หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  2 มี.ค. 2561
       
พาณิชย์ เผยภาคบริการเดือน ม.ค. 61 โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงดัชนีภาวะการค้าภาคบริการของไทย ในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ 113.7 สูงขึ้นร้อยละ 9.2 (YoY) โดยเป็นอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 11.9 ในเดือนธันวาคม 2560 สาขาบริการสำคัญ เช่น ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การขายปลีก มีการขยายตัวในอัตราที่ดี ส่วนบริการที่หดตัวมีเพียง 2 สาขา คาดว่าภาคบริการจะมีส่วนสาคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2561 นี้

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคบริการขยายตัวในเดือนมกราคม เกิดจากจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนเพิ่มทุนในสาขาบริการมากขึ้น มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุนสูงขึ้น และดัชนีราคาหุ้นภาคบริการในตลาดหลักทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่ลดลง เช่น จำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศภาคบริการ

เมื่อพิจารณา ภาคบริการในรายสาขา จะพบว่าขยายตัวเกือบทุกสาขา โดย

สาขาที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบด้วย 4 สาขา คือ
1. การก่อสร้าง
2. อสังหาริมทรัพย์
3. กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ
4. การศึกษา

ส่วนสาขาที่ยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ประกอบด้วย 7 สาขา คือ
1. การขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์
2.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
3. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
4. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
5. กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย
6. กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 
7.ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ


ขณะที่สาขาที่หดตัวมีเพียง 2 สาขา คือ
1. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
2. กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ


นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นความเคลื่อนไหวในภาคบริการที่น่าสนใจในเดือนมกราคม 2561 เช่น สาขาอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นสาขาที่เติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 24 ส่วนสาขาก่อสร้าง เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 โดยเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลในธุรกิจก่อสร้างมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าการจ้างงานจะหดตัวก็ตาม ในขณะที่สาขาการศึกษาที่ขยายตัวถึงร้อยละ 22 มีการจ้างงานมากขึ้นด้วย แต่ว่าทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลจะไปกระจุกตัวอยู่ที่การศึกษาด้านการกีฬาและนันทนาการ ไม่ใช่การศึกษา mainstream


สำหรับสาขาการขายส่งและขายปลีก ขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอลงจากร้อยละ 15.9 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีการเร่งขยายการลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยปัจจัย/ตัวชี้วัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเกือบทุกตัว เช่น จำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิ มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่สุทธิ และมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน นอกจากนี้ ดัชนีราคาหุ้นสาขาการขายส่งและขายปลีก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าก็ขยายตัวดี สะท้อนถึงภาพรวมสาขาการขายส่งและขายปลีกยังมีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่ธุรกิจ E-Commerce ซึ่งส่วนมากเป็นธุรกิจ SME พบว่าผู้ประกอบการรายเดิมมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการใหม่ยังมีการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ค่อนข้างน้อย

 

“ดิฉันคิดว่า ภาครัฐน่าจะเร่งการรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ E-Commerce มีการจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามให้การช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการอย่างตรงจุดเพื่อรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ เราก็ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่ที่เปิดโอกาสให้บุคคลคนเดียวสามารถจัดตั้งเป็นนิติบุคคลได้ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาอยู่ ซึ่งถ้าออกมาได้เร็ว ก็จะช่วยผู้ประกอบการไทยได้เร็วขึ้น” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับสาขาสำคัญอื่น ๆ เช่น
- สาขาสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ (14.2%)
- สาขาที่พักแรมและร้านอาหาร (4.6%)
- สาขาการขนส่งและสถานที่จัดเก็บสินค้า (6.2%) 
- สาขาการเงินและการประกันภัย (3.9%)

ขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ โดยกลุ่มสุขภาพและท่องเที่ยวมีการจ้างงานมากขึ้น และส่วนใหญ่เป็น SME ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีว่า เศรษฐกิจฐานรากมีการขยายตัวในภาคบริการ ส่วนสาขาการขนส่ง พบว่าการขยายตัวของธุรกิจกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการค้าและการส่งออก ซึ่งยืนยันว่าการส่งออกของไทยยังไปได้อย่างเข้มแข็ง 
สำหรับแนวโน้มภาวะการค้าภาคบริการในปี 2561


นางสาวพิมพ์ชนก ระบุว่า “คาดว่าภาคบริการจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับสาขาบริการที่มีศักยภาพ และแนวโน้มขยายตัวได้ดี ได้แก่

- สาขาอสังหาริมทรัพย์
- สาขาบริการทางการเงิน
- สาขาสุขภาพ
- สาขาขายส่งและการขายปลีก 
- สาขาก่อสร้าง

โดยสาขาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจของประเทศ และสาขาสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีตามกระแส Medical Tourism ซึ่งคาดว่าในระยะต่อไปจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักลงทุนมากขึ้น

ทั้งในแง่ของการลงทุนและการทำการตลาดด้านสุขภาพ ในขณะที่สาขาก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังมีแผนการลงทุนใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่อยากติดตามเพิ่มเติมคือ เรื่องการจ้างงาน ซึ่งตัวเลขเบื้องต้นที่ได้รับชี้ว่า การจ้างงานในภาคบริการขยายตัวประมาณร้อยละ 8.3 ในเดือนมกราคม ซึ่งถือว่าน่าพอใจ แต่ก็อยากจะให้ขยายตัวได้มากกว่านี้ เพื่อให้ภาคบริการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

   
ขอบคุณข่าวจาก : prachachat.net
 
Visitors: 628,797