หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  24 ก.พ. 2561
       
 แรงงาน EEC
โลกปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการวางแผนผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งระบบเพื่อรองรับอย่างเพียงพอ ไม่ว่าอาจารย์ผู้สอน เจ้าหน้าที่และนักเรียนนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานที่เข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ยิ่งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ยิ่งมีความจำเป็น
บัณทิตที่ผลิตออกมา จะต้องตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ดังนั้นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยมุ่งพัฒนาสายอาชีวศึกษา เป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อ เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักเรียนในแต่ละปีให้มีสายอาชีวะเกิน 50% ต่อไปเด็ก ปวช. ปวส.จะมีส่วนร่วมสำคัญในพื้นที่อีอีซี และถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาไทยให้เจริญก้าวหน้า ยกระดับจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ กนศ. มีแผนสนับสนุนและมีการก่อตั้งโครงการ “สัตหีบโมเดล” นำร่องผลักดันให้เกิดการผลิตบุคลากรชั้นดีออกมาให้ทันการลงทุนในอีอีซี นอกจากได้เชิญผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่มาประชุม ยังหารือภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ มาสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียนจนจบหลักสูตร
เรียกได้ว่าเรียนฟรีแถมมีเบี้ยเลี้ยง ก่อนจะจบออกมาทำงานมีรายได้ 2 หมื่นบาทสำหรับวุฒิ ปวช. สาเหตุที่ได้รับเงินเดือนมาก เพราะถือเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง โครงการ “สัตหีบโมเดล” ในปีแรกจะเป็นแผนนำร่องในสถาบันอาชีวะ 12 แห่ง  จะผลิตนักศึกษาระดับ ปวช.ได้ปีละประมาณ 6,000 คน แผนต่อไปเป็นระยะ 3 ปี ที่จะประเมินผลจาก 12 สถาบันนำร่องขยายผลไปยังวิทยาลัยอาชีวะอื่น
รัฐบาลโดยคณะกรรมการอีอีซียังมีแนวทางขยายผล ด้วยการดึงคนที่ยังไม่มีงานทำ มาอบรมหลักสูตรระยะสั้น 3-6 เดือน ป้อนอีอีซีในสาขาวิชาชีพเฉพาะทางอีก 100,000 อัตรา ขณะนี้เริ่มผลิตได้แล้ว 1,000 คน แผนปีต่อไปจะขยายสาขาและจำนวน “ฐานเศรษฐกิจ” จะติดตามข่าวสารมานำเสนออย่างต่อเนื่อง คนไทยก็ต้องเอาใจช่วยไม่เพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูกหลานและประเทศจะได้ผงาดบนเวทีโลกอย่างน่าภูมิใจ
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 626,946