุรกิจด้อยพัฒนา รายได้เข้าประเทศต่ำ พร้อมเสนอแนวทางปรับเปลี่ยนรูปแบบสัมปทาน หวังดึงรายได้เข้าประเทศได้อีกกว่า 5 หมื่นล้าน

กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง สำหรับการเปิดประมูล “สัมปทานดิวตี้ฟรี” ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อทดแทนสัญญาเดิมระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กับบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด ที่จะหมดสัญญาในเดือนกันยายน 2563 ขณะที่ ทอท.อยู่ระหว่างการเตรียมจะออกทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลรอบใหม่ ผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายเสนอแนวทางใหม่ให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลักดันให้เกิดการเปิดเสรี ไม่ผูกขาดเหมือนที่ผ่านมา


ทอท.เปิดประมูลกลางปีนี้

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาอิสระศึกษาโมเดลธุรกิจประมูลพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เนื่องจากสัญญาสัมปทานของบริษัทคิง เพาเวอร์ จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2563 จึงต้องได้ผู้รับสัมปทานก่อน 2 ปี เพื่อให้ผู้รับสัมปทานวางแผนการลงทุนธุรกิจ ซึ่งผลศึกษาจะได้ข้อสรุปอีก 1-2 เดือนนี้ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการ ทอท.พิจารณาก่อนเปิดประมูล คาดว่าจะเริ่มกระบวนการประมูลกลางปีนี้ และได้ผู้รับสัมปทานภายในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ปี 2561

“ที่ปรึกษากำลังประเมินมูลค่าโครงการ จะมีขนาดเท่าไหร่ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เช่นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท 3,000 ล้านบาท และ 5,000 ล้านบาท เพื่อประเมินจุดคุ้มทุนของโครงการ เมื่อสรุปได้แล้ว จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามขั้นตอนร่วมทุน ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่เกิน 3,000 ล้านบาท” นายนิตินัยกล่าวและว่า สำหรับการประมูลรอบใหม่นี้ จะเปิดให้มีการแข่งขันเสรีทั่วไปและแยกเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 พื้นที่ดิวตี้ฟรีสนามบินและสัญญาที่ 2 พื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบิน หรือPick Up Counter โดยจะเปิดประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีก่อน จากนั้นถึงจะเป็นพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบิน

รวบพื้นที่เก่า-ใหม่


นายนิตินัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ พื้นที่ดิวตี้ฟรี จะมีพื้นที่ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากจะนำพื้นที่อาคารผู้โดยสารเดิมมีพื้นที่เชิงพาณิชย์อยู่กว่า 25,000 ตร.ม.เปิดประมูลพร้อมกับพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 จะสร้างเสร็จในเดือน พ.ย. 2562 ซึ่งจะเปิดใช้พร้อมกับที่สัญญาคิง เพาเวอร์สิ้นสุดพอดี โดยมีพื้นที่เชิงพาณิชย์อยู่ประมาณ 23,000 ตร.ม.จากพื้นที่รวม 230,000-240,000 ตร.ม. ด้านกรอบระยะเวลาสัมปทานน่าจะไม่ต่างจากสัญญาเดิม คือ ภายในระยะเวลา 10 ปี ขณะที่การคัดเลือกผู้ชนะจะพิจารณาตามผลตอบแทนที่ ทอท.จะได้รับ คือ ส่วนแบ่งรายได้จากยอดขายไม่ต่ำกว่า 15% ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากปีที่ 6-10 และการการันตีรายได้สูงสุดที่ ทอท.จะได้รับ ซึ่งรายได้ที่การันตีรายได้สูงสุดจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือก

“พื้นที่ดิวตี้ฟรี เพื่อให้ ทอท.มีรายได้มากขึ้น จะนำพื้นที่เดิมและพื้นที่ใหม่มารวมเป็นสัญญาเดียวและบริหารโดยผู้ประกอบการรายเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการบริหาร เกิดการแข่งขันด้านราคาที่เอกชนจะเสนอราคาสู้กัน แต่เราจะใช้กติกาใหม่ คือ เปิดให้แข่งขันกันเสรีทั่วไป”


เปิดเสรี pick up counter

นายนิตินัย กล่าวว่า ส่วนจุด pick up counter ยังไม่ได้ดำเนินการร่างทีโออาร์ เนื่องจากยังมีเวลาที่จะดำเนินการ เนื่องจากการประมูลจะไม่ยุ่งยากเหมือนกับพื้นที่ดิวตี้ฟรี แต่ได้วางคอนเซ็ปต์ไว้ จะใช้โมเดลเดียวที่สนามบินภูเก็ต ที่คิง เพาเวอร์เป็นผู้ดำเนินการ ในรูปแบบcommon use โดย ทอท.จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะประมูลจะต้องอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ pick up counter ได้ด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ดิวตี้ฟรีในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่อีก จะสร้างอยู่ทางด้านตะวันออกของอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบอาคารและรอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้าน

