หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  20 ก.พ. 2561
       
เชื่อมั่นอีอีซีดันรายได้ต่อคนเพิ่มเท่าตัว ปั๊ม‘จีดีพี’โต60ล้านล้าน
 
ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. หรือกฎหมายอีอีซี ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้โครงการอีอีซี ซึ่งเป็นความหวังใหม่ของไทยในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เดินหน้าได้อย่างเต็มรูปแบบ

++ดันรายได้ต่อหัวเพิ่มเท่าตัว
โดย นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) ภายใต้กระทรวงการคลังประเมินว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซี จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นจากการเติบโตปกติอีก2%ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศจะเพิ่มแบบก้าวกระโดดจาก 15 ล้านล้านบาทในปี 2560เป็น 30 ล้านล้านบาทในปี 2570 และ 60 ล้านล้านบาทในปี 2580

ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรใน 3 จังหวัด ก็จะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 21,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 672,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศเพิ่มสูงขึ้นจนบรรลุเป้าหมายการหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 320,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2569 เร็วกว่าการเติบโตปกติที่ไม่มีการดำเนินนโยบายถึง 5 ปี โดยในปี 2569 คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ยของประชากร 12,450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 398,400 บาทต่อคนต่อปีจากปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ย 6,600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 211,200 บาทต่อคนต่อปีในปี 2560

++จีดีพีโตจากการลงทุน
ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซี ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว คือ การลงทุนภาครัฐที่มีคุณภาพ จะทำให้ผลิตภาพทุนและแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย11.3%ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะช่วยสนับสนุนการสะสมทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีคุณภาพในระบบเศรษฐกิจ เฉลี่ย 8.9% ต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.1% ต่อปี

นอกจากนี้ การพัฒนาอีอีซี จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เกิน 3% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ดุลการชำระเงินและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงตามการลงทุนทางตรง ส่วนผลทางอ้อมจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.3% ต่อปีในระยะยาว อยู่ในระดับไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลิตภาพแรงงานและทุนขยายตัวเร่งขึ้นตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย

++20 ปีรายได้ 1.2 ล้าน/ครอบครัว
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามเป้าหมายการลงทุนของภาครัฐจะทยอยลงทุนในหลากหลายรูปแบบ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดให้การขาดดุลเงินสดของรัฐบาลแต่ละปีไม่เกิน 3% ของจีดีพี ขณะที่อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในประเทศจะต้องไม่เกิน 60%
   
อีกทั้งการพัฒนาอีอีซียังส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมลํ้ายกระดับรายได้ของประชาชน เนื่องจากแรงงานชั้นกลางจำนวนมากถูกดึงเข้ามาในระบบเพื่อยกระดับการผลิตให้สูงขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้นลดความเหลื่อมลํ้าจากการกระจายรายได้มากขึ้น อัตราการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น 74% ในปี 2580

“จากการประเมินโดยใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค พบว่าแนวทางการพัฒนาอีอีซี จะทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปี จาก 326,545 บาทต่อปีในปี 2560 เป็น 1,263,629 บาทต่อปีในปี 2580 จากผลิตภาพแรงงานและทุนที่สูงขึ้น ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเพิ่มรายได้ของรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ซึ่งรายได้ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้า ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากขึ้น” นายสุวิทย์ระบุ


++การจ้างงานเต็มศักยภาพ
นายสุวิทย์ ชี้ให้เห็นอีกว่า ผลของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในอีอีซี จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ โดยในปี 2580 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า กำลังแรงงานและการจ้างงานอยู่ที่ระดับศักยภาพการผลิตเต็มที่ของประเทศ การสะสมทุนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า มีอัตราการผลิตเฉลี่ยสูงถึง60%ผลจากการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ ทำให้เกิดการสะสมทุนอย่างต่อเนื่องกว่า 9% ต่อปี คาดว่ามูลค่าการสะสมทุนของประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยปี2561-2580 อยู่ที่ประมาณ60%ผลิตภาพแรงงาน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย0.14%ต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.0% ต่อปีในระยะยาว ในขณะที่ผลิตภาพทุนของประเทศเพิ่มขึ้นในระยะยาวเฉลี่ย 1.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.35% ตามเทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่


ทั้งนี้ จากการดำเนินนโยบาย อีอีซีในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนใหม่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมเป้าหมายสนับสนุน 3 อุตสาหกรรม รวม 257,053 ล้านบาท ประกอบด้วย เม็ดเงินลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 247,744 ล้านบาทแบ่งเป็น

10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เม็ดเงินลงทุน 247,744 ล้านบาท

1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 1,045 ล้านบาท
2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์1,681ล้านบาท
3. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 2,991 ล้านบาท
4. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 124,258 ล้านบาท
5. อุตสาหกรรมดิจิตอล 1,676 ล้านบาท
6. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 52,092 ล้านบาท
7. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 34,920 ล้านบาท
8. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ5,166ล้านบาท
9. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 22,239 ล้านบาท 
10. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 1,676 ล้านบาท


อุตสาหกรรมเป้าหมายสนับสนุน 3 อุตสาหกรรม จะมีเงินลงทุนรวมในช่วง 5 ปี 9,309 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา 2,595 ล้านบาท
2.อุตสาหกรรม IHQ และ ITC 1,370 ล้านบาท 
3. อุตสาหกรรมไฟฟ้าจากขยะ 5,344 ล้านบาท
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 618,036