หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  1 มี.ค. 2561
       
“สมคิด”เชิญทูต-นักลงทุนทั่วโลก ชิงรถไฟไฮสปีด-สนามบิน-ท่าเรือ EEC 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2561 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. มูลค่าการลงทุน 2 แสนล้านบาท เป็น “ไฮสปีดเทรน” เชื่อมกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา ในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

กรุงเทพฯถึงอู่ตะเภา 45 นาที

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากสนามบินดอนเมือง-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. โดยสถานีมักกะสันจะเป็น main station เป็นรถไฟสายอนาคตสำหรับภาคตะวันออก ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจสูง มีความสำคัญ 4 ด้าน

1.รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเชื่อมโยง 3 สนามบิน ใน 45 นาที อนาคตจะยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ทำให้การเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภา-กรุงเทพฯ รองรับผู้โดยสารจากสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิที่เกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี

2.เปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯเชื่อมฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา มีการพัฒนาบริเวณสถานีเชื่อมโยงกับชุมชนเก่า

“ไฮสปีด” เฟส 2 ระยอง-จันทบุรี-ตราด

3.ระยะต่อไปจะเป็นการศึกษาในระยะที่ 2 เส้นทางระยอง จันทบุรี และตราด คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-ระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ-จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ-ตราด 120 นาที

4.การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการ ตั้งแต่สร้างจนกระทั่งเสื่อมราคา 700,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท ผลตอบแทนที่ได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดแนว 2 ข้างทาง คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อครบกำหนด 50 ปีแล้ว โครงการทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 300,000 ล้านบาท

โครงการจะครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

       1.รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม. ซึ่งเป็นแนวรางแอร์ 
          พอร์ตลิงก์เดิม

       2.รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม.

       3.รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม.

4.พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร 2 จุด ได้แก่

จุดที่ 1 สถานีมักกะสัน 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดิน เป็นการแก้ปัญหาของสถานีมักกะสัน เนื่องจากการเดินทางไม่เชื่อมโยงกับรถไฟในเมือง และ

จุดที่ 2 สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอดรถ และอู่ซ่อม แบ่ง 75 ไร่ อีก 25 ไร่พัฒนาเชิงพาณิชย์ และจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟฯตามราคาตลาด และเมื่อมีกำไรเกินปกติต้องมีการนำกำไรแบ่งปันกับรัฐ

โดยจะมี 1 ช่วงที่จะต้องเวนคืน คือ พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเวลาเลี้ยวโค้งต้องใช้รัศมีของหัวโค้งเป็นวงกว้าง

รูปแบบลงทุน PPP net cost

การดำเนินการเป็นโครงการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) เพื่อลดการใช้งบประมาณภาครัฐและความเสี่ยงจากความล่าช้าของโครงการ ขณะที่การกู้เงินจากต่างประเทศทำให้เกิดภาระหนี้สาธารณะ ความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน บางครั้งทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงและเงินลงทุนถูกถ่ายเทกลับประเทศเจ้าของเงินจนทำให้ประเทศเหลือแต่หนี้และการบำรุงรักษา

การประมูลจะเป็น PPP net cost ผู้สนอผลประโยชน์สูงสุด-รัฐลงทุนน้อยที่สุดเป็นผู้ชนะ โดยเอกชนแต่ละรายจะคำนวณผลตอบแทนสูงสุด ทั้งการจัดหาขบวนรถไฟ การหารายได้ การบริหารอสังหาริมทรัพย์ ได้พัฒนาเต็มที่

พ่วงพัฒนาที่ดินมักกะสัน-ศรีราชา

“สำหรับเรื่องอ่อนไหวหลายประการที่ที่ประชุมหารือกันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ เรื่องที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ มีพื้นที่ี่เชิงพาณิชย์ ผู้รับไปพัฒนาต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ ร.ฟ.ท.ตามราคาตลาด และให้รัฐมีส่วนร่วมรับกำไร หรือ revenue shar-ing” นายคณิศกล่าว

ถกสัมปทาน 50 ปีกันรัฐลงทุนเพิ่ม

ด้านการรวมแอร์พอร์ตลิงก์เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนสะสม 1,785 ล้านบาท และเป็นหนี้จากการก่อสร้างประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท จึงนำมารวมและแก้ปัญหาการขาดทุนในคราวเดียว ผู้ที่จะมาลงทุนต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อแอร์พอร์ตลิงก์เพื่อไปพัฒนา โดย ร.ฟ.ท.จะนำเงินไปใช้หนี้ของแอร์พอร์ตลิงก์

สำหรับอายุโครงการ 50 ปี เพื่อให้รัฐบาลใช้งบประมาณน้อยที่สุด ถ้าให้เวลาโครงการน้อยก็จะขาดทุนมาก เพราะกำไรของโครงการจะอยู่ในช่วงปีหลัง ๆ ถ้าเหลือ 30 ปี รัฐอาจต้องจ่ายเงินลงทุนไปกับเอกชนเพิ่ม

สำหรับการใช้วิศวกรไทยและการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยจะอยู่ในเงื่อนไขร่าง TOR การกำกับโครงการ มีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการดำเนินโครงการ ค่าโดยสารจากมักกะสัน-พัทยา 270 บาท และจากมักกะสัน-สนามบินอู่ตะเภา 330 บาท

เปิดประมูลทั่วโลกมีนาคม

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป คือ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและนำไปสู่การประกาศเชิญชวนนักลงทุนในเดือนมีนาคม ในรูปแบบอินเตอร์เนชั่นแนลบิดดิ้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วโลกเข้าร่วมประมูลและเปิดกว้างให้ทุกค่ายที่สนใจขณะนี้ อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในไตรมาสสองและลงนามเซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลภายในปีนี้ สร้างเสร็จปี 2566

หลังจากนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้เชิญทูตทุกประเทศ ร่วมฟังความคืบหน้าในโครงการอีอีซีทั้งหมด เพื่อให้เห็นโอกาสที่กำลังเปิดในประเทศไทย โดยจะเชิญชวนและเปิดประมูลแก่นักลงทุนและเซ็นสัญญาภายในปีนี้ อาทิ รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานอีอีซีไปศึกษาการขยายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่รอบ ๆ ใกล้เคียงเพื่อเชื่อมโยงกับ 3 จังหวัดเดิม เช่น ปราจีนบุรี สระแก้ว และสมุทรปราการ เชื่อมโยงจากกรุงเทพฯไปยังการค้าการลงทุนชายแดน ใช้เวลาศึกษา 4 เดือน

   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 620,535