 

สิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากต้องทุบกระจกบริเวณพื้นที่เคาน์เตอร์โรล A ของการบินไทยและพื้นที่ซีตี้การ์เด้นท์ 5,000 ตร.ม.ที่คิง เพาเวอร์ได้สัมปทานพื้นที่ เพื่อให้เชื่อมกับอาคารเดิม

 

ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เท่าไหร่ ตามแผนจะเปิดบริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในปี 2564 รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามหากการออกแบบเสร็จเร็วในเวลาไล่เลี่ยกับการประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรี อาจจะนำมารวมเป็นสัญญาเดียวกันก็ได้

 
ผนึกกำลังเขย่าขุมทรัพย์

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย (TRA) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการผลักดันให้ การท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประมูล ดิวตี้ฟรีต้องปรับเปลี่ยน business model การให้สัมปทานใหม่ ด้วยการเลิกระบบผูกขาด เปิดให้มีการแข่งขัน

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล” เพื่อผลักดันให้สัมปทานดิวตี้ฟรีของท่าอากาศยานหลักของไทยเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก และเพื่อให้ ทอท. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สัมปทานและประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด

ดร.ฉัตรชัย ยังระบุด้วยว่า ทอท.ควรเปลี่ยนรูปแบบสัมปทานจากสัมปทานรายใหญ่รายเดียว เป็นสัมปทานตามหมวดสินค้า ให้มีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีมากกว่าหนึ่งราย ภายใต้รูปแบบการสัมปทานตามหมวดสินค้า เพราะจะทำให้มีการเสนอสินค้าที่มีคุณภาพและความหลากหลายมากขึ้นตามหมวด อาทิ เครื่องสำอาง สุราและบุหรี่ สินค้าแฟชั่น ซึ่งรูปแบบนี้จะสามารถสร้างรายได้สูงสุดแก่สนามบินจากร้านค้าดิวตี้ฟรี ทอท.ควรพิจารณาปรับอายุการสัมปทาน เพราะการให้สัมปทานในต่างประเทศจะมีอายุเฉลี่ยเพียง 5-7 ปี ในขณะที่ประเทศไทยมีอายุเริ่มต้นที่ 10 ปี

นอกจากนี้ก็ควรพิจารณาปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมสัมปทานให้สูงขึ้น เพราะยังต่ำกว่าต่างประเทศมาก คือ อยู่ที่ 15-19% ของรายได้จากการประกอบกิจการ ส่วนต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 25-47% จึงทำให้ ทอท.และภาครัฐสูญเสียโอกาสและรายได้จำนวนมาก

“การมีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีมากกว่าหนึ่งราย ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสมาคมประเมินไว้คือไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท” ผู้อำนายการบริการ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยย้ำว่า


จี้ปลดล็อกจุดรับมอบสินค้า


ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการให้สัมปทานใหม่ ไม่ให้ธุรกิจเกิดการผูกขาดเหมือนที่ผ่านมา ที่สำคัญควรปลดล็อกจุดรับมอบสินค้าปลอดอากรด้วย โดยท่าอากาศยานทุกแห่งต้องเปิดจุดส่งมอบสินค้า หรือ pick up counter ให้กับผู้ค้าทุกรายที่อยู่ในเมืองด้วย

 

กระทรวงการคลังและกรมสรรพากร กระทรวงการท่องเที่ยว ควรเข้ามาควบคุมดูแลด้วยไม่ใช่ ทอท. รวมทั้งหน่วยงานที่เปิดประมูลไม่ใช่หน่วยงานที่รับค่าสัมปทาน เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด” ดร.เดือนเด่นกล่าว

เช่นเดียวกับรองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการให้สัมปทานรายใหญ่รายเดียวในช่วงที่ผ่านมาเป็นตัวฉุดให้ธุรกิจดิวตี้ฟรีของไทยขาดการแข่งขัน

ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ธนิตกุล อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมด้วยว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 แต่กฎหมายดังกล่าว

ไม่ครอบคลุมถึงกรณีการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี แต่ตามมาตรา 17 (11) เปิดให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลการศึกษาได้ 3 ทาง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี

คิง เพาเวอร์ลั่นพร้อมทุกรูปแบบ

นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทได้เตรียมตัวสำหรับการเข้าประมูลและพร้อมที่จะเข้าประมูลทุกรูปแบบ และมองว่าสำหรับคู่แข่งในการประมูลครั้งนี้หลัก ๆ คงเป็นกลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์ รวมถึงกลุ่มล็อตเต้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้เคยลงสนามประมูลแข่งกับคิง เพาเวอร์มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง

   
ขอบคุณข่าวจาก : prachachat.net
 
Visitors: 619,803