หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  1 มี.ค. 2561
       
“ญี่ปุ่น” ย้ายฐานกลับบ้าน พึ่งหุ่นยนต์…หนีค่าแรงเอเชียพุ่ง 

เอเชียถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ของแบรนด์สินค้าญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ด้วยข้อได้เปรียบด้านค่าแรงที่ต่ำโดยเฉพาะในประเทศจีน และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้หลายแบรนด์ยอมสละฐานะ “เมดอินเจแปน” แลกกับข้อได้เปรียบด้านต้นทุนและการแข่งขัน

แต่เทรนด์ค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ ทำให้บรรดาผู้ผลิตเริ่มหันกลับมาพิจารณาการย้ายฐานกลับสู่บ้านเกิด โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานมนุษย์เพื่อแก้โจทย์ด้านต้นทุน

เห็นได้จากหลายแบรนด์จากหลายธุรกิจเริ่มลงทุนตั้งหรือขยายโรงงานในญี่ปุ่นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น แคนนอน, ไพโอเนียร์, ชิเซโด้, ฮอนด้า มอเตอร์และอื่น ๆ

 

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า “คาสิโอ คอมพิวเตอร์” (Casio Computer) ผู้ผลิตนาฬิกาและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นแบรนด์ล่าสุดที่เริ่มเดินหน้าแผนดึงฐานการผลิตกลับสู่ประเทศบ้านเกิด โดยเตรียมเดินเครื่องสายการผลิตอัตโนมัติสำหรับผลิตนาฬิกาข้อมือระดับแมส ที่โรงงานในจังหวัดยามางาตะ ทางตอนเหนือของประเทศช่วงฤดูร้อนปีนี้

ซึ่งคาดว่าจะทำให้กำลังผลิตเพิ่มขึ้นทันที 1 เท่าตัว แต่ต้นทุนลดลงจนเท่ากับโรงงานในประเทศไทย

แม้จะถูกจัดเป็นนาฬิการะดับแมส ซึ่งราคาเพียง 20 เหรียญสหรัฐต่อเรือน แต่สินค้ากลุ่มนี้ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของคาสิโอ เนื่องจากมีสัดส่วนการผลิตมากกว่า 10% ของยอดรวม 44 ล้านเรือนต่อปี สูงที่สุดในบรรดานาฬิกาของบริษัททั้งหมด

โดยที่ผ่านมากำลังผลิตนาฬิกากลุ่มนี้จะกระจายเท่า ๆ กันใน 4 โรงงาน แบ่งเป็น จีน 2 แห่ง ไทย 1 แห่ง และญี่ปุ่น 1 แห่ง แต่ไลน์การผลิตใหม่จะช่วยเพิ่มกำลังผลิตให้โรงงานในญี่ปุ่นอีก 1 เท่าตัว จากเดิม 100,000 เรือนต่อเดือน เป็น 200,000 เรือนต่อเดือน ทำให้ญี่ปุ่นขยับขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักทันที

นอกจากกำลังผลิตจะเพิ่มขึ้นแล้ว ไลน์การผลิตใหม่จะใช้แรงงานเพียง 1 ใน 5 ของไลน์การผลิตปกติ และต้นทุนลดลงเหลือ 1 ใน 4 หรือเทียบเท่าโรงงานในประเทศไทย รวมถึงมีแนวโน้มจะต่ำกว่าต้นทุนของโรงงานในจีนที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกด้วย เพราะกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ประกอบเครื่องภายใน ติดตั้งตัวเรือนและสาย จะเป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ทั้งหมด

ทั้งนี้ หากไลน์การผลิตใหม่เดินหน้าอย่างราบรื่น ภายใน 3 ปีข้างหน้า คาสิโออกประเทศบางแห่งกลับมาที่ญี่ปุ่น

ความเคลื่อนไหวของคาสิโอสะท้อนถึงกระแส “reshoring” หรือการย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศบ้านเกิดของบรรดาแบรนด์ญี่ปุ่น หลังค่าแรงในเอเชียพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์และเอไอก้าวหน้าจนช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าราคาถูก

โดยก่อนหน้านี้ “แคนนอน” ประกาศตั้งลงทุน 2,300 ล้านเยน ตั้งโรงงานอัตโนมัติเพื่อผลิตกล้องที่จังหวัดมิยาซากิ เพื่อย้ำจุดขาย “เมดอินเจแปน” นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ส่วน “ไพโอเนียร์” เบนเข็มฐานการผลิตเครื่องนำทางในรถยนต์ซึ่งเดิมจะตั้งในไทยมายังจังหวัดอาโอโมริแทน ในขณะที่ “ฮอนด้า” อยู่ระหว่างย้ายฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ ซูเปอร์คัพ (Super Cub) จากจีน มาที่โรงงานในคุมาโมโตะ แม้เพิ่งเดินเครื่องไปได้เพียง 5 ปีเท่านั้น ส่วน “ชิเซโด้” ทุ่มงบฯตั้งโรงงานในญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่ไม่สามารถย้ายฐานกลับญี่ปุ่นได้อยู่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากยังต้องอาศัยแรงงานมนุษย์ในการผลิตและมีต้นทุนขนส่งต่ำจึงยังไม่คุ้มที่จะย้ายกลับญี่ปุ่น โดยหลายรายเพียงย้ายโรงงานจากจีนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเลี่ยงค่าแรงในจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าแล้วเมื่อเทียบกับปี 2548 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

ความเคลื่อนไหวนี้น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการแข่งขันในตลาดที่แบรนด์ญี่ปุ่นอาจพลิกมาได้เปรียบด้วยราคาและตรา “เมดอินเจแปน” เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ซึ่งต้องรอดูกันว่าจะมีแบรนด์อื่น ๆ เดินตามอีกหรือไม่

   
ขอบคุณข่าวจาก : prachachat.net
 
Visitors: 620,